เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานวันโรคอ้วนโลก (World Obesity Day) ประจำปี 2567 “Let’s talk about obesity and Health”
ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า“คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพให้กับสังคมในวงกว้าง โดยเป็นผู้นำด้านการพัฒนาองค์กรสุขภาพดีและด้านการสร้างเสริมสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อให้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นแบบอย่างให้กับสังคมในการสร้างเสริมสุขภาพ สร้างค่านิยมการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี และพร้อมเป็นผู้นำสังคมไทยสู่สังคมสุขภาพดี จึงมีนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ และเป็นต้นแบบให้กับสังคมในการสร้างเสริมสุขภาพ พร้อมย้ำว่าสังคมสุขภาพดีสร้างได้ หากเราทุกคนร่วมมือกัน ทั้งนี้ ขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนที่เป็นเสาหลักด้านสุขภาพของประเทศร่วมรณรงค์การสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อยุติการเพิ่มขึ้นของวิกฤตโรคอ้วนไปด้วยกัน”
ศ. ดร.นพวรรณ เปียซื่อ รองคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ที่น่าเป็นห่วงคือ จากสถานการณ์ปัจจุบันจากข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยพบว่าความชุกของโรคอ้วนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โรคอ้วนถือว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลกรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด 9 เป้าหมายการรับมือสถานการณ์โรคไม่ติดต่อภายในปี 2568 เพื่อยับยั้งการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรโลก โดยหนึ่งในเป้าหมาย คือ ความชุกภาวะอ้วนจะต้องไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากโรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้บุคคลเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ (Non- Communicable Diseases: NCDs) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด หลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็งบางชนิด การเร่งรณรงค์ให้เกิดความตระหนักถึงปัญหาจากโรคอ้วนและความรอบรู้ของบุคลากร นักศึกษา นักเรียน องค์กรต่างๆ ผู้รับบริการ และประชาชนทั่วไปมีความสำคัญ เพราะจะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยยุติวิกฤตโรคอ้วนได้ดี”
ผศ. พญ.ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร ประธานคณะกรรมการป้องกันและจัดการโรคอ้วนแบบครบวงจร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “โรคอ้วน นับว่าเป็นภัยคุกคามสุขภาพในทุกช่วงวัย ไม่ได้เกิดเพียงแค่ผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังพบความชุกโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้นได้ตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เป็นโรคอ้วน มักมีสาเหตุจากปัจจัยภายนอกที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารจานด่วนแบบตะวันตก อาหารที่ขาดคุณค่าทางโภชนาการ น้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่มีพลังงานสูง ร่วมกับการใช้ชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบัน การใช้ชีวิตอยู่กับสังคมออนไลน์ และชีวิตที่เต็มไปด้วยความสะดวกสบายมากขึ้น ส่งผลให้มีกิจกรรมทางกายลดลง และขาดการออกกำลังกาย ดังนั้นการการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตทั้งในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการอารมณ์และการนอนหลับ ถือว่าเป็นปัจจัยป้องกันที่สำคัญ ที่ทำให้มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอ้วนและโรคแทรกซ้อนต่างๆได้ดี”
