กรมวิทย์ เฝ้าระวังเชื้อ "ไข้หวัดใหญ่" พบสายพันธุ์ B มากสุด 48% รองลงมาชนิด A (H3N2) 40% ส่วน H1N1 pdm09 เจอ11% ยังสอดคล้องกับสายพันธุ์ในวัคซีน ใช้ป้องกันได้ ไม่พบยีนที่บ่งชี้การดื้อยา
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั่วโลก ว่า มักพบการแพร่กระจายของโรคไข้หวัดใหญ่ในเขตซีกโลกเหนือระบาดมากในช่วงฤดูหนาว ส่วนซีกโลกใต้ระบาดมากในฤดูฝน มีการพบไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) , A(H1N1) pdm09 และ B (Victoria lineage) เป็นสาเหตุของการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล จากการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จากทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 - ปัจจุบัน พบว่า
- ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H1N1) pdm09 สายพันธุ์ 6B.1A.5a.2a มีสัดส่วน 75.16% ของไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H1N1) pmd09 ทั้งหมด
- ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) สายพันธุ์ 3C.2a1b.2a.2a.3a.1 คิดเป็น 99.27% ของไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) ทั้งหมด
- ไข้หวัดใหญ่ชนิด B ทั้งหมด จัดอยู่ในกลุ่ม Victoria lineage clade VIA.3a.2 คิดเป็น 100%
สำหรับประเทศไทย สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ พบไข้หวัดใหญ่ชนิด B (Victoria) มากที่สุดคิดเป็นสัดส่วน 48.08% รองลงมาคือไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) มีสัดส่วน 40.77% ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H1N1) pdm09 มีสัดส่วน 11.15% ตามลำดับ
นพ.ยงยศ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ กรมควบคุมโรค และศูนย์ความร่วมมือไทย - สหรัฐ ด้านสาธารณสุข เฝ้าระวังเชื้อไข้หวัดใหญ่ โดยตรวจวิเคราะห์สายพันธุ์เชื้อไข้หวัดใหญ่ในตัวอย่างผู้ป่วยกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (ILI) และกลุ่มอาการปอดบวม ทั้งนี้จากการวิเคราะห์สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยของศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคนิค Whole Genome Sequencing (WGS) วิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมทั้งจีโนม และประเมินความสอดคล้องกับสายพันธุ์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่กระทรวงสาธารณสุขฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย พบว่า สายพันธุ์วัคซีนที่ฉีดยังสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ และยังพบว่าสายพันธุ์ที่พบส่วนใหญ่ มีความสอดคล้องกับสายพันธุ์ในวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ขององค์การอนามัยโลก
"แสดงให้เห็นว่าวัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์หลักที่กำลังแพร่ระบาดในขณะนี้ และเมื่อวิเคราะห์ตำแหน่งกลายพันธุ์บนยีน Neuraminidase (NA) (อ้างอิงข้อมูลตำแหน่งการกลายพันธุ์จากองค์การอนามัยโลก ลงวันที่ 3 พ.ค. 2566) ของเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบในประเทศไทยช่วงเดือนมกราคม 2567 (เชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด A/H3 , A(H1N1) pdm09 และ B) จำนวน 96 ตัวอย่าง ไม่พบยีนที่บ่งชี้การดื้อยา" นพ.ยงยศกล่าว
นพ.ยงยศกล่าวว่า ในปี 2567 สายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่ตรวจพบในประเทศไทย ได้รับคัดเลือกองค์การอนามัยโลกให้เป็นองค์ประกอบในวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ นั้น เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือและบทบาทที่เข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุขไทย ที่ต้องการควบคุมและป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ต่างๆ ป้องกันการแพร่ระบาด และลดอัตราการป่วยการเสียชีวิตของประชากรไทยและประชากรโลก การเฝ้าระวังโรค การติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่มีความสำคัญ และความจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบอุบัติการณ์แนวโน้มการระบาดใหญ่ การกลายพันธุ์ และการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ต่างไปจากเดิม เพื่อวางมาตรการการควบคุมและป้องกันโรคได้อย่างเหมาะสม