โรคอ้วน (Obesity) เป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases, NCDs) เช่นเดียวกับ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคมะเร็ง โรคอ้วนเป็นภัยคุกคามที่ผู้คนทั้งโลกต้องร่วมกันต่อสู้ เพราะนอกจากจะส่งผลเสียโดยตรงต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังส่งผลเสียทางอ้อมต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย
ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) โรคอ้วนเป็นภาวะที่ร่างกายมีไขมันสะสมมากเกินไป จนส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายเกิดความผิดปกติ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea; OSA) ปัญหาข้อต่อ ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ความผิดปกติทางเมตาบอลิก ระดับน้ำตาล และไขมันสูง เพิ่มการอักเสบในร่างกาย เสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Diseases, CVDs) และโรคมะเร็ง เป็นต้น
นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ หรือ คุณหมอแอมป์ ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และนายกสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน กรุงเทพ (BARSO) ตั้งใจหยิบยกประเด็นปัญหาเกี่ยวกับโรคอ้วนขึ้นมาพูดถึงเนื่องใน “วันอ้วนโลก (World Obesity Day)” ซึ่งตรงกับวันที่ 4 มีนาคม เพื่อรณรงค์ให้สังคมรับรู้ถึงอันตรายที่เกิดจากโรคอ้วน และหยุดการเพิ่มขึ้นของวิกฤตโรคอ้วนให้ได้
วิกฤตโรคอ้วน
ข้อมูลในปี พ.ศ. 2563 จากสหพันธ์โรคอ้วน (World Obesity Federation) ผู้คนราว 1 พันล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 7 คน กำลังเผชิญกับปัญหาโรคอ้วน สอดคล้องกับรายงาน World Health Statistics 2023 ขององค์การอนามัยโลก รายงานว่า มีผู้ใหญ่ 1.9 พันล้านคน หรือคิดเป็น 39% มีปัญหาน้ำหนักเกินและอ้วน สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าปี พ.ศ. 2566 คนไทยมีปัญหาน้ำหนักเกินและอ้วน 48.35%
ทั้งนี้ อีกกลุ่มวัยที่ไม่ควรละเลย คือ กลุ่มวัยเด็ก เพราะภาวะสุขภาพในวัยเด็กส่งผลต่อภาวะสุขภาพและคุณภาพชีวิตได้เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ตัวอย่างการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Nutrition ในปี พ.ศ. 2566 คาดว่า เด็กและวัยรุ่นที่มีภาวะอ้วนมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนถึง 5 เท่า เมื่อเทียบกันกับเด็กที่ไม่อ้วน โดยเด็กที่มีภาวะอ้วนตั้งแต่ในวัยเรียนนั้น 55% จะพัฒนาไปเป็นวัยรุ่นที่อ้วน และวัยรุ่นที่อ้วนมีโอกาสที่จะพัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนถึง 80% และมีโอกาสถึง 70 % ที่จะเป็นโรคอ้วน ตั้งแต่อายุ 30 ปี เลยทีเดียว โดยจำนวนเด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างมาก องค์การอนามัยโลก แสดงตัวเลขความชุกในเด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน อายุระหว่าง 5-19 ปี จากเดิมที่มีเพียง 4% ในปี พ.ศ. 2518 เป็น 18% หรือกว่า 340 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2559
สำหรับประเทศไทย รายงานจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ในการติดตามเฝ้าระวังภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนในเด็ก เมื่อปี พ.ศ. 2566 เปิดเผยว่า ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี มีความชุกของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนอยู่ที่ 8.98% ในเด็กอายุระหว่าง 6-14 ปี อยู่ที่ 13.68% และในเด็กที่มีอายุ 15-18 ปี อยู่ที่ 13.72%
โรคอ้วนร้ายแรงเช่นเดียวกับโรคอื่น ๆ
คุณหมอแอมป์อธิบายให้ทราบว่า โรคอ้วนมีหลายระยะ เช่นเดียวกับโรคอื่น ๆ เริ่มตั้งแต่ยังไม่มีอาการแสดง จนถึงขั้นพบภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เพราะฉะนั้น การป้องกันไม่ให้อ้วน ย่อมดีกว่าการปล่อยให้อ้วนจนเกิดการเจ็บป่วย
