รพ.สวนปรุง เปิดบริการจิตเวชยุคใหม่ ดูแลที่บ้าน ไม่ต้องนอน รพ. ในกลุ่มโรคจิตเภท ไบโพลาร์ ซึมเศร้า ติดสุรา และสารเสพติด รองรับยกระดับ 30 บาท เพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน ส่งเสริมครอบครัวมีส่วนร่วมดูแล
นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผอ.รพ.สวนปรุง จ.เชียงใหม่ และผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้พัฒนางานสุขภาพจิตตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการแบบใกล้บ้านใกล้ใจ ดูแลตั้งแต่ส่งเสริม ป้องกัน ควบคุม รักษาและฟื้นฟู พร้อมขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาท เพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชนเพิ่มความครอบคลุมการดูแลสุขภาพที่บ้านและชุมชน โดย รพ.สวนปรุงเป็นหน่วยบริการแรกใน สธ. ที่เปิดการบริการผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดที่บ้าน หรือ Psychiatric Home Ward (PHW) เป็นการบริการจิตเวชยุคใหม่ ผู้ป่วยไม่ต้องนอน รพ. ให้บริการในกลุ่มผู้ป่วยที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา ในผู้ป่วยโรคจิตเภท โรคไบโพลาร์ โรคซึมเศร้า โรคติดสุราและสารเสพติด บำบัดรักษาผ่านระบบ Tele psychiatry และเป็น Virtual Psychiatry โดยมีทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วย จิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เภสัชกร และนักกิจกรรมบำบัด
"เราให้บริการอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การคัดกรองผู้ป่วยเข้ารับบริการ ประสานการนัดหมาย การตรวจสอบสิทธิ ชี้แจงการรับบริการผ่าน Tele psychiatry การยืนยันตัวตน พบจิตแพทย์ออนไลน์ และการรับยาทางไปรษณีย์ โดยเปิดให้บริการผู้ป่วยในเขตบริการสุขภาพที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. 2566 ปัจจุบันมีผู้รับบริการสะสม จำนวน 105 ราย" นพ.กิตต์กวีกล่าว
นพ.กิตต์กวีกล่าวว่า การบริการดังกล่าวได้ส่งเสริมให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ผู้ป่วยได้รับยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดยา ผู้ป่วยได้รับการบำบัดและคำแนะนำอย่างเข้าใจจากบุคลากร ผู้ป่วยอาการดีขึ้นอยู่ในชุมชนได้อย่างมีความสุข โดยมีเสียงสะท้อนจากผู้รับบริการกล่าวชื่นชม “รู้สึกดีที่ได้รับกำลังใจ เอาใจใส่ถึงที่บ้าน” “แม่รู้สึกดีใจปลื้มใจมากที่ได้รับการติดตามจากพยาบาล ได้รับคำแนะนำให้คำปรึกษาช่วยให้ลูกสาวอาการดีขึ้น” “พึงพอใจที่ลูกอาการดีขึ้นช่วยงานที่บ้านได้” ทั้งนี้ การบริการดูแลรักษาฟื้นฟูสุขภาพจิตและจิตเวชให้ประชาชนในทุกพื้นที่ได้รับบริการอย่างทั่วถึงเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล และ รมว.สธ.ที่จะยกระดับการดูแลสุขภาพของประชาชนในระบบบริการให้ครอบคลุมทุกมิติและลดการก่อเหตุรุนแรงในครอบครัวและชุมชน