หมอรามาฯ ชี้กรมควบคุมโรคยอมถอยให้ธุรกิจยาสูบ ปรับร่างกฎกระทรวงอนุญาตใส่ "เมนทอล" ในบุหรี่ ไร้ประโยชน์ ไม่ใช่ช่วยควบคุมยาสูบ เหตุทำเด็กสูบง่าย ทั้งที่หลายประเทศแบนแล้ว พบช่วยลดเด็กสูบ-เลิกสูบมากขึ้น ซ้ำส่วนประกอบยาสูบเปิดเผยแค่ สธ. ไม่เผยแพร่สู่สาธารณะ ทำคนไม่รู้มีสารพิษใดบ้าง
จากกรณีกรมควบคุมโรคยอมผ่อนร่างกฎกระทรวงกำหนดส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งและการออกใบรับรองและอัตราค่าธรรมเนียม พ.ศ. ... จากเดิมที่ห้ามเติมสารปรุงแต่งกลิ่นรส สารชูกำลัง ทั้งหมด ให้สามารถเติมเมนทอล ชะเอม น้ำตาล กากน้ำตาล น้ำผึ้ง ได้
เมื่อวันที่ 13 มี.ค. รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การเติมเมนทอลและสารเหล่านี้ลงไปในยาสูบ มีผลวิจัยออกมาจำนวนมากว่า ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงการสูบมากขึ้นและง่ายขึ้น ซึ่งหลายประเทศในโลก เช่น ยุโรป แคนาดา มีการแบนการเติมเมนทอลแล้ว ประเทศไทยก็พยายามจะแบนการเติมสารเหล่านี้ มีการเดินหน้ามากันเป็น 10 ปี แต่ถูกกลุ่มธุรกิจยาสูบและชาวไร่ยาสูบที่เชื่อมโยงกับธุรกิจยาสูบคัดค้านมาตลอด ทำให้ยังไม่สามารถออกร่างกฎกระทรวงนี้ได้ กรมควบคุมโรคเลยพยายามเจรจา ซึ่งเท่าที่มองก็คงยอมผ่อนปรนเพื่อให้กฎหมายตัวนี้ผ่านไปก่อน เนื่องจากมีเรื่องของกรอบระยะเวลาที่หากไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายตัวนี้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดก็จะถูกตีตกไปเลย
ถามว่าเช่นนี้เหมือนเป็นการยอมให้ธุรกิจล็อบบี้ และจะมีผลต่อการควบคุมยาสูบที่ทำๆ มาหรือไม่ รศ.พญ.เริงฤดีกล่าวว่า ก็เข้าใจว่ากรมควบคุมโรคมีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎกระทรวงนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อไม่ให้ถูกตีตกไป แต่ส่วนตัวมองว่าถ้ายอมแบบนี้ไม่มีหรือไม่ออกเลยจะดีกว่า เพราะทุกวันนี้ก็เปิดให้ใส่เมนทอลอยู่แล้ว ซึ่งบุหรี่ที่มีการใส่เมนทอลในตลาดก็มีสัดส่วนถึง 50% ซึ่งความเย็นจากเมนทอลช่วยให้สูบง่ายขึ้น ซึ่งการยอมไม่แบนเมนทอลก็มีผลต่อการควบคุมยาสูบ เพราะมีงานวิจัยมากมายว่า การแบนเมนทอลมีผลให้การสูบในเด็กลดลง และอัตราการเลิกสูบเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การที่ไม่แบนก็ทำให้เชิญชวนให้เด็กและเยาวชนหันมาสูบมากขึ้น เพราะมันสูบง่าย
รศ.พญ.เริงฤดีกล่าวอีกว่า นอกจากเรื่องของการเติมเมนทอลในยาสูบแล้ว ในร่างกฎกระทรวงยังพูดถึงเรื่องของการเปิดเผยส่วนประกอบของยาสูบด้วยว่าใส่อะไรบ้าง เป็นอีกเรื่องที่ธุรกิจยาสูบคัดค้านอย่างมากควบคู่มากับเรื่องของการคัดค้านเวลาขึ้นภาษียาสูบ ซึ่งร่างกฎกระทรวงที่ให้เปิดเผยส่วนประกอบต่อกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แต่ไม่ได้เปิดเผยต่อสู่สาธารณะตรงนีมองว่าไม่มีประโยชน์ เพราะข้อดีของการเปิดส่วนประกอบต่อสาธารณะ คือ จะทำให้ประชาชนรู้ว่าในยาสูบหรือบุหรี่มีการใส่สารอะไร ชนิดใด ปริมาณเท่าไร ของในแต่ละยี่ห้อ ซึ่งบางชนิดเราอาจรู้จักหรือไม่รู้จัก แล้วมีหลายชนิดผสมกันจะเกิดเป็นสารใหม่อะไร มีอันตรายมากน้อยแค่ไหน
ถามต่อว่ากังวลหรือไม่ที่มีการยอมให้เติมสารเหล่านี้ และอาจมีผลไปถึงบุหรี่ไฟฟ้าที่ปัจจุบันมีความพยายามขับเคลื่อนให้ผ่านกฎหมาย รศ.พญ.เริงฤดีกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ทุกคนในทีมควบคุมยาสูบกังวลกันมาก เพราะสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าค่อนข้างวิกฤต แม้แต่เด็ก ป.1 ก็เริ่มสูบแล้ว ที่สำคัญคือบุหรี่ไฟฟ้ามีการเติมสารปรุงแต่งกลิ่นรสต่างๆ ให้สูบง่าย ซึ่งเด็กและเยาวชน 90% สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีกลิ่นรสหมด จึงต้องเรียกร้องให้รัฐบาลยังคงกฎหมายห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าเอาไว้