American Association of Clinical Endocrinologists (AACE) ได้กำหนดให้โรคอ้วนมี 3 ระยะหลักด้วยกัน ได้แก่
‘ระยะที่ 0’ หรือ ภาวะที่มีเนื้อเยื่อไขมัน (Adipose tissue) แต่ยังไม่พบภาวะแทรกซ้อนใด
‘ระยะที่ 1’ หรือ ระยะที่มีภาวะแทรกซ้อนระดับน้อยถึงปานกลางที่สัมพันธ์กับโรคอ้วนอย่างน้อย 1 อาการ
‘ระยะที่ 2’ หรือ ระยะที่มีภาวะแทรกซ้อนระดับรุนแรงที่สัมพันธ์กับโรคอ้วนอย่างน้อย 1 อาการ
ปัญหาโรคอ้วนส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งผลกระทบทางสุขภาพขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคอ้วน ได้แก่
• ปัญหาด้านเมตาบอลิก (Metabolic consequences)
พบความผิดปกติต่าง ๆ ที่กระทบต่อ เส้นรอบเอว ความดันโลหิตสูง ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดสูง ภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin Resistance) เพิ่มภาวะการอักเสบในร่างกาย ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่นำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคไตเรื้อรัง, โรคเบาหวานชนิดที่ 2, โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก (Stroke), โรคหลอดเลือดแดงแข็งที่หัวใจ (Atherosclerotic Cardiovascular Disease; ASCVD) ตลอดจนโรคมะเร็ง
• ปัญหาทางเดินอาหารและตับ (Gastrointestinal problems)
โรคอ้วนเป็นสาเหตุหลักของโรคกรดไหลย้อน (GERD) ความเสี่ยงการเกิดโรคนิ่วในถุงน้ำดี (Cholelithiasis) ที่เพิ่มขึ้นจากระดับคอเลสเตอรอลที่สูงขึ้นในน้ำดี โรคถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis) และโรคไขมันพอกตับ (Non-Alcoholic Fatty Liver Disease, NAFLD) ซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคตับแข็งและโรคมะเร็งตับในอนาคต
• ปัญหาทางเดินหายใจ (Respiratory complications)
เมื่อน้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์ ทำให้สมรรถภาพปอดลดลงจนเกิดปัญหาการนอนกรน และหยุดหายใจขณะนอนหลับอันเนื่องมาจากทางเดินหายใจถูกกีดกั้น (Obstructive Sleep Apnea, OSA) ทำให้การนอนไม่มีคุณภาพ มีอาการอ่อนเพลียในเวลากลางวัน ประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง (Productivity losses; absenteeism and presenteeism) หรือ ง่วงขณะขับขี่ยานพาหนะ เพิ่มความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
• ปัญหากระดูกและข้อ (Orthopedic issues)
ผู้มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มักมีอาการปวดกระดูกและกล้ามเนื้อต่าง ๆ เช่น กระดูกสันหลัง สะโพก ข้อเข่า ข้อเท้า ทำให้เคลื่อนไหวไม่คล่องตัว เดินลำบาก และในระยะยาวน้ำหนักที่มากเกินจะกดลงที่กระดูกอ่อน หนึ่งในสาเหตุของอาการข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis)
• ปัญหาสุขภาพใจ (Psychological impact)
โรคอ้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตโดยพบอัตราการเกิดภาวะซึมเศร้า การปลีกตัวออกจากสังคม การมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างน้อยลง ความภาคภูมิใจในตัวเองลดลง จนไม่เชื่อมั่นในตัวเอง เฉื่อยชา และคุณภาพชีวิตลดลง จากการได้รับอคติต่อน้ำหนักตัว (Weight Stigma) บางครั้งอาจเกิดความวิตกกังวล ความเครียดสั่งสมภายในจิตใจ และแสดงออกซึ่งพฤติกรรมเชิงลบออกมา เช่น การบริโภคอาหารมากกว่าปกติ (Binge eating disorder) มีความก้าวร้าว ควบคุมอารมณ์ฉุนเฉียวของตนเองไม่ได้ เป็นต้น
ตัวชี้วัดความอ้วน คือมวลไขมันในร่างกาย
เพื่อให้เข้าใจถึงนิยามของโรคอ้วน คุณหมอแอมป์ได้เล่าย้อนให้ฟังว่า เดิมโรคอ้วนถูกพิจารณาจากค่า ดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index (BMI) โดยคนที่มีน้ำหนักเกินจะมี BMI ตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป และคนอ้วนจะมี BMI ตั้งแต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป แต่แท้จริงแล้ว BMI อาจไม่ใช่เครื่องมือที่แม่นยำมากนัก ในการประเมินภาวะอ้วน เพราะไม่สามารถประเมินองค์ประกอบของร่างกายได้ เช่น บุคคลที่มี BMI เท่ากัน อาจมีสัดส่วนกล้ามเนื้อและไขมันไม่เท่ากัน เช่น นักเพาะกายมีกล้ามเนื้อมากกว่าคนที่ขาดการออกกำลังกาย จึงไม่แนะนำให้ใช้ BMI ในการวินิจฉัยเพียงอย่างเดียว
