โดย...นพ.พงศกร พงศาพาส ประสาทศัลยแพทย์ โรงพยาบาลเวชธานี
โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral Aneurysm) เป็นโรคที่ไม่ค่อยแสดงอาการ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็มีอาการรุนแรง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็ว อาจทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาตหรืออันตรายถึงแก่ชีวิต
โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง เป็นความผิดปกติที่เกิดจากการบางลงของผนังหลอดเลือดสมอง ทำให้ผนังเส้นเลือดสมองโป่งพองออกคล้ายบอลลูนและแตกออกง่าย สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน มักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่ โรคทางพันธุกรรมบางชนิด ประวัติโรคเส้นเลือดสมองโป่งพองในครอบครัว โรคความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษา การสูบบุหรี่ และอายุที่มากขึ้น
อาการโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ แต่อาการจะแสดงก็ต่อเมื่อเส้นเลือดแตก หรือมีการโป่งพองจนไปกดทับเนื้อเยื่อสมองหรือเส้นประสาทสมอง จนทำให้มีอาการต่างๆ ได้ เช่น ปวดหัวอย่างรุนแรง อาเจียน มองเห็นภาพซ้อน คอแข็ง ตามัว ชัก หนังตาตก หมดสติ หน้าเบี้ยวครึ่งซีก มีอาการเหน็บชาตามร่างกายครึ่งซีก พูดไม่ได้ พูดไม่ชัด และมีอาการกลืนลำบาก
ส่วนใหญ่คนที่เป็นโรคเส้นหลอดเลือดสมองโป่งพองจะไม่ค่อยมีใครรู้ตัว ยกเว้นจะมีอาการปวดหัวรุนแรง การตรวจสุขภาพจึงเป็นอีกทางเลือกที่จะทำให้ตรวจพบโรคเส้นเลือดสมองโป่งพองได้ ซึ่งการวินิจฉัยเส้นเลือดโป่งพองในสมอง สามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan), หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI ) เพื่อมองหาความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง และการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยการฉีดสารทึบรังสี (Cerebral Angiography) ที่จะช่วยทำให้ทราบถึงภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองได้ละเอียดมากขึ้น
สำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองสามารถทำได้หลายวิธีคือ การรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือดแดง ใส่ขดลวดเพื่ออุดหลอดเลือดส่วนที่โป่งพอง, การผ่าตัดเปิดกระโหลกศีรษะที่ใช้การหนีบเส้นเลือดเพื่อหยุดการไหลของเลือดเข้าไปในบริเวณที่มีเส้นเลือดโป่งพอง และการรักษาที่กำลังได้รับความนิยมคือการใช้เครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดระบบดิจิทัลชนิด 2 ระนาบ (Bi-plane Digital Subtraction Angiography : Bi-plane DSA) ซึ่งเป็นเครื่องเอกซเรย์ชนิดพิเศษที่สามารถถ่ายภาพหลอดเลือดได้สองระนาบในเวลาเดียวกัน ทำให้สามารถมองเห็นตำแหน่งและรูปร่างของหลอดเลือดได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
การรักษาแพทย์จะทำการใส่วัสดุอุปกรณ์เล็กๆ เท่ากับด้ามปลายปากกาเข้าที่ขาหนีบร่วมกับการใส่สายสวนขนาดเล็กผ่านเครื่องมือขนาดเล็ก ขึ้นไปที่หลอดเลือดสมองแล้วทำการฉีดสารทึบรังสี ด้วยการหมุนของเครื่อง Biplane DSA ทำให้สามารถสร้างภาพที่มีลักษณะชัดเจน เพื่อที่จะได้คำนวณขนาดของขดลวดที่จะทำการรักษา ทำให้การรักษาเป็นไปได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็วกว่าเครื่องที่ตรวจสารทึบรังสีแบบดังเดิม
การรักษาโดยใช้เครื่อง Biplane DSA ทำให้ผู้ป่วยได้รังสีน้อยกว่าเครื่องในสมัยก่อน ใช้เวลาในการรักษาสั้นกว่า ไม่มีแผลผ่าตัด แผลเล็กเท่ากับเข็มฉีดยาหรือการเจาะเลือดที่ขาหนีบเท่านั้น ลดภาวะแทรกซ้อน และทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว