xs
xsm
sm
md
lg

"ชลน่าน" แจงดรามาปรับร่าง กม.ควบคุม "น้ำเมา" ต้องไม่สุดโต่ง ไม่ปิดกั้นธุรกิจเกินไป สุดท้ายอยู่ที่สภาแปรญัตติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ชลน่าน" แจงดรามาปรับร่าง พ.ร.บ.ควบคุมน้ำเมา นายกฯ ให้ดูทั้งเศรษฐกิจ-สุขภาพ ไม่สุดโต่ง ควบคุมแต่ต้องไม่ปิดกั้นธุรกิจจนไร้ศักยภาพเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ ย้ำชั้นกฤษฎีกาแค่ดูกระบวนการจัดทำ ทักท้วงเนื้อหาสาระได้ แต่ไม่มีสิทธิปรับแก้ สุดท้ายอยู่ที่สภาแปรญัตติแก้ไขร่างทั้งหมดให้สมดุล

เมื่อวันที่ 6 มี.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ครม.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ... แต่ให้ไปพิจารณาเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องผลักดันเศรษฐกิจและสนับสนุนธุรกิจ จนอาจกระทบเรื่องดูแลสุขภาพ ว่า ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ... ฉบับของ สธ.จัดทำร่างและรับฟังความเห็นแล้ว ส่งไปยัง ครม. ซึ่ง ครม.มีมติรับหลักการเห็นชอบกับร่างของเรา โดยเป็นร่างกฎหมายการแก้ไขกฎหมายเดิมปี 2551 ในบางหมวดบางมาตราบางประเด็น เช่น แก้ไขบทนิยาม แก้ไขบทมาตราที่เกี่ยวกับการโฆษณา อำนาจหน้าที่ต่างๆ ของเราจะออกกลางๆ เมื่อเทียบกับร่างของประชาชน หรือร่างของสมาชิก หรือร่างที่เสนอมายังสภา

"เมื่อเอาร่างต่างๆ มาเทียบดู ของเราออกกลาง ท่านนายกฯ ให้แนวทางว่า บรรดาร่างกฎหมายมาทั้งหมด ควรคำนึงเรื่องหนึ่ง มิติเศรษฐกิจ สองมิติสุขภาพ ให้มีความสมดุลกัน อย่าไปสุดโต่งด้านใดด้านหนึ่ง ความหมายคืออย่างนั้น ถ้าจะควบคุม แน่นอนว่ากฎหมายแอลกอฮอล์ จุดมุ่งหมายออกมาเพื่อควบคุมการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คำว่าควบคุมก็ชัดอยู่แล้ว แต่การควบคุมต้องไม่เป็นการควบคุมจนกระทั่งไปปิดกั้นผู้ประกอบการ ที่จะไม่มีศักยภาพในการประกอบการที่จะเพิ่มมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ความหมายท่านเป็นอย่างนั้น" นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.ชลน่านกล่าวว่า ในชั้นของการนำไปปรับร่างหรือปรับแก้ ขณะนี้ร่างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ข้อสังเกตเหล่านี้จะถูกนำเสนอไปที่สภา เพราะวิธีพิจารณาร่างกฎหมาย สภาเป็นผู้ออกกฎหมาย สภามีสิทธิที่จะแปรญัตติ แก้ไขให้เกิดความสมดุลกันได้

ถามว่าจะยืนตามร่างกฎหมายเดิมโดยไม่มีอะไรเพิ่มเติม แต่จะไปอยู่ที่สภาแทนใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นข้อสังเกตที่รับจาก ครม. เข้าสู่สภา ไม่ได้สั่งการให้มาปรับแก้ในชั้นของการยกร่าง เพราะกระบวนการนี้จบแล้ว

ถามว่าก่อนหน้านี้มีข่าวว่าให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ปรับสาระร่าง พ.ร.บ. โดยพิจารณาเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ จะมีการปรับแก้ในชั้นกฤษฎีกาด้วยเลยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ในขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมาย หลัง ครม.มีมติเห็นชอบหลักการ กฤษฎีกามีหน้าที่ไปดูในกระบวนการขั้นตอนจัดทำกฎหมาย ว่าเป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดทำกฎหมาย หรือไม่ ทำถูกต้องตามแบบแผนวิธีการของกระบวนการทางนิติบัญญัติหรือไม่ นิติวิธีถูกหรือไม่อย่างไร ส่วนเนื้อหาสาระ หากกฤษฎีกามีข้อทักท้วง ก็จะเสนอกลับเข้ามามา ไม่มีสิทธิไปปรับแก้ เช่น ร่างกฎหมายนี้ไม่ชอบ ขัดกับเรื่องนั้นนี้ ก็จะแจ้งกลับมา ถ้ามีข้อสังเกตก็ต้องกลับมาดูก่อนเสนอเข้าสู่สภา


กำลังโหลดความคิดเห็น