คุณหมอแอมป์แนะนำว่า ควรใช้เครื่องมืออื่นประกอบด้วย เช่น การวัดเส้นรอบเอว เพราะสามารถบ่งบอกมวลไขมันที่สะสม บริเวณในช่องท้อง (Visceral fat) ซึ่งความเสี่ยงต่อภาวะเมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) โดยเส้นรอบเอวในผู้ใหญ่เพศชายชาวเอเชียไม่ควรเกิน 90 เซนติเมตร (36 นิ้ว) และผู้ใหญ่เพศหญิงชาวเอเชียไม่ควรเกิน 80 เซนติเมตร (32 นิ้ว)
แต่ทางที่ดีที่สุดคุณหมอแอมป์แนะนำว่า การวัดองค์ประกอบร่างกาย ด้วยเครื่อง DEXA (Dual-Energy X-ray Absorptiometry) เพื่อประเมินสัดส่วนไขมันทั้งหมดของร่างกาย เป็นวิธีที่แม่นยำที่สุดในการประเมินโรคอ้วน โดยในกลุ่มวัยกลางคน (อายุ 20–50 ปี) ผู้หญิงไม่ควรมีสัดส่วนไขมันเกิน 32% และผู้ชายไม่ควรเกิน 28%
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอ้วน
ผู้คนมักมองภาพว่า โรคอ้วนเกิดจากการรับประทานอาหารมากเกินไปและขาดการเคลื่อนไหวร่างกาย แต่แท้ที่จริงแล้ว โรคอ้วนมาจากหลายสาเหตุรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นการนอนหลับไม่ดี การทำงานของฮอร์โมนผิดปรกติ การรับประทานยาบางชนิด ไปจนถึงรหัสพันธุกรรมต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกายและระบบควบคุมความหิวความอิ่ม
สาเหตุจากฮอร์โมน
สาเหตุหนึ่งของโรคอ้วนเกิดจากความไม่สมดุลในการควบคุมความหิวและความอิ่มของร่างกาย ซึ่งถูกควบคุมด้วยระบบประสาทและต่อมไร้ท่อ (Neuroendocrine) โดยต่อมไร้ท่อจะสร้างฮอร์โมนส่งสัญญาณไปที่สมอง เพื่อบอกว่า เราควรรับประทานอาหารต่อหรือไม่
ฮอร์โมนที่สำคัญคือ ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ทำให้ร่างกายรู้สึกอิ่ม ฮอร์โมนนี้หลั่งจากเซลล์ไขมัน หากเรานอนพักผ่อนไม่เพียงพอจะส่งผลให้การหลั่งฮอร์โมนเลปตินลดลง ความอยากรับประทานอาหารก็จะเพิ่มมากขึ้น ในผู้ที่เป็นโรคอ้วนจะมีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนเลปติน (Leptin resistance) กล่าวคือ ร่างกายไม่ตอบสนองต่อสัญญาณอิ่มของฮอร์โมนเลปติน ทำให้ไม่รู้สึกอิ่ม และไม่หยุดรับประทานอาหาร
ส่วนฮอร์โมนที่ทำงานตรงกันข้ามกันคือ ฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) หรือฮอร์โมนกระตุ้นความหิว จะหลั่งมากในช่วงก่อนมื้ออาหาร และจะหลั่งลดลงเมื่อเริ่มรับประทานอาหาร ในผู้ที่เป็นโรคอ้วน การหลั่งของฮอร์โมนเกรลินจะมีความผิดปกติคือ แม้จะรับประทานอาหารไปแล้วแต่ระดับของฮอร์โมนเกรลินก็ไม่ลดลง ทำให้ความอยากอาหารไม่ลดลง
• สาเหตุจากพันธุกรรม
หลายครั้งมักพบว่าหากผู้ใหญ่ในครอบครัวมีภาวะอ้วน ลูกหลานก็มักมีภาวะอ้วนด้วยเช่นกัน โดยรหัสพันธุกรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคอ้วน เช่น MC4R, POMC, FTO หรือ Fat Mass and Obesity-Associated Gene เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คุณหมอแอมป์เน้นย้ำว่า รหัสพันธุกรรมไม่ใช่เพียงสาเหตุเดียวของการเกิดโรคอ้วน ปัจจัยที่สำคัญยิ่งกว่าคือ พฤติกรรมการใช้ชีวิต (Lifestyle) เช่น รูปแบบการรับประทานอาหารภายในครอบครัว อย่างเช่น การมีอาหารเต็มโต๊ะทุกมื้อ หรือปริมาณอาหารต่อจานที่ใหญ่เกินไป และลักษณะของอาหารที่รับประทาน เช่น การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ไขมันสูง หรือกลุ่มอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป (เนื้อสัตว์แปรรูป ไส้กรอก กุนเชียง ขนมกรุบกรอบ ขนมขบเคี้ยว อาหารฟาสต์ฟู้ด)
• กระบวนการเหนือพันธุกรรม (Epigenetics)
