xs
xsm
sm
md
lg

คลินิกแพทย์แผนไทย – กายภาพ "พังงา" พร้อมเฟสสอง 30 บาทรักษาทุกที่ฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สปสช .ลงพื้นที่ “พังงา” เตรียมพร้อมเดินหน้า 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เฟสสอง คลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์-คลินิกกายภาพบำบัด ร่วมให้บริการ หน่วยบริการ ระบุ ช่วยให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเข้าถึงบริการสะดวกขึ้น ใช้บทบาทวิชาชีพร่วมดูแลประชาชน

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และในฐานะประธานคณะทำงานกำกับติดตามประเมินผลโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ และ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพังงา ลงพื้นที่ติดตามการเตรียมความพร้อมของ “หน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่” ตามนโยบาย “ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ระยะที่ 2 ในจังหวัดพังงา โดยเข้าเยี่ยมชมหน่วยบริการฯ 2 แห่งที่ได้เข้าร่วม เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คือที่ หมอไหมคลินิกการแพทย์แผนไทยประยุกต์ และพิสมัยคลินิกกายภาพบำบัด


นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า จากที่ลงพื้นที่มีความประทับใจหน่วยบริการภาคเอกชนในจังหวัดพังงาที่เข้ามาเป็นหน่วยบริการเพื่อยกระดับ 30 บาทฯ แม้เป็นจังหวัดเล็กๆ มีประชากรเพียง 2.7 แสนคน แต่ก็มีหน่วยบริการที่สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก ซึ่งประโยชน์ด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นจะตกกับประชาชนในพื้นที่ เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นและมีความสะดวกมากขึ้น สำหรับหน่วยบริการที่ลังเลเข้าร่วมโครงการฯ นั้น ในส่วนของการจ่ายชดเชยค่าบริการ สปสช. ยืนยันแล้วว่าสามรถจ่ายได้ใน 3 วัน นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ สปสช. เขตพื้นที่ และเจ้าหน้าที่สายด่วน สปสช. 1330 ที่คอยดูแล ตอบข้อซักถามกับหน่วยบริการ

“โครงการฯ นี้ ยังเป็นโอกาสในการแสดงบทบาทวิชาชีพในการรักษาผู้ป่วยให้มีอาการดีขึ้นและมีความภาคภูมิใจนอกจากรายได้ที่ได้เสริมเพิ่มหลังเข้าร่วมโครงการ อย่างไรก็ดีหลังการที่ลงพื้นที่ 8 จังหวัดเพื่อขับเคลื่อนเฟส 2 พบว่า ทุกที่มีหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่มีความพร้อมแล้ว แต่สิ่งที่อยากเน้นย้ำคือขอหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ช่วยกันประชาสัมพันธ์โครงการฯ ให้กับประชาชนในพื้นที่ทราบมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนโครงการฯ ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด" ประธานคณะทำงานติดตามประเมินผลฯ กล่าว


พท.ป.ภัทรภรณ์ พรหมแก้ว แพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบการคลินิกหมอไหมคลินิกการแพทย์แผนไทยประยุกต์ กล่าวว่า ตั้งใจที่จะเข้าร่วมโครงการยกระดับ 30 บาทฯ เพื่อให้ชาวจังหวัดพังงาได้เข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าถึงสิทธิบัตรทอง 30 บาทฯ ที่จำเป็นต้องได้รับบริการนวดแผนไทยในการบำบัดภาวะเจ็บปวดกล้ามเนื้อ การประคบ และการดูแลมารดาหลังคลอดได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยจะมีการหาแพทย์แผนไทยประยุกต์เพิ่มเติมเพื่อเตรียมให้บริการผู้ป่วยสิทธิบัตรทองฯ ตามนโยบายนี้ของรัฐบาล อย่างไรก็ตามยอมรับว่าปัจจุบันการหาแพทย์แผนไทยไม่ง่ายนัก เพราะเป็นวิชาชีพที่ขาดแคลนด้วยเช่นกัน


สำหรับการจ่ายชดเชยค่าบริการกับหน่วยบริการนั้น แม้ว่า สปสช. ยืนยันจ่ายให้หน่วยบริการภายใน 3 วัน แต่ค่าบริการที่จ่ายให้ต่ำกว่าที่เป็นจริง อย่างเช่น นวดสมุนไพรเพื่อรักษาที่ค่าบริการ 300 บาทต่อชั่วโมง แต่จ่ายชดเชยที่ 200 บาทต่อราย ทำให้คลินิกฯ ต้องปรับวิธีการรักษา เช่น อาจนวดไม่ครบชั่วโมง และเน้นไปที่การนวดเพื่อรักษา ไม่เน้นผ่อนคลาย ดังนั้นอยากให้ สปสช. ปรับจำนวนการจ่ายในอยู่ในอัตราที่เหมาะสม


กภ.พิสมัย บัวทอง ผู้ประกอบการพิสมัยคลินิกกายภาพบำบัด อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา อีกหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ กล่าวว่า คลินิกฯ ได้สมัครเข้าร่วมตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2566 ที่มีการประกาศนโยบายฯ เพราะอยากใช้บทบาทหน้าที่นักกายภาพบำบัดเข้ามีส่วนร่วมการรักษาและส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชนในชุมชน นอกจากนี้ยังทำให้ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยสมองได้รับบาดเจ็บ ผู้ป่วยไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ และผู้ป่วยภาวะกระดูกสะโพกหักจากภยันตรายชนิดไม่รุนแรง ที่ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท สามารถรับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพฯ จากคลินิกกายภาพบำบัดได้


ทั้งนี้ หลังจากเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการกายภาพบำบัด โรงพยาบาลพังงาและโรงพยาบาลตะกั่วทุ่งจะส่งผู้ป่วยฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ระยะกลาง (Intermediate care: IMC) มารับบริการกายภาพบำบัดที่คลินิกฯ เกือบทั้งหมดเป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสิทธิบัตรทองจำนวน 25 ราย โดยมีบริการทั้งไปกายภาพบำบัดฟื้นฟูที่บ้านผู้ป่วยที่ติดเตียง หรือนัดหมายผู้ป่วยเข้ามารับกายภาพบำบัดที่คลินิกแทนการไปโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวก และลดภาระงานกายภาพบำบัดฟื้นฟูของโรงพยาบาลได้ด้วย

"คนไข้สิทธิบัตรทอง 30 บาท ที่แต่เดิมก็ต้องจ้างรถไปรับ-ส่งโรงพยาบาลเพื่อกายภาพบำบัด แต่จากการเริ่มบริการก็ทำให้คนไข้ลดค่าใช้จ่าย ลดเวลารอคอยการรับบริการ สามารถเดินทางมาที่คลินิกกายภาพบำบัดเพื่อรับบริการอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือไม่มีค่าใช้จ่าย โดยคลินิกฯ จะเบิกจ่ายค่าบริการกับ สปสช. ตามหลักเกณฑ์บริการฯ ครั้งละ 450 บาท และหากต้องเดินทางไปยังบ้านผู้ป่วยก