"เอไซฯ" คาด 25 ปี ผู้ป่วย "อัลไซเมอร์" ในไทยพุ่งเกือบ 3 เท่า เป็น 2 ล้านคน จากสังคมสูงวัย เผยอาการ 4 ระยะของสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ เสนอปฏิรูปการดูแลรักษาผู้ป่วย เน้นสร้างความตระหนักรู้ สร้างระบบนิเวศและเข้าถึงการดูแลรักษา ตรวจจับอาการตั้งแต่ภาวะปริชานบกพร่อง ขยายสิทธิดูแลรักษาที่ไหนก็ได้ ครอบคลุมตลอดเส้นทางการป่วย
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท เอไซ (ประเทศไทย) มาร์เก็ตติ้ง จัดงาน "RISE AD Thailand Forum” ณ โรงแรม Eastin Grand Phayathai กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ โดย นายคานาซาว่า โชเฮ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเอไซฯ ประจำภูมิภาคเอเชียและลาตินอเมริกา เปิดเผยว่า จากประชากรผู้สูงวัยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่า จำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 7 แสนคน เป็น 2 ล้านคนภายในปี 2593 การป้องกันความรุนแรงของโรคที่เพิ่มขึ้น (Disease progression) ต้องคำนึงถึงวิธีการวินิจฉัยที่ทันสมัยและการรักษารูปแบบใหม่ ซึ่งเอไซฯ พร้อมนำความรู้ความเชี่ยวชาญ รวมถึงการทำงานร่วมกับพันธมิตร ขับเคลื่อนความตระหนักรู้เกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม และเพิ่มการเข้าถึงการวินิจฉัย การรักษาผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม โดยมุ่งเน้น 2 ประเด็น คือ
1.ความสําคัญของการเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับภาวะการรู้คิดบกพร่อง หรือ ปริชานบกพร่อง (mild cognitive impairment: MCI) ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ และ 2.การเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการดูแลที่ครอบคลุมสําหรับผู้ป่วยภาวะปริชานบกพร่อง ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ ผ่านการพัฒนาระบบนิเวศ
ภก.ณัฐพันธ์ นิมมานพัชรินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอไซ (ประเทศไทย) มาร์เก็ตติ้ง จํากัด กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์และครอบครัวกำลังเผชิญกับความท้าท้ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการสร้างความตระหนักรู้ที่ยังไม่เพียงพอ ภาระมากมายที่ผู้ป่วยและผู้ดูแลที่ต้องเผชิญ และความต้องการการดูแลที่เข้าถึงได้ง่ายและมีคุณภาพ ดังนั้น สิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อโรคสมองเสื่อมและผู้สูงวัยในประเทศไทยถือเป็นก้าวสําคัญในการจัดการกับข้อกังวลเร่งด่วนเหล่านี้ ด้วยการสนับสนุนจากสังคม นักลงทุนภาคเอกชน และสถาบันต่างๆ เพื่อสร้างเส้นทางตลอดชีวิตของผู้ป่วยให้มีสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและครอบคลุมได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ภายในงานดังกล่าวยังมีการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกจากเอกสารปกขาว (Whitepaper) ในหัวข้อ “Navigating Challenges, Embracing Horizon of Alzheimer's Disease” การเพิ่มขึ้นของโรคอัลไซเมอร์ในประเทศไทย โอกาสของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐและเอกชนในการสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่ง สําหรับภาวะปริชานบกพรอง (MCI) ภาวะสมองเสื่อม และโรคอัลไซเมอร์ในประเทศไทย ระบุว่า ภาวะสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคเรื้อรังและยังไม่มียารักษา แบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้
