xs
xsm
sm
md
lg

ทำความเข้าใจ “โรคจิตเภท” สาเหตุและการรักษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย...พญ.ณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์โรงพยาบาลBMHH- Bangkok Mental Health Hospital


โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นโรคจิตเวชที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยจะมีอาการ หูแว่ว ประสาทหลอน พฤติกรรมผิดปกติ ก้าวร้าว ซึ่งถ้าหากไม่รีบมารักษาอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และการอยู่ร่วมกันในสังคม

โรคจิตเภทเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ส่งผลให้มีความคิดและการรับรู้ที่ผิดปกติไปจากเดิม ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ โดยผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมที่แปลกไปจากคนทั่วไป เช่น หลงเชื่อว่าจะมีคนมาทำร้าย หรือเห็นภาพหลอน


สาเหตุการเกิดโรคจิตเภท


• พันธุกรรม โดยเฉพาะครอบครัวที่มีสมาชิกป่วยเป็นโรคจิตเภท ก็จะมีแนวโน้มเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนปกติทั่วไป เนื่องจากความผิดปกติบางอย่างอาจถ่ายทอดทางพันธุกรรม


• ความผิดปกติของสมอง เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติทั้งความคิด การรับรู้ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง มีอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากคนทั่วไป


• ภาวะทางด้านจิตใจ ผู้ที่มีภาวะความเครียดในชีวิตประจำวัน เช่น ความสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่ดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีการใช้อารมณ์รุนแรง ตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์ จู้จี้ บงการ ส่งผลต่อการดำเนินโรค กระตุ้นให้โรคกำเริบ หรือควบคุมอาการได้ยาก

3 กลุ่มอาการโรคจิตเภท



1.กลุ่มอาการทางความคิด


• ความคิดหลงผิด (Delusion) ความเชื่อที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงและไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยเหตุผล เช่น ความคิดหลงผิดว่ามีคนปองร้ายหรือพยายามทำร้าย, ความคิดหลงผิดว่าตนเองมีอำนาจพิเศษหรือมีความสำคัญ, ความคิดหลงผิดว่าตนเองถูกควบคุมหรือถูกติดตามโดยผู้อื่น


• ความคิดฟุ้งซ่าน (Ideas of reference) ความคิดที่ว่าสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวมีความหมายแฝงที่เกี่ยวข้องกับตนเอง เช่น ผู้ป่วยอาจเชื่อว่าการที่ไฟดับหมายถึงตนเองกำลังถูกลงโทษ


• ความคิดไร้เหตุผล (IlIogical thinking) ความคิดที่ไม่สอดคล้องกันหรือขาดเหตุผล เช่น ผู้ป่วยอาจเชื่อว่าตนเองสามารถควบคุมสภาพอากาศได้ด้วยความคิด


2.กลุ่มอาการทางประสาทสัมผัส


• ประสาทหลอน (Hallucination) การรับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่ไม่มีอยู่จริง ประสาทหลอนมีหลายชนิด เช่น


• หูแว่ว (Auditory hallucination) ได้ยินเสียงที่ไม่ได้มาจากภายนอก เช่น ได้ยินเสียงคนพูด เสียงดนตรี หรือเสียงอื่นๆ


• ภาพหลอน (Visual hallucination) เห็นภาพที่ไม่ได้มาจากภายนอก เช่น เห็นภาพคนหรือสัตว์ เห็นภาพเคลื่อนไหว หรือเห็นภาพซ้อนทับกัน, ประสาทหลอนทางประสาทสัมผัสอื่น ๆ เช่น ประสาทหลอนทางสัมผัส ประสาทหลอนทางกลิ่น ประสาทหลอนทางรสชาติ หรือประสาทหลอนทางการเคลื่อนไหว

3.กลุ่มอาการทางพฤติกรรม



• พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้ป่วยอาจเปลี่ยนพฤติกรรมไปจากเดิม เช่น เก็บตัว เฉื่อยชา ไม่สนใจสิ่งรอบตัว พูดจาสับสน ไม่ปะติดปะต่อ หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง


• ปัญหาในการควบคุมอารมณ์ ผู้ป่วยอาจไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ เช่น อารมณ์แปรปรวนง่าย โกรธง่าย หัวเราะหรือร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล


• ปัญหาในการคิดและตัดสินใจ ผู้ป่วยอาจมีปัญหาในการคิดและตัดสินใจ เช่น คิดช้า ตัดสินใจลำบาก หรือไม่สามารถแก้ปัญหาได้


สำหรับการรักษาโรคจิตเภทมีหลายแนวทาง ได้แก่ การกินยา เพื่อปรับสมดุลสารเคมีในสมอง จะได้ควบคุมอาการไม่ให้กำเริบ แต่หากใช้ยาไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณาใช้การช็อกไฟฟ้า, การรักษาทางจิตสังคม เช่น ฝึกการเข้าสังคม และให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย, การทำจิตบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจตนเอง รับรู้และเข้าใจปัญหาของตนเองมากขึ้น, ครอบครัวบำบัด เพื่อแนะแนวทางให้ญาติดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมและการบำบัดแบบกลุ่ม โดยจัดกิจกรรมกลุ่มระหว่างผู้ป่วยด้วยกันเพื่อให้กำลังใจซึ่งกันและกัน


ทั้งนี้ การดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภทต้องเริ่มจากการเข้าใจผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจสร้างความรำคาญเดือดร้อน จึงควรให้อภัยไม่ถือโทษผู้ป่วย, ไม่ควรโต้เถียงกับผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการทางจิต แต่ควรแสดงความเห็นใจในความทุกข์ที่ผู้ป่วยได้รับจากอาการทางจิต รวมทั้งเสนอความช่วยเหลือด้วยความอดทน, กระตุ้นแต่ไม่บังคับ เช่น กระตุ้นให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเอง ช่วยทำงานบ้านอย่างง่าย ๆ โดยไม่ใช้การบังคับ และควรหลีกเลี่ยงการตำหนิติเตียนผู้ป่วยโดยไม่จำเป็นและดูแลผู้ป่วยเรื่องการกินยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง




กำลังโหลดความคิดเห็น