xs
xsm
sm
md
lg

เปิดข้อมูล "วันไตโลก" พบคนไทยป่วย "โรคไต" มากกว่า 1 ล้านคน ต้องล้างไต 7 หมื่นคน แนะวิธีชะลอความเสื่อม ลดภาวะแทรกซ้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดข้อมูล "วันไตโลก" พบคนไทยป่วยโรคไตมากถึง1 ล้านกว่าคน เพิ่มขึ้นจากปี 65 กว่า 8.5 หมื่นคน เป็นผู้ป่วยระยะที่ 4 กว่า 1.22 แสนคน และระยที่ 5 ที่ต้องล้างไตอีก 7 หมื่นคน ย้ำต้องดูแลป้องกันชะลอโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้นหรือน้อยกว่าระยะที่ 4 ลดความเสื่อมไต ลดภาวะแทรกซ้อน ด้าน อย.แนะลดหวาน มัน เค็ม เลือกอาหารที่มีสัญลักษณืทางเลือกเพื่อสุขภาพ

เมื่อวันที่ 14 มี.ค. นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้วันพฤหัสบดีที่สองของเดือนมีนาคมของทุกปีเป็นวันไตโลก (World Kidney Day) ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2567 สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยได้กำหนดประเด็นวันรณรงค์ คือ “Kidney Health for All - Advancing Equitable Access to Care and Optimal Medication Practice : ครอบคลุมทุกสิทธิ์ พิชิตโรคไต ใส่ใจการใช้ยา” มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเข้าถึงการบริการที่เท่าเทียม และการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตและชะลอการเสื่อมของไต โรคไตเรื้อรัง เป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวนมาก

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ (HDC) ในปี 2566 พบผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง 1,062,756 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 มากถึง 85,064 คน จำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 3 จำนวน 464,420 ราย ระยะ 4 จำนวน 122,363 ราย และระยะที่ 5 ที่ต้องล้างไตมากถึง 70,474 ราย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพื่อป้องกันหรือชะลอไม่ให้เกิดโรคไตวายระยะสุดท้าย ด้วยการดูแลรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น หรือน้อยกว่าระยะที่ 4 เพื่อชะลอความเสื่อมของไตให้ได้ผลดี และลดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจและไตวาย


การชะลอความเสื่อมของไตทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดน้ำหนัก งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกาย และหลีกเลี่ยงสารหรือยาที่มีผลเสียต่อไต เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลเพราะผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีการจำกัดอาหารบางชนิดที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสาเหตุและระยะของโรคไตเรื้อรัง กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการขับเคลื่อนการป้องกันโรคไตในชุมชนผ่านกลไกระดับพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนสร้างความตระหนักและป้องกันโรคไตเรื้อรังในชุมชนโดยกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และขับเคลื่อนการดำเนินงานลดบริโภคเกลือและโซเดียม ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ลดการบริโภคโซเดียมในประเทศไทย หรือ SALTS เพื่อสร้างความตระหนักลดการบริโภคเกลือและโซเดียมเกินในประชาชน

นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผอ.กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไตเรื้อรังเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบมากในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ถ้าควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหรือความดันโลหิตไม่ดีก็มีโอกาสเป็นโรคไตได้ ดังนั้น การป้องกันโรคไตเรื้อรังทำได้โดยควบคุมระดับน้ำตาลสะสมในเลือดให้คนปกติและผู้ป่วยเบาหวานทั่วไป น้อยกว่า 6.5% ผู้สูงอายุที่ไม่มีโรคร่วม 7 ถึง 7.5% ผู้สูงอายุที่มีโรคร่วม น้อยกว่า 8% รวมทั้งควบคุมระดับความดันโลหิตให้น้อยกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท ควรพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเน้นรับประทานอาหารเค็มน้อย (เกลือน้อยกว่า 5 กรัมต่อวัน หรือ 1 ช้อนชา) รับประทานยาให้ถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ งดการรับประทานยาชุด ยาแก้ปวด ยาสมุนไพร ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีสิทธิบัตรทองสามารถเลือกวิธีการบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ต้องการเปลี่ยนการล้างไตทางหน้าท้องเป็นการฟอกเลือด หรือผู้ป่วยรายใหม่ที่ต้องการใช้วิธีฟอกเลือด ควรปรึกษาและตัดสินใจร่วมกับแพทย์


ด้าน ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า แนะนำให้ผู้บริโภคหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารอย่างเหมาะสม ลดหวาน มัน เค็ม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรค NCDs (Non-communicable diseases) เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไตวายเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด ที่สำคัญก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร ให้มองหาสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” บนฉลาก ซึ่งเครื่องหมายนี้จะบอกปริมาณสารอาหารของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เช่น น้ำตาล ไขมัน โซเดียม ที่เหมาะสมต่อสุขภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกัน เช่น น้ำปลาทั่วไป 1 ช้อนโต๊ะ จะมีโซเดียม ประมาณ 1,500 มิลลิกรัม แต่น้ำปลามีสัญลักษณ์นี้บนฉลาก 1 ช้อนโต๊ะ จะมีโซเดียมไม่เกิน 900 มิลลิกรัม เป็นต้น

