xs
xsm
sm
md
lg

ส่อเลิก สปสช.เคลียริงฯ UCEP ใช้ระบบ FDH เบิกจ่ายตรงทุกสิทธิแทน "ชลน่าน" ลั่นไม่ได้รวม 3 กองทุน อย่าปล่อยข่าวทำสังคมแตกแยก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ชลน่าน" ตั้งเป้าขยายระบบข้อมูลการเงิน FDH รองรับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ทั่วประเทศ-ทุกกองทุนในปี 67 เผย รพ.สังกัด สป.สธ.ใช้ระบบครบ 100% แล้ว จ่อขยาย รพ.กรมอื่นๆ ใน เม.ย. ส่วนสิทธิ UCEP ไม่ต้องให้ สปสช.เป็นเคลียริงเฮาส์แล้ว ใช้ระบบ FDH ยิงตัวเลขเบิกจ่ายแต่ละกองทุนได้ทันที ลั่นไม่ได้ปูทางรวม 3 กองทุน ขออย่าปล่อยข่าวทำสังคมแตกแยก แค่รวมฐานข้อมูล ทุกกองทุนยังบริหารกันเอง

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชัน จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้ใช้งานระบบ MOPH Financial Data Hub เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลสุขภาพ "ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว" พร้อมมอบนโยบายเรื่องการบริการและเชื่อมโยงข้อมูลตามนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ และเป็นสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการดำเนินการพัฒนาระบบข้อมูลการเบิกค่าบริการสาธารณสุข ระหว่าง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)


ขยายระบบ FDH ทั่วประเทศ ทุกกองทุน

นพ.ชลน่านกล่าวว่า ศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน (MOPH Financial Data Hub) หรือ “FDH” เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลสุขภาพ ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว โดยเชื่อมโยงข้อมูลด้านการรักษาพยาบาล และข้อมูลการจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ ระหว่างหน่วยบริการและกองทุนสิทธิการรักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มให้หน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้ง 902 แห่ง ทดลองส่งข้อมูล พบว่า สามารถส่งข้อมูลมายัง FDH ได้ครบทุกแห่งในระยะเวลาเพียง 38 วัน ดังนั้น สธ.จึงร่วมกับ สปสช. เชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการเบิกจ่ายสิทธิหลักประกันสุขภาพ สำหรับหน่วยบริการใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส รวม 49 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 2567 ที่เริ่มดำเนินการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ จนถึงขณะนี้มียอดเรียกเก็บมากกว่า 5 แสนราย เป็นเงินกว่า 600 ล้านบาท โดย สปสช.เร่งดำเนินการให้มีการอนุมัติมากกว่า 8 หมื่นราย โอนเงินสำเร็จกว่า 3 หมื่นราย มีเงินชดเชยพึงรับเกือบ 5 ล้านบาท

"ต้องขอบคุณความร่วมมือจาก สปสช. และหน่วยบริการใน 4 จังหวัดนำร่อง ที่ร่วมดำเนินการจนทำให้เห็นข้อมูลเป็นปัจจุบันผ่าน Dashboard จากนี้เป็นต้นไป FDH จะขยายการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการเบิกจ่ายกับกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ในหน่วยบริการ 8 จังหวัดนำร่อง 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ระยะที่สอง และเชื่อมโยงทั้งประเทศภายในสิ้นปี 2567 ซึ่งจะครอบคลุมผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพเกือบ 47 ล้านคน คิดเป็น 70% ของสิทธิการรักษาพยาบาลของประชาชนไทย และระยะถัดไปจะขยายการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการเบิกจ่ายไปยังกองทุนประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยการพิจารณาเงื่อนไขการเบิกจ่ายจะเป็นอำนาจของแต่ละกองทุน" นพ.ชลน่านกล่าว


เม.ย.ขยายใช้ รพ.สังกัดกรม

นพ.ชลน่านกล่าวว่า ขณะนี้หน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัด สธ. ทั้ง 902 แห่ง ทำครบ 100% แล้ว วันนี้เรามาพัฒนาผู้ใช้งานในเชิงระบบการใช้งาน ที่เหลืออีก 993 แห่ง ที่เป็น รพ.ในสังกัดอื่นของ สธ. เช่น กรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต เป็นต้น ก็จะขยายไปให้ครอบคลุม ถ้าเราเชื่อมระบบตรงนี้ได้ทั้งหมดก็น่าจะเริ่มได้ที่ เม.ย.เป็นต้นไป ทั้งนี้ การเชื่อมข้อมูลการเบิกจ่ายกับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เป็นการนำร่องเพื่อให้สิทธิรักษาพยาบาลอื่นเข้ามาร่วมดำเนินการกับ สธ.โดยสมัครใจ เพราะไม่ได้เป็นการเข้าไปข้องเกี่ยวกับระบบภายในของแต่ละกองทุน โดยระบบ FDH จะทำหน้าที่เสมือนเป็นเคลียริงเฮาส์ ช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องการเบิกจ่ายและการดูแลข้อมูล เพราะเป็นระบบดิจิทัลที่เชื่อมทุกกองทุน และแสดงตัวเลขแบบเรียลไทม์ ทำให้เบิกจ่ายสะดวกรวดเร็ว ถือเป็นการพัฒนาเชิงระบบ ช่วยลดภาระงานในการบันทึกข้อมูลที่ซ้ำซ้อน เตรียมข้อมูลสำหรับการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ของทุกกองทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยบริการ อีกทั้งยังวิเคราะห์และประมวลผล พร้อมแสดงข้อมูลในรูปแบบ Business Intelligence สามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ ทิศทางนโยบายด้านสาธารณสุขได้ชัดเจนและตรงตามเป้าหมาย ช่วยลดเวลาในการดำเนินงาน ลดความซ้ำซ้อน ลดความผิดพลาด ข้อมูลเป็นปัจจุบัน ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ



