xs
xsm
sm
md
lg

กทม.จำลองเหตุการณ์คนร้ายกราดยิง ทบทวนแผนเตรียมพร้อมรับมือเหตุสาธารณภัยในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



(8 มี.ค. 67) นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดโครงการระดมทรัพยากรในพื้นที่เพื่อพัฒนาความพร้อมทางการแพทย์ในเหตุสาธารณภัย ประจำปี 2567 ณ โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เดสติเนชั่น ว่า กรุงเทพมหานคร ในฐานะเมืองหลวงขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลาย ทั้งด้านประชากร เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งมีความเจริญเติบโต และพัฒนาอย่างรวดเร็วในทุก ๆ ด้าน ซึ่งการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของเมืองขนาดใหญ่นั้น ย่อมมาพร้อมกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย อาทิ ปัญหาอาชญากรรม ภัยการก่อการร้าย ภัยธรรมชาติ รวมถึงโรคระบาด ซึ่งสร้างความเสียหาย และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง กรุงเทพมหานครตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาสาธารณภัย และภัยพิบัติทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นและนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมาก ปัจจุบันผู้บริหารกรุงเทพมหานคร จึงมีนโยบายให้การสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรองรับเหตุสาธารณภัยมาโดยตลอด การฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับสาธารณภัยภายใต้โครงการฯ ดังกล่าว จึงเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ เพื่อสร้างความเข้าใจและก่อให้เกิดทักษะในการปฏิบัติการเผชิญเหตุร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครมีความมั่นใจและอุ่นใจว่าทุกหน่วยงานในกรุงเทพมหานครจะให้การดูแลและช่วยเหลือประชาชนได้เป็นอย่างดี

“โดยในปี พ.ศ. 2567 นี้ จะเป็นการฝึกซ้อมโดยกำหนดสถานการณ์และบทบาทในหัวข้อ "คนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิง" ณ โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เดสติเนชั่น เขตบางคอแหลม ซึ่งเป็นการทบทวนฝึกซ้อมแผนฯ และเรียนรู้การเผชิญเหตุสาธารณภัยจากประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีต และนำไปสู่การวางแผนพัฒนา กำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม”รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าว

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ และคณะกรรมการดำเนินการจัดโครงการระดมทรัพยากรในพื้นที่เพื่อพัฒนาความพร้อมทางการแพทย์ในเหตุสาธารณภัย ประจำปีงบประมาณ 2567 กำหนดจัดโครงการระดมทรัพยากรในพื้นที่เพื่อพัฒนาความพร้อมทางการแพทย์ในเหตุสาธารณภัย ประจำปีงบประมาณ 2567 ขึ้น ซึ่งเป็นกิจกรรมการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการทางการแพทย์ในการเผชิญเหตุสาธารณภัย โดยมีการปรับเปลี่ยนสถานการณ์ และวิธีการในการปฏิบัติการให้เหมาะสม สำหรับในปี 2567 นี้ สำนักการแพทย์ โดยศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ร่วมกับโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ในฐานะโรงพยาบาลแม่โซน พื้นที่โซน 4 ในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร กำหนดจัดการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการ ในสถานการณ์ "คนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิง" ณ โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เดสติเนชั่น เขตบางคอแหลม โดยมีการนำระบบบัญชาการเหตุการณ์ Incident Command System (ICS) มาใช้ เพื่อช่วยให้การเผชิญเหตุการณ์ไม่เกิดความสับสน การปฏิบัติการและการให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเป็นไปอย่างมีขั้นตอนและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นการประเมินศักยภาพและความพร้อมในการร่วมปฏิบัติการในเหตุสาธารณภัยดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การวางแผนการพัฒนาศักยภาพและความพร้อมในการรับมือกับสาธารณภัยที่อาจจะเกิดขึ้น เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ การซ้อมแผนปฏิบัติการทางการแพทย์ฯ ในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักเทศกิจ สำนักงานเขตบางคอแหลม สำนักงานประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ และหน่วยงานภายนอก ได้แก่ กรมเจ้าท่า โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เดสติเนชั่น โรงพยาบาลในเครือข่ายระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร สภาความมั่นคงแห่งชาติ กองบังคับการตำรวจนครบาล 5 กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย (อรินทราช 26) สถานีตำรวจนครบาล วัดพระยาไกร มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และมูลนิธิร่วมกตัญญู

แพทย์หญิงเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า ในปัจจุบันสถานการณ์คนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิง หรือเหตุความรุนแรงอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน มีแนวโน้มที่จะเกิดเพิ่มมากขึ้นทุกปี ดังเหตุการณ์ที่ผ่านมา เช่น เหตุสังหารหมู่ตำบลลำพะยา จังหวัดยะลา เหตุกราดยิงเทอร์มินอล 21 จังหวัดนครราชสีมา เหตุสังหารหมู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดหนองบัวลำภู เหตุตำรวจใช้อาวุธยิงกราดภายในบ้าน ย่านสายไหม และเหตุกราดยิงในจ.เพชรบุรี รวมไปถึงเหตุการณ์ล่าสุด เหตุกราดยิงที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน เขตปทุมวัน ในปี พ.ศ. 2566 นั้น ซึ่งจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องมีการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการร่วมกัน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้สามารถเผชิญเหตุในสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้บาดเจ็บได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และเหมาะสม รวมไปถึงสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงาน ให้มีความเข้าใจในขอบเขตอำนาจหน้าที่ และรับทราบขั้นตอนในการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อให้การสนับสนุนการปฏิบัติการเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะนำไปสู่ความปลอดภัย ลดอัตราการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

สำหน่วยงานที่เข้าร่วมการซ้อมในวันนี้ ประกอบด้วย สำนักการแพทย์ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักเทศกิจ สำนักการโยธา สำนักงานเขตบางคอแหลม โรงพยาบาลในเครือข่ายระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เดสติเนชั่น กรมเจ้าท่า สภาความมั่นคงแห่งชาติ กองบังคับการตำรวจนครบาล 5 กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย (อรินทราช 26) สถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร




















กำลังโหลดความคิดเห็น