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารที่ผ่านการรับรองฉลากทางเลือกสุขภาพให้ได้เลือกสรรมากถึง 14 กลุ่มอาหาร ได้แก่ อาหารมื้อหลัก เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส ผลิตภัณฑ์นม อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว ไอศกรีม น้ำมันและไขมัน ขนมปัง อาหารเช้าธัญพืช ผลิตภัณฑ์ขนมอบ ผลิตภัณฑ์อาหารว่าง ผลิตภัณฑ์จากปลาและอาหารทะเล และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ รวม 2,967 ผลิตภัณฑ์ สามารถหาซื้อได้จากซูเปอร์มาเก็ต ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าเพื่อสุขภาพ และร้านค้าทั่วไป ทั้งนี้ ก่อนซื้อผู้บริโภคสามารถนำเลขสารบบอาหารเพื่อตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตผ่านทางเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปสช. ได้พัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยโรคไต โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) การล้างทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) การบำบัดทดแทนไตด้วยเครื่องไตเทียม (HD) และการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายไต (KT) นอกจากนี้ยังพัฒนาระบบสนับสนุนต่างๆ เช่น การเพิ่มจำนวนหน่วยไตเทียม การจัดระบบให้ผู้ป่วยรับการผ่าตัดเตรียมเส้นเลือดสำหรับฟอกไตได้อย่างรวดเร็ว ระบบการจัดส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้านผู้ป่วยแม้อยู่ในสถานการณ์ภัยพิบัติ และนโยบายที่คำนึงถึงผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง โดยเปิดโอกาสให้ตัดสินใจเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตด้วยตัวเองเพื่อให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของผู้ป่วยมากที่สุด ฯลฯ

ปัจจุบัน มีผู้ป่วยโรคไตสิทธิบัตรทองที่ได้ใช้สิทธิรับการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีต่างๆ รวมกว่า 78,000 คน แบ่งเป็น การบำบัดล้างไตทางช่องท้อง 13,710 คน การบำบัดแทนแทนไตด้วยเครื่องไตเทียม 58,834 การล้างทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ 3,357 คน และมีผู้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไตอีก 2,694 คน โดยผู้ป่วยส่วนมากอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 61-75 ปี รองลงมาคืออายุระหว่าง 46-60 ปี และ 30-45 ปีตามลำดับ


นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับทิศทางการดำเนินงานดูแลผู้ป่วยโรคไตจากนี้ สปสช. ให้ความสำคัญตั้งแต่ขั้นตอนของการป้องกันและชะลอการเกิดผู้ป่วยไตรายใหม่ เช่น การควบคุมอาการของผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพื่อไม่ให้ลุกลามจนกลายเป็นโรคไต การใช้ยาอย่างสมเหตุผลเท่าที่จำเป็น การตรวจคัดกรองประเมินภาวะไตอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการสร้างความตระหนักรู้ถึงความร้ายแรงของโรคไตและการปฏิบัติตัวลดความเสี่ยงในการเกิดโรค ขณะที่ในส่วนของผู้ที่รับการรักษาจะเน้นการกำกับดูแลควบคุมมาตรฐานการบริการเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้อย่างเพียงพอ ลดการติดเชื้อ และลดอัตราการเสียชีวิต การประสานภาคีเครือข่ายหากลไกในการเพิ่มจำนวนผู้บริจาคไต และยังคงให้ความสำคัญกับกระบวนการ Share Decision Making เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติตัดสินใจเลือกแนวทางบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสม

"เนื่องในโอกาสวันไตโลก ประจำปี 2567 ขอเชิญชวนให้คนไทยทุกคน ให้ความสนใจและปรับพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคไต โรคนี้นอกจากจะสร้างความเจ็บป่วยต่อร่างกายแล้ว ยังเป็นโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูง ในอดีตหลายครอบครัวต้องล้มละลายเพราะการรักษาโรคไตมาแล้ว แม้ในปัจจุบันจะมีระบบบัตรทองช่วยดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย ทำให้ครัวเรือนไม่ต้องล้มละลายจากโรคนี้อีก แต่ก็ยังกระทบกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวทั้งด้านการใช้ชีวิตและด้านจิตใจ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคืออย่าป่วย วันไตโลก เป็นสัญลักษณ์ที่คนไทยทุกคนจะได้สร้างความตระหนักรู้และรณรงค์ลดความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคไตร่วมกัน" เลขาธิการ สปสช. กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น