1.ความบกพร่องทางสติปัญญาเล็กน้อยหรือภาวะปริชานบกพร่อง อายุโดยทั่วไปอยู่ที่ 50-60 ปี ยังสามารถทำงานได้อย่างอิสระ ไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น อาจรู้สึกมีความจเสื่อมบ้าง เช่น ลืมคำศัพท์หรือสถานที่คุ้นเคย อาการทั่วไป มีปัญหาในการหาคำที่เหมาะสมหรือชื่อ การสูญเสียหรือวางวัตถุที่มีคุณค่าผิดที่ ลืมการสนทนาล่าสุด ลืมเหตุการณ์สำคัญ
2.โรคอัลไซเมอร์ระยะต้น อายุช่วง 60-70 ปี เป็นช่วงระยะที่ยาวที่สุด กินเวลาหลายปี ภาวะสมองเสื่อมจะเด่นชัดมากขึ้น ยากที่จะแสดงความคืดเห็นและทำงานประจำโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือ เริ่มลืมหรือไม่สามารถนึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ หรือข้อมูลส่วนบุคคล มีแนวโน้มเดินออกนอกเส้นทางและหายตัวไป และมีปัญหาในการควบคุมกะเพราะปัสสาวะและลำไส้
3.โรคอัลไซเมอร์ระยะปานกลาง และ 4.โรคอัลไซเมอร์ระยะรุนแรง โดยทั้ง 2 ระยะนี้ ทักพบในช่วงอายุ 70 ปีขึ้นไป จะสูญเสียความสามารถในการตอบสนองเพื่อสนทนาและควบคุมการเคลื่อนไหวได้ในที่สุด อาจยังคงคำพูดหรือวลี แต่ปัญหาการสื่อสารเริ่มกลายเป็นเรื่องยาก ความสามารถทางกายภาพเปลี่ยนไป ทั้งการเดิน นั่ง และกลืน มีความยากลำบาในการสื่อสาร
การรักษาปัจจุบันมียากลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการยับยั้งแอซิติลโคลีนเอสเตอเรส ที่ช่วยลดอาการของโรคอัลไซเมอร์ เฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการระยะเริ่มต้นถึงปานกลางเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงผ่านหลักประกันสุขภาพฯ นอกจากนี้ การรักษาจะอยูในรูปแบบการไม่ใช้ยา เช่น การฝึกสมอง การออกกําลังกาย การรับประทานอาหารที่เหมาะสม และดนตรีบําบัด
ส่วนข้อเสนอแนะในการปฏิรูปการดูแลภาวะปริชานบกพร่อง ภาวะสมองเสื่อม และโรคอัลไซเมอร์ในประเทศ คือ 1.สร้างความตระหนะกรู้เกี่ยวกับภาวะและโรคดังกล่าว โดยรัฐบาลจำเป็นต้องมีนโยบายใหม่ที่ครอบคลุมภาวะปริชานบกพร่องที่คล้ายคลึงกับนโยบายด้านภาวะสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ นำเครื่องมือดิจิทัลและออนไลน์มาสนับสนุน ดำเนินนโยบายภาวะสมองเสื่อมไปรับบริการที่ไหนก็ได้ และโครงการตรวจสุขภาพสมองเป็นระยะๆ เพื่อตรวจจับอาการปริชานบกพร่อง สมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ระยะเริ่มต้น
2.ปรับปรุงการเข้าถึงการดูแลผู้ป่วยด้วยการพัฒนาระบบนิเวศ โดยสนับสนุนด้านการดูแลสำหรับผู้ป่วยและครอบครัวท่ครอบคลุมทั่วถึงและเหมาะสม เพิ่มความครอบคลุมด้านสิทธิประโยชน์ตลอดเส้นทางของผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมในระยะท้ายของภาวะสมองเสื่อมเท่านั้น แก้ไขปัญหาทางการเงินเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะต้นทุนทางอ้อมที่เพิ่มขึ้นเป้น 2 เท่าระหว่างการรักษาในระยะขั้นรุนแรง สร้างระบบนิเวศที่เป็นมิตรกับผู้ป่วยและเตรียมพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงอายุ เตรียมพร้อมการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรักษาแบบใหม่ เป็นต้น