ติวผู้ใช้งานระบบทั่วประเทศ

ด้าน นพ.โอภาสกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ จะมีการให้ความรู้เกี่ยวกับระบบ MOPH FDH ทั้งแนวทางการให้บริการและส่งข้อมูลเพื่อการเบิกจ่ายของหน่วยบริการ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการขอรับค่าใช้จ่าย และการตรวจสอบการเบิกจ่ายของหน่วยบริการ รวมทั้งถ่ายทอดประสบการณ์ในการดำเนินงานของ 4 จังหวัดนำร่อง เพื่อนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ และขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ฯ ให้ประชาชนทุกสิทธิเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ง่าย สะดวกสบายยิ่งขึ้น รวมไปถึงบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ และสิทธิประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นการสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลในการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มวัย ทุกพื้นที่ โดยมีผู้บริหาร สธ.ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค บุคลากรผู้รับผิดชอบงานใน รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป รพ.ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สปสช. สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง โรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ และ กทม. เข้าร่วมประชุมรวม 440 คน


นพ.โอภาสกล่าวว่า ในส่วนของการลงนามบันทึกความเข้าใจกับ สปสช. จะเป็นการร่วมกันพัฒนาและออกแบบระบบข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการสาธารณสุข กำหนดมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติในการเบิกจ่าย พัฒนาระบบการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล รวมทั้งฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้ใช้งานระบบ และแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาระบบเชื่อมข้อมูลเพื่อการเบิกจ่ายที่มาจากทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อรองรับการเบิกจ่ายเงินค่าบริการสาธารณสุข กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ผ่าน MOPH FDH ได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา โปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยมีระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี



สปสช.ไม่จำเป็นต้องเคลียริง UCEP

ถามว่าเมื่ออนาคตผลักดันให้ MOPH FDH ทำหน้าที่เหมือนเคลียริงเฮาส์ส่งข้อมูลเบิกจ่ายทุกกองทุน ในส่วนของสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) ที่ สปสช.เป็นเคลียริงเฮาส์เดิมจะต้องปรับมาใช้ระบบนี้ด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า สิทธิ UCEP จะได้รับการดูแลค่าใช้จ่ายจาก สปสช.ก่อน คือ จ่ายแทนให้ทุกสิทธิ แล้ว สปสช.ไปเรียกเก็บกองทุนต่างๆ ตามสิทธิประโยชน์ เป็นระบบปกติแมนวล ต่อมาเราพัฒนา E-Claim ก็ยังใช้ลักษณะของการส่งต่อข้อมูลแบบแมนวลอยู่ พอมีการยกระดับ 30 บาทฯ เทคโนโลยีถึง เราพัฒนาระบบเปิดหน้าบ้านใช้หมอพร้อมกับไลน์ OA สื่อสารประชาชน คนมาใช้บริการจะถูกบันทึกข้อมูลประวัติสุขภาพส่วนบุคคลอิเล็กทรอนิกส์ (PHR) ที่มารับการดูแล พอมีตรงนี้จะเป็นการสะดวก ถ้าเราพัฒนาศูนย์กลางข้อมูลการเงินด้วยที่มีอยู่แล้ว ก็จะสะดวกในส่งเบิกเงินแต่ละกองทุน เป็นการชดเชยการใช้ระบบแมนวลจาก UCEP มาไม่ใช่ UCEP แล้ว ทุกโรคได้เลย UCEP ก็ได้ด้วย เป็นหลักที่เราทำอยู่แล้ว

ถามว่า ต่อไปเบิกจ่าย UCEP ก็จะใช้ FDH ในการยิงข้อมูลเบิกจ่ายไปแต่ละกองทุนเลย นพ.ชลน่านกล่าวว่า ก็ผ่านมาใช้ระบบนี้เท่านั้นเอง ก็เข้าถึงทุกที่ UCEP จะดีในแง่ขณะนี้สิทธิของกองทุนอื่นๆ ที่ยังไม่เข้ามาร่วม พอใช้ UCEP เข้าได้ทุกที่ ก็เอา FDH ไปจับได้ทันที ถามย้ำว่า สปสช.ไม่ต้องจ่ายก่อนแล้วไปเคลียริงที่หลังแล้วใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ไม่จำเป็นแล้ว เพราะ FDH ยิงไปที่ฐานกองทุนได้เลย ไม่จำเป็นต้องจ่ายก่อน นี่คือข้อดีของ UCEP


ระบบ FDH ช่วยมอนิเตอร์งบ สธ.