ดร. พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “วิกฤตโรคอ้วน (Obesity crisis) เป็นสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 3.4 ในเรื่องของการลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพราะจากหลักฐานทางวิชาการที่น่าเชื่อถือยืนยันแน่ชัดว่าโรคอ้วนหรือการที่ร่างกายมีไขมันสะสมมากเกินไปนั้น เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหลายโรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการตายก่อนวัยอันควร ดังนั้นการสร้างเสริมสุขภาพและร่วมกันหาแนวทางที่ครอบคลุมในทุกๆ มิติให้ประชาชนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ก็จะช่วยให้เรายุติวิกฤตโรคอ้วนและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ”
นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ที่ปรึกษาคณบดีด้านบริหารและพัฒนาคุณภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “การสร้างเสริมสุขภาพบุคลากร มีความเกี่ยวข้องกับมาตรฐานโรงพยาบาล มาตรฐานนี้เป็นตัวบอกว่าหากองค์กรมีคนทำงานที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ก็จะสามารถทำให้องค์กรสามารถที่จะทำผลงานได้ดี มี productivity สูง นอกจากนี้พฤติกรรมสุขภาพที่ดียังเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคมภายนอก ในเรื่องการจัดการโรคอ้วนนั้น เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตให้เป็นในแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดูบริบทที่เฉพาะของแต่ละบุคคล เนื่องจากมีทั้งปัจจัยที่เป็นความซับซ้อนของสังคมและความซับซ้อนในตัวบุคคลที่ต้องนำมาร่วมพิจารณา จำเป็นต้องอาศัยการสังเกต พูดคุย ร่วมกับมีวิธีการสื่อสารเพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม”
นพ.ณัฐดนัย รัชตะนาวิน MD CEO & Founder FitSloth กล่าวว่า “ทุกวันนี้เทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยให้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นำไปสู่การลดน้ำหนักในผู้ที่มีภาวะอ้วนได้ แต่ต้องทำ “ง่าย” และ “ยั่งยืน” ถึงจะมีประโยชน์ ทาง FitSloth และพาร์ทเนอร์ ได้สร้างเครื่องมือที่ช่วยแนะนำอาหารเฉพาะบุคคลให้กับผู้ใช้งานจากอาหารรอบตัว โดยคำนวณแคลอรี่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันที่เหมาะสมรวมถึงยังสามารถกินได้อร่อย และสนุกเหมือนเดิม นอกจากนี้ยังมีทีมแพทย์ติดตามดูแล lifestyle ให้ผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่องโดยอาศัยหลักการของ Lifestyle Medicine อีกด้วย”
ดร.ภัทราภา เวชภัทรสิริ ผู้ร่วมก่อตั้ง Nudge Thailand กล่าวว่า “การประยุกต์ใช้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral economics) เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่นำมาใช้ในการออกแบบตัวเลือกในการตัดสินใจ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่พฤติกรรมสุขภาพที่ดี เพราะเราจะเห็นว่ามีหลายพฤติกรรมที่เรารู้ว่าดี แต่ยังทำไม่ได้สักที อย่างเช่นพฤติกรรมการบริโภคเพื่อห่างไกลจากโรคอ้วน มนุษย์ไม่ได้ตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผล และถูกต้องเหมาะสมไปทั้งหมด แต่มีเรื่องอื่นๆ ที่มาจากความเชื่อส่วนตัวและอิทธิพลของสังคมเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจมากมาย เช่น ความลำเอียง อารมณ์ ดังนั้นเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ถือว่าเป็นอีกกลไกหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพที่ดีและลดโรคอ้วนได้”
รศ. พญ.ดาวชมพู นาคะวิโร อาจารย์ประจำ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “การสังเกต ใส่ใจตนเองทางด้านร่างกายและจิตใจ และที่สำคัญการเพิ่มแรงจูงใจภายในในการดูแลสุขภาพ เป็นแนวทางที่จะช่วยให้เรามีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน ส่งผลดีในการป้องกันโรคอ้วนและปัญหาสุขภาพอื่นๆได้ดีอีกด้วย”
เชฟพล ตัณฑเสถียร กล่าวเสริมว่า “อาหารที่ดีต่อสุขภาพ (Healthy food) ที่เน้นวัตถุดิบจากธรรมชาติ มีใยอาหารเป็นองค์ประกอบ และลดหวาน ลดมันและลดโซเดียมนั้น เราสามารถทำให้อร่อยได้หากเราเข้าใจองค์ประกอบของความอร่อยที่จะเกิดขึ้นในอาหาร การเลือกวัตถุดิบที่มาช่วยเสริมรสชาติและใช้เทคนิคการประกอบอาหาร ก็จะช่วยทำให้อาหารอร่อยและเป็นมิตรกับสุขภาพได้”