xs
xsm
sm
md
lg

เตือน "ไทย" ร้อนจัดต่อเนื่องถึง พ.ค. พบ 5 ปีดับจากอากาศร้อน 131 คน เตือนวัยทำงาน-สูงอายุ ป่วยสูงขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอนามัย ร่วมอุตุฯ พัฒนาค่า Heat Index ไทย พยากรณ์ความร้อนล่วงหน้า แบ่งเฝ้าระวัง 4 ระดับ ห่วงอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ ร้อนจัดต่อเนื่องถึง พ.ค. พบสถิติ 5 ปี ตายจากความร้อน 131 คน เฉลี่ย 26 คนต่อปี เตือนวัยทำงาน-สูงอายุพบป่วยฮีทสโตรกมากขึ้น

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย และ น.ส.กรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา แถลงข่าวเฝ้าระวังและสื่อสารความเสี่ยงสุขภาพจากความร้อนด้วยค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) โดย พญ.อัจฉรา กล่าวว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นส่งผลให้ความร้อนในบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ความร้อนของประเทศไทยที่ผ่านมามีค่าอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากความร้อน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชาชน กรมอนามัยจึงร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า กรมควบคุมโรค กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานภาคีเครือข่าย พัฒนาค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) ของประเทศไทย เพื่อใช้เฝ้าระวังและสื่อสารเตือนภัยจากความร้อนแก่ประชาชน

ทั้งนี้ ค่าดัชนีความร้อน เป็นค่าอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ขณะนั้นว่า อากาศร้อนเป็นอย่างไร (Feel like) ด้วยการวิเคราะห์หาค่าที่เป็นตัวแทนของอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้จริงจากความสัมพันธ์ของอุณหภูมิที่ตรวจวัดได้จริงกับความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ และนำมาใช้ระบุความเสี่ยง โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ระดับเฝ้าระวัง (สีเขียว) ระดับเตือนภัย (สีเหลือง) ระดับอันตราย (สีส้ม) และระดับอันตรายมาก (สีแดง)


พญ.อัจฉรา กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตด้วยโรคจากความร้อน (กลุ่มโรค Heat Stroke) ในช่วงปี 2562 – 2566 พบว่า มีผู้เสียชีวิตสะสม 131 คน เฉลี่ยเป็น 26.1 รายต่อปี และพบแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ในปี 2566 กรมอนามัยยังได้ติดตามเฝ้าระวังอาการและพฤติกรรมการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน โดยพบว่า อาการเสี่ยงที่พบมากที่สุด คือ ปวดศีรษะ ปัสสาวะมีสีเข้ม เวียนศีรษะ/สับสน/มึนงง มีผื่นแดงตามผิวหนัง รวมถึงยังพบพฤติกรรมเสี่ยงจากความร้อน เช่น ทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงสภาพอากาศร้อนจัด อยู่ในห้องที่ระบายอากาศได้ไม่ดีหรือไม่มีเครื่องปรับอากาศ ดื่มสุรา น้ำหวาน และน้ำอัดลม

ขอแนะนำให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเองเพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพจากความร้อน ได้แก่ ดื่มน้ำบ่อย ๆ โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ระบายอากาศได้ดี สวมหมวกปีกกว้าง แว่นกันแดด และทาครีมกันแดดเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนจัดหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์ รวมถึงรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ และติดตามสถานการณ์ค่าดัชนีความร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยา หากค่าดัชนีความร้อนอยู่ในระดับอันตราย (42.0 – 51.9 องศาเซลเซียส) ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

นอกจากนี้ ควรสังเกตอาการเสี่ยงจากโรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) ได้แก่ ผิวหนังแดงร้อน ชีพจรเต้นเร็วและแรง ปวดศีรษะ สับสน มึนงง คลื่นไส้หรืออาเจียน ความรู้สึกตัวของร่างกายเปลี่ยนไป หมดสติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งหากพบผู้ป่วยโรคฮีทสโตรก ให้รีบปฐมพยาบาลและนำส่ง รพ. หรือโทร 1669 ทั้งนี้ ควรประเมินอาการเสี่ยงด้วยตนเองโดยใช้แบบสำรวจอนามัยโพล รวมถึงติดตามการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อนจากกรมอนามัย และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมอนามัย 1478 หรือ กรมควบคุมโรค 1422


น.ส.กรรวี กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. 2567 คาดการณ์ฤดูร้อนปีนี้ ประเทศไทยจะมีอากาศร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบน 35.0 – 38.0 องศาเซลเซียส โดยคาดการณ์อุณหภูมิสูงที่สุด 43.0 - 44.5 องศาเซลเซียส ซึ่งใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับสถิติของประเทศไทย (44.6 องศาเซลเซียส ที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 และ อ.เมือง จ.ตาก เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2566) โดยช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม จะมีอากาศร้อนจัดต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดภัยและโรคที่มีสาเหตุมาจากอากาศร้อน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและเปราะบาง เช่น ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และเด็ก จึงขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ๆ และหมั่นตรวจสอบดูแลคนในครอบครัวให้เตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญกับสภาพอากาศฤดูร้อน ปีนี้อุณหภูมิสูงสุด 43.0 – 44.5 องศาเซลเซียส แต่ความรู้สึกของมนุษย์หรือค่าดัชนีความร้อน หรือ Heat Index อาจสูงมากกว่า ซึ่งอยู่ในระดับอันตรายมากในบางวัน โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ส่วนมากบริเวณประเทศไทยตอนบน ซึ่งประกอบด้วยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ประเทศไทยจะสิ้นสุดฤดูร้อนประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2567 และเพื่อให้รู้ถึงสภาพอากาศและสามารถวางแผนการใช้ชีวิตประจำวันให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพน้อยที่สุด ประชาชนควรติดตามข่าวการพยากรณ์อากาศและการพยากรณ์ค่าดัชนีความร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยาทางเว็บไซต์ www.tmd.go.th และเฟซบุ๊กกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น