ถามว่า MOPH FDH จะให้กองเศรษฐกิจสุขภาพดูแลในระยะยาวเลยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า สำนักงานดิจิทัลสุขภาพ เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่ดูเรื่องโครงสร้างทั้งหมด หลังบ้าน หน้าบ้าน พัฒนาระบบดิจิทัลทั้งหมด โดยกองเศรษฐกิจสุขภาพจะดูมิติค่าใช้จ่าย สปสช.เป็นผู้จ่าย ซึ่งกองเศรษฐกิจสุขภาพก็จะดูแลเชิงระบบ เมื่อมี FDH ข้อมูลก็จะมาอยู่ตรงนี้ทั้งหมด สิทธิประโยชน์ต่างๆ ของแต่ละกองทุนมาปุ๊บ ก็จะถูกยิงเข้าไปในแต่ละกองทุน แทบไม่ได้ทำอะไรเลย แค่เฝ้าดูว่ารายการที่ส่งมาเป็นอย่างไร เป็นไปตามที่ต้องการข้อมูลหรือไม่ ไม่ใช่แค่ข้อมูลการเงิน แต่เป็นข้อมูลการจัดบริการด้วย จะรู้ว่ามีกิจกรรมบริการอะไร เม็ดเงินที่ใช้เป็นอย่างไร เหมาะสมไม่เหมาะสมในแต่ละกองทุน

ถามย้ำว่าอนาคตที่จะมีการส่งข้อมูลเบิกจ่ายไปทั้ง 3 กองทุน จะต้องมีการตั้งหน่วยงาเฉพาะมาดูแลระบบตรงนี้หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ไม่ เพราะเป็นระบบดิจิทัลอยู่แล้ว แค่มอนิเตอร์มัน ปลายทางคือกองทุน จากระบบเดิมหน่วยบริการส่งไปกองทุน ถ้าวางแบบนั้นจะสับสนวุ่นวายไม่เป็นระบบ ถ้าเราวางท่อทุกสถานบริการรัฐ เอกชน ยิงเข้ามาตรงนี้ทั้งหมด ก็จะเป็นตัวยิงไปแต่ละกองทุนก็จะง่ายกว่า

ถามว่าจะเป็นเป้าของแฮกเกอร์หรือไม่ เพราะเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ถูกจุดเป็นเป้าอยู่แล้ว อยู่ที่ศักยภาพเราที่จะทำความปลอดภัยในเชิงระบบได้อย่างไร ไม่ได้เอาข้อมูลมาพูลใหญ่ เพราะอีกหน่อยจะมาในรูปของบล็อกเชน ก็ยิ่งไม่ต้องเก็บ แต่ตอนนี้เราใช้คลาวด์อยู่ในการรวมข้อมูล แต่ที่เรามั่นใจคือระบบความปลอดภัยที่วางไว้


ไม่ได้ปูทางรวม 3 กองทุน

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการวางระบบแบบนี้เพื่อปูทางไปสู่การรวม 3 กองทุนสุขภาพ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราไม่ได้รวม อย่าไปปล่อยข่าวให้สังคมแตกแยก เราไม่ได้รวมเลย แต่ละกองทุนมีหน้าที่บริหารจัดการกองทุนเขา เราเองเพียงส่งข้อมูลให้คุณเท่านั้น อย่างที่บอกว่าถ้าหน่วยบริการยิงไปกองทุนก็สับสนวุ่นวายมาก แต่เรารวม FDH ให้เป็นระบบเข้ามาตรงนี้หมด อยู่ในท่อเดียวกัน แล้วท่อก็ยิงไปกองทุน การใช้ประโยชน์ข้อมูลในเชิงรวมมิติสุขภาพที่ สธ.เราคุมอยู่ก็จะเห็นเลย ใช้บริการของ สปสช.เท่าไร ประกันสังคม ข้าราชการเป็นอย่างไร แต่ละกองทุนก็เอาไปบริหารข้อมูลตัวเองได้ แล้วมาดูภาพรวมประเทศค่าใช้จ่ายสุขภาพเป็นอย่างนี้ มีจุดบิดเบี้ยวตรงไหน ก็ใช้ประโยชน์ได้ในการกำหนดนโยบาย กำหนดเม็ดเงินต่างๆ

ถามว่าตรงนี้อิงมาจากมาตรา 9 และ 10 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้น นี่เป็นแค่การจัดการเรื่องช่องทางผ่านข้อมูล มาตรา 9 10 คือรวมกันมาร่วมบริการ ซึ่ง 20 ปีไม่เคยมาร่วมบริการกันได้เลย การดำเนินการตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าเอาเงินทุกคนมารวมกันแล้วร่วมบริการ แต่เราอาศัยระบบดิจิทัลทำให้ทุกคนหันหน้ามาหากัน มองข้อมูลของแต่ละกลุ่ม โดยตัวเองก็ถือกองทุนตัวเอง คือร่วมดำเนินการของฐานข้อมูลที่ออกจากระบบบริการ


กำลังโหลดความคิดเห็น