แม้ว่าปัจจัยภายในอย่างเรื่องของพันธุกรรมหรือยีนเป็นสิ่งที่ติดตัวกับเรามาตั้งแต่เกิดและไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่ในปัจจุบันมีศาสตร์ที่เรียกว่า Epigenetic ซึ่งเป็นการศึกษาการแสดงออกของยีนที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงรหัสทางพันธุกรรม แต่โดนกระตุ้นจาก “พฤติกรรมการใช้ชีวิต” ตัวอย่างเช่น อาหารที่มีไขมันสูง - ลดการทำงานของ PPARγ หรือยีนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของไมโทคอนเดรียในเซลล์ ส่งผลต่อระบบการเผาผลาญของร่างกาย การออกกำลังกาย - เพิ่มการแสดงออกของยีน PGC1α ที่ควบคุมการเผาผลาญพลังงานและการสร้างไมโทคอนเดรีย และการพักผ่อนไม่เพียงพอ - ลดการทำงานของยีน Cry1 และ BMAL1 ที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ในเลือด ความอยากอาหาร เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด และยังส่งผลต่อยีน SCD1 ที่มีส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างและสลายไขมันในร่างกาย ฯลฯ
จะเห็นได้ว่า “พฤติกรรมการใช้ชีวิต” อย่างเช่น การรับประทานอาหารไม่ดี การนอนหลับไม่เพียงพอ และขาดการออกกำลังกาย ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผู้คนมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน
เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้น้ำหนักตัวเพิ่มสูงขึ้น คุณหมอแอมป์ ได้แนะนำแนวทางการดูแลสุขภาพง่าย ๆ เพื่อให้ห่างไกลโรคอ้วน 7 ข้อง่าย ๆ ดังนี้
• เลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ โดยใน 1 จาน ให้เลือกรับประทานผัก 50% อีก 25% เป็นโปรตีนคุณภาพดี เช่น ปลา เต้าหู้ ถั่ว และธัญพืช และ 25% สุดท้ายเป็นข้าวแป้งไม่ขัดสี อย่างเช่น ข้าวกล้อง เป็นต้น
• หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงหรือบริโภคแต่น้อย โดยเฉพาะไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัว เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน หนังสัตว์ เครื่องใน ขนมเค้ก อาหารฟาสต์ฟู้ด ชานมไข่มุก เนื้อสัตว์แปรรูป (Processed meat) อย่างเบคอน ไส้กรอก แฮม แหนม กุนเชียง ไส้อั่ว หมูแผ่น หมูยอ ลูกชิ้น เป็นต้น
• หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของ High Fructose Corn Syrup (HFCS) เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำเชื่อม น้ำผลไม้ แยม ลูกกวาด คุกกี้ ไอศครีม เค้ก พาย เป็นต้น
• ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือ อย่างน้อย 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์
• นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-9 ชั่วโมงทุกวันและควรเข้านอนก่อน 4 ทุ่ม เพื่อให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนได้อย่างเป็นปกติ
• งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่
• ผ่อนคลายความเครียด ด้วยการนั่งสมาธิ เดินจงกรม หรือทำกิจกรรมที่ทำให้สมองสงบ ได้พักผ่อน
โรคอ้วนเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยร่วมกัน จึงต้องอาศัยความร่วมใจกันจากทุกภาคส่วน ทั้งสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา ภาครัฐและเอกชน เพื่อปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมของคนไทยให้ห่างไกลโรคอ้วน
เนื่องในโอกาสวันอ้วนโลกประจำปี พ.ศ. 2567 นี้ ภายใต้แนวคิด ‘Let's Talk About Obesity And.....’ ซึ่งเว้นช่องว่างให้ทุกคนได้เลือกประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการรณรงค์ป้องกันโรคอ้วน หมอจึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยอันตรายของโรคอ้วน “เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงเรื่องของสุขภาพเฉพาะบุคคลเท่านั้น แต่เป็นการลงทุนเพื่อสังคมของเรา มาเริ่มต้นการป้องกันโรคอ้วน เพื่อสร้างสังคมที่บุตรหลานของเราได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่สุขภาพดีไปด้วยกัน” คุณหมอแอมป์กล่าวปิดท้าย