อึ้ง เด็กไทย 54% เข้าถึงสื่อลามก ไร้บทลงโทษผู้กระทำผิด กรรมาธิการสังคมฯ - สสส. - มูลนิธิอินเทอร์เน็ต – ภาคี สานพลัง ปลุกกระแสสังคม ร่วมผลักดันร่าง พ.ร.บ. ลดปัญหาทารุณกรรม ละเมิดทางเพศ เน้นคุ้มครองเด็กให้ปลอดภัยบนโลกออนไลน์ สร้างระบบนิเวศสื่อเพื่อสุขภาวะที่ดี
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส กล่าวในงานเสวนา “ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องความผิดเกี่ยวกับเพศและเสรีภาพ กับการคุ้มครองเด็กบนโลกออนไลน์ จำเป็นอย่างไร ในยุคดิจิทัล” ว่า คณะทำงานเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อ ภายใต้ กรรมาธิการชุดนี้ มีการทำงานอย่างเข้มข้น ที่ผ่านมาได้นำประเด็นสำคัญเข้าสู่การประชุมพิจารณาของวุฒิสภาและเป็นมติคณะรัฐมนตรีไปแล้ว 4 เรื่อง ได้แก่ การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อ การเพิ่มพื้นที่สื่อดีสำหรับเด็ก การจัดการปัญหาการพนันและการพนันออนไลน์ และเรื่องที่ 4 นี้คือการผลักดันกฎหมายคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์รูปแบบใหม่ โดยมีการจัดทำรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อผลักดันกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์ เข้าสู่การประชุมพิจารณาของวุฒิสภา ครั้งที่ 24 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เมื่อวันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 และเป็นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 เวทีเสวนาในวันนี้เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะติดตามประเด็นขับเคลื่อนในระดับนโยบาย รวมถึงการให้ความรู้สร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องความสำคัญจำเป็นของการมีกฎหมายที่เท่าทันกับสถานการณ์โลกยุคดิจิทัล โดยขอเชิญชวนประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ได้ที่เว็บไซต์ https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=348
ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และคณะทำงานเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเด็กผ่านสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะประเด็นการส่งข้อความพูดคุยเรื่องทางเพศที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก (Sexting) ที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และนำไปสู่ปัญหาแม่วัยใสเพิ่มขึ้น หรือการเจตนาล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก สร้างโอกาสและความไว้ใจให้เด็กตกเป็นเหยื่อในการล่วงละเมิดทางเพศ (Grooming) และการข่มขู่นำความลับเรื่องทางเพศออกเปิดเผยถ้าไม่ยอมให้ล่วงละเมิดทางเพศ (Sextortion) ขณะเดียวกัน ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้กระทำล่วงละเมิด หรือล่อล่วงเด็กทางออนไลน์ ได้เปลี่ยนจากการดาวน์โหลดหรือเก็บข้อมูลไว้ในโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ไปสู่การเป็นสมาชิกผู้เข้าชมภาพลามกอนาจารเด็ก (Accessing to CSAM) แทน ดังนั้น การผลักดันการปรับปรุงและแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาจึงเป็นเรื่องจำเป็นในการคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้ปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ซึ่งมีตัวอย่างคือ เยอรมัน มีบทลงโทษคนทำผิดทางอาญาเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเข้มข้น
นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ปี 2565 โดยมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และศูนย์ประสานงานส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในการใช้สื่อออนไลน์ (COPAT) พบมีเด็ก 54% เข้าถึงสื่อลามกอนาจาร ในจำนวนนี้ 60% เป็นสื่อลามกอนาจารเด็ก เด็ก 36% พูดคุยกับเพื่อนออนไลน์ในทางชู้สาว ซึ่งอาจนำไปสู่การล่อลวงเด็กเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ (child grooming) เด็ก 18% นัดพบเพื่อนออนไลน์ ในจำนวนนี้มีถึง 5% นัดพบกว่า 10 ครั้งในระยะเวลา 1 ปี ที่น่าห่วง เด็กบางส่วนเก็บสื่อลามกอนาจารเด็กเอาไว้ ส่งต่อ หรือแชร์กับเพื่อนออนไลน์ ถือเป็นความเสี่ยงที่เด็กอาจถูกทารุณกรรม ละเมิด หรือแสวงหาประโยชน์ทางเพศ
“สสส. มุ่งสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีระบบนิเวศสื่อเพื่อสุขภาวะ โดยสนับสนุนด้านการจัดการความรู้ สานพลังภาคีเครือข่าย พัฒนากลไกเฝ้าระวังสื่อภาคประชาชน และการพัฒนานโยบายที่ทันต่อภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการสานพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. ทั้งการสังเคราะห์เนื้อหาของร่างกฎหมายให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย การถอดกรณีศึกษาเพื่อเทียบเคียงกับมาตราต่างๆ การพัฒนาชุดข้อมูลสำคัญ การจัดเวทีสาธารณะเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม หรือการพัฒนาสื่อเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของกฎหมาย มุ่งช่วยปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการอยู่ในโลกออนไลน์อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย” นางญาณี กล่าว
น.ส.วาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก และประธานเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย กล่าวว่า ไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ เข้าสู่ปีที่ 32 แต่ยังไม่มีกฎหมายที่ออกมาคุ้มครองเด็กทางออนไลน์ที่เข้มข้น ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในครั้งนี้ เป็นปรับแก้เพื่อให้เท่าทันต่อสถานการณ์ในยุคดิจิทัล และเพิ่มบทลงโทษกับผู้กระทำความผิด นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างจิตสำนึกให้คนในสังคมรับรู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่คนในสังคมไม่ยอมรับ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเครือข่ายสิทธิเด็ก ได้ดำเนินงานจัดอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรบ้านพักเด็กและครอบครัว กรมกิจการเด็กและเยาวชน ให้รู้เท่าทันการละเมิดรูปแบบใหม่ๆ บนโลกออนไลน์ เนื่องจากเป็นบุคลากรหน้าด่านที่ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายเบื้องต้น และมุ่งดำเนินงานสื่อสารสร้างความเข้าใจ ป้องกันปัญหาในกลุ่มเสี่ยง ทั้งกลุ่มคนที่มีโอกาสถูกกระทำ และกลุ่มคนที่มีโอกาสกระทำความผิด ช่วยให้เกิดการรู้เท่าทัน ป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นผู้เสียหาย หรือกระทำผิดซ้ำ