xs
xsm
sm
md
lg

"ไข้เลือดออก" สุดดุ ป่วยตายสูง "ชลน่าน" หนุนใช้ "ยาทากันยุง" ลดป่วยได้ 7 หมื่นคน ประหยัดค่ารักษา 219 ล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เตือนปีนี้ "ไข้เลือดออก" สุดดุ ป่วยเพิ่มกว่าปีก่อน 2.1 เท่า ดับแล้ว 25 ราย มักเป็น "ผู้ใหญ่" อัตราป่วยตายสูงกว่าไข้หวัดใหญ่-โควิด "ชลน่าน" หนุนใช้ "ยาทากันยุง" ผู้ป่วยไข้เลือดออก-ครอบครัว ช่วยลดผู้ป่วยลง 7-8 หมื่นราย กรมควบคุมโรคแจงซื้อยาทากันยุง ช่วยประหยัดค่ารักษากว่า 219 ล้านบาท ยังไม่มีแจกฟรีคนทั่วไป เผยอาการที่ควรรีบมา รพ.ทันที ช่วยรักษาทัน

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้รับทราบสถานการณ์โรคที่สำคัญ คือ โรคไข้เลือดออก ซึ่งในปี 2567 มีผู้ป่วยสะสม 17,783 ราย มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ถึง 2.1 เท่า มีผู้เสียชีวิต 25 ราย จาก 16 จังหวัด โดยได้มอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. กำกับ อสม. ทำการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์ พร้อมทั้งรายงานตามระบบอย่างเข้มข้น โดยเน้นโรงเรียน โรงพยาบาล วัด/ มัสยิด/โบสถ์ โรงแรม สถานที่ราชการ โรงงาน และจ่ายยาทาหรือสเปรย์พ่นกันยุงแก่ผู้ป่วย ซึ่งหากเราดำเนินการเรื่องยาทากันยุงคาดว่าจะสามารถลดผู้ป่วยลงได้ประมาณ 7-8 หมื่นราย ทำให้จากที่คาดการณ์ว่าหากไม่ทำอะไรเลยจะมีผู้ป่วยประมาณ 2.7 แสนราย จะเหลือประมาณ 2 แสนราย


"หากมีผู้ป่วยไข้เลือดออกเกิดขึ้น จึงออกข้อกำหนดว่าแพทย์ต้องจ่ายยาทากันยุงให้กับคนไข้ทุกคนที่กลับบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ไปแพร่เชื้อไวรัสในพื้นที่ถ้ากรณีมียุงมากัด ให้ไปทายากันยุงติดต่อกัน 5 วัน และทาผู้ที่ใกล้ชิดสัมผัสด้วย ทาทั้ง 2 ฝ่ายจะป้องกันได้ ลดอัตราการแพร่ระบาดได้เยอะมาก แต่ที่สำคัญคือกาป้องกันไม่ให้มีลูกน้ำยุงลาย คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการเป็นประธาน ต้องลงไปดู วัดอัตราการเกิดลูกน้ำยุงลาย อย่างสถานศึกษาต้องเป็นศูนย์" นพ.ชลน่านกล่าว

ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ไข้เลือดออกยังระบาดอย่างต่อเนื่อง เดิมข้อมูลผู้ป่วยปี 2567 มากกว่าปี 2566 ณ ช่วงเวลาเดียวกันของเดือนมกราคมอยู่ที่ 1.9 เท่า ล่าสุดตอนนี้เพิ่มเป็น 2.1 - 2.2 เท่าแล้ว พบผู้เสียชีวิต 25 ราย อัตราการป่วยและเสียชีวิตอยู่ที่ 0.14 ต่อ 100 คน ซึ่งสูงกว่าโรคไข้หวัดใหญ่และโควิด โดยไข้หวัดใหญ่อัตราป่วยและเสียชีวิตไม่เกิน 0.01-0.02 ต่อ 100 คน ขณะที่โควิดก็น้อยกว่าเช่นกัน อย่างสัปดาห์ที่ผ่านมาพบ 2 คน ประกอบกับแนวโน้มผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจและปอดบวมจากโควิดก็ลดลงเรื่อยๆ

นพ.ธงชัย กล่าวว่า ปัจจุบันน่าห่วงสุด คือ โรคไข้เลือดออก จึงต้องออกมารณรงค์มาตรการต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการเสริมอย่างการทากันยุง ต้องย้ำว่า ข้อมูลขณะนี้พบคนไข้ที่รักษาแบบผู้ป่วยนอก เมื่ออยู่ที่บ้าน ไม่ได้ทายากันยุง เมื่อยุงมากัดก็นำเชื้อที่ยังมีอยู่ไปแพร่เชื้อต่อคนอื่น กลุ่มนี้มีอาการที่เรียกว่า เรียกว่า DF หรือ Dengue fever คือ มีเชื้อไวรัสอยู่ แต่อาการไม่รุนแรง มีไข้ปกติ เมื่อยุงมากัด จึงนำโรคแพร่เชื้อคนอื่นด้วย ดังนั้น ในคนที่ติดเชื้อหรือผู้ป่วยที่มารักษา หากสามารถทากันยุงได้ 20% และคนใกล้เคียงในบ้านเดียวกันที่ไม่ติดเชื้อ แต่ทายากันยุงด้วยอีก 10% จะช่วยลดผู้ป่วยไข้เลือดออกถึง 27% หรือจะเหลือคนป่วย 200,991 ราย จากทุกวันนี้มีผู้ป่วย 276,945 ราย โดยงบประมาณจัดซื้อยากันยุงจะอยู่ที่ 74.8 ล้านบาท ประหยัดค่ารักษาได้ทั้งปี 219.09 ล้านบาท


ถามว่าประชาชนต้องการยาทากันยุง สามารถไปรับที่หน่วยบริการใกล้บ้านหรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า เราต้องการให้ยาทากันยุง แก่ผู้ป่วยไข้เลือดออกที่อาการไม่รุนแรงและต้องกลับไปรักษาตัวที่บ้าน เรียกว่าเจตนาต้องการให้ผู้ป่วย ถือเป็นเวชภัณฑ์ในการป้องกันโรคแก่ผู้ป่วยหรือคนในครอบครัวเดียวกัน ไม่ได้แจกแก่คนทั่วไป

เมื่อถามว่าอุบัติการณ์ของผู้ป่วยไข้เลือดออกพบในกลุ่มอายุเท่าไรมากกว่ากัน นพ.ธงชัย กล่าวว่า หากมา รพ. จะพบในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี แต่เสียชีวิตมักเป็นผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม โรคไข้เลือดออก 80% ไม่ได้มา รพ. โดยเฉพาะผู้ใหญ่ เนื่องจากเมื่อมีไข้จะไปซื้อยาลดไข้มากินเอง จุดนี้เสี่ยงตรงที่ไปซื้อยาลดไข้แก้ปวดในกลุ่มเอ็นเสด เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค แอสไพริน รวมถึงยาชุด จะมีผลทำให้เลือดออกมากในทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ขณะที่เด็กเมื่อเป็นไข้ พ่อแม่จะพามา รพ. ดังนั้น เคสใน รพ. จะพบเด็กเยอะ อย่างข้อมูลผู้ป่วยกว่า 2.7 แสนรายคือ มารักษาที่รพ.ใน สธ. เป็นเด็ก 2 ใน 3

ถามว่าผู้ใหญ่ที่เสียชีวิตจากไข้เลือดออก พบว่ามาจากการป่วยครั้งที่สองหรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า ส่วนใหญ่การติดไข้เลือดออก ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่หากป่วยครั้งที่สอง การเสียชีวิตจะสูงกว่าครั้งแรก แต่การติดของผู้ใหญ่ก็จะไม่คิดว่าเป็นไข้เลือดออก คิดว่าป่วยเป็นไข้เท่านั้น การมา รพ.อาจไม่ทัน แต่เด็ก ทางพ่อแม่จะพามา รพ.เร็วกว่า

ส่วนอาการที่ต้องมา รพ.ทันที นพ.ธงชัย กล่าวว่า หากมีไข้สูงลอย ตาแดง อาจมีจ้ำเลือด คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง โดยเฉพาะกดบริเวณท้องด้านขวา ใต้ชายโครง หากกดแล้วเจ็บ หรือง่ายๆ คือ ไข้สูงลอย ทานข้าวไม่ได้ คลื่นไส้ อาเจียน กดเจ็บตามชายโครงขวา มารพ.ทันที เพราะไข้เลือดออกตับจะโต กดจะเจ็บ ซึ่งอาการรุนแรงจะมีลักษณะแบบนี้ หากรีบมาจะรักษาทันได้ ซึ่งอาการเหล่านี้ประมาณ 2-3 วันก็พบได้แล้ว ส่วนใหญ่เสียชีวิตเพราะไปถึงขั้นช็อกแล้ว และไปกินยากลุ่มต้องห้ามอย่างเอ็นเสด ทำให้เกร็ดเลือดไม่แข็งตัว มีเลือดออกตามอวัยวะภายใน เกร็ดเลือดแตกได้


กำลังโหลดความคิดเห็น