เตือน "โรคหัด" ระบาด 4 จังหวัดใต้ "ปัตตานี" ป่วยสูงสุด ห่วงแนวโน้มผู้ป่วยสูงตั้งแต่ต้นปี สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของ 3 ปีก่อน 6 เท่า พบเด็กต่ำกว่า 5 ปีป่วยสูงสุด กว่า 85% ไม่เคยได้รับวัคซีน ห่วงความครอบคลุมวัคซีนยังต่ำ ส่งผลหลายพื้นที่ประเทศไทยเสี่ยงระบาด แนะผู้ปกครองพาเด็กเล็กเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคหัดตามกำหนด
เมื่อวันที่ 9 มี.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้รับทราบสถานการณ์โรคที่สำคัญ ในส่วนของโรคติดต่อสำคัญที่ต้องกำจัดกวาดล้างตามพันธสัญญานานาชาติ ได้แก่ โรคหัด พบผู้ป่วยในกลุ่มเด็กมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลายจังหวัดรวมทั้งชายแดนใต้ และโรคไอกรน พบการระบาดในพื้นที่ชายแดนใต้เริ่มมีแนวโน้มลดลง คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดได้เร่งรัดมาตรการเพิ่มความครอบคลุมของวัคซีน โดยให้วัคซีนเก็บตกในเด็กที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานเข้ารับวัคซีน
สำหรับโรคพิษสุนัขบ้า ดำเนินการภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรคคนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ซึ่งปีที่ผ่านมา พบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคอีสานและภาคใต้ ส่วนปี 2567 ไม่พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า แต่ยังจำเป็นต้องคงมาตรการเฝ้าระวังสัตว์และผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง ส่วนโรคลีเจียนแนร์ พบผู้ป่วยทั้งคนไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยปี 2567 พบผู้ป่วยแล้ว 14 ราย ได้ขอความร่วมมือสถานประกอบการที่พัก/โรงแรม ดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคลีเจียนแนร์ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวปลอดภัยของประเทศไทย
ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์โรคหัด กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค โดยข้อมูลจากการเฝ้าระวังโรคหัดจากฐานข้อมูลโครงการกำจัดโรคหัด (Measle Elimination Online) พบผู้ป่วยโรคหัดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี โดยข้อมูลระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 20 ก.พ. 2567 พบว่า มีรายงานผู้ป่วยไข้ออกผื่นหรือสงสัยหัด ทั้งหมด 143 ราย เป็นผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ 37 ราย และมีประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา 10 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 0.07 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งสูงกว่าจำนวนผู้ป่วยในช่วงเวลาเดียวกันของสามปีที่ผ่านมา 6 เท่า พบในกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปีสูงที่สุด 1.16 ต่อประชากรแสนคน ทั้งนี้ ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต พื้นที่ที่พบผู้ป่วยมี 4 จังหวัด โดยจังหวัดปัตตานีมีอัตราป่วยสูงที่สุด 5.74 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ ภูเก็ต (0.24) สงขลา (0.21) และยะลา (0.18) ตามลำดับ
“ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 85 ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด หรือไม่ทราบประวัติการได้รับวัคซีน ซึ่งจังหวัดที่มีการระบาดสูงยังมีความครอบคลุมของวัคซีนต่ำ โดยได้รับวัคซีน MMR1 เพียงร้อยละ 56.1 และ MMR2 ร้อยละ 41.6 จากการทบทวนข้อมูลความครอบคลุมของวัคซีนหัด หัดเยอรมัน และคางทูม (MMR) ของฐานข้อมูล HDC พบว่า ความครอบคลุมของวัคซีน MMR2 ในประเทศไทยยังไม่ถึงตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เป้าหมาย คือ ทุกจังหวัดต้องมีการฉีด MMR2 มากกว่า หรือเท่ากับ ร้อยละ 95 จึงจะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรคหัดได้ ซึ่งขณะนี้มีจังหวัดที่ความครอบคลุมการฉีดวัคซีน MMR2 ไม่ได้ตามเป้าหมาย ถึง 65 จังหวัด จึงทำให้หลายพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค” นพ.ธงชัยกล่าว
นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เตือนว่า กว่าครึ่งหนึ่งของประเทศในโลกนี้มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคหัด เนื่องจากความครอบคลุมของวัคซีนหัดต่ำลงในหลายประเทศทั่วโลก ตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด 19 สำหรับประเทศไทย เคยมีการระบาดใหญ่ของโรคหัดในปี 2561 – 2562 ที่มีผู้ป่วยหัดยืนยันกว่า 3,000 รายต่อปี ซึ่งในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด มีจำนวนผู้ป่วยหัดลดลงอย่างมาก อาจเป็นผลพวงจากมาตรการในการป้องกันโควิด 19 ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจเช่นเดียวกันกับโรคหัด
ทั้งนี้ โรคหัด เกิดจากไวรัสหัด หรือ Measles virus พบได้ในจมูกและลำคอของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอ จาม หรือพูดคุยระยะใกล้ชิด แพร่กระจายได้ง่ายเมื่อผู้ป่วยหายใจหรือไอ จาม ละอองอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ 4 วันก่อนผื่นขึ้นไปจนถึงหลังผื่นขึ้นแล้ว 4 วัน อาการจะเริ่มด้วยมีไข้ น้ำมูกไหล มักจะไอแห้งๆ ตลอดเวลา หลังจากนั้นจะมีไข้สูง ตาแดงก่ำและแฉะ อาจมีไข้สูงประมาณ 3-4 วัน จึงเริ่มมีผื่นขึ้นลักษณะผื่นนูนแดง ติดกันเป็นปื้นๆ ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญและรุนแรงคือปอดอักเสบและสมองอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
กรมควบคุมโรค ขอให้คำแนะนำและการป้องกันโรคหัด ดังนี้ 1. รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล สวมใส่หน้ากากอนามัย ปิดปาก ปิดจมูก ขณะไอหรือจาม 2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีไข้ออกผื่น 3.ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด สำหรับเด็กเล็กควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด 2 เข็มที่อายุ 9 เดือน และ 1 ปีครึ่ง หากเด็กยังไม่เคยได้รับวัคซีนเลยควรเข้ารับวัคซีนที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน สำหรับผู้ป่วยหากมีอาการไข้ออกผื่น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ในช่วงที่มีอาการควรสวมหน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่น หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัด ให้หยุดงาน หยุดเรียน หลีกเลี่ยงไปในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น หลังจากผื่นขึ้นอย่างน้อย 4 วัน เพื่อลดการแพร่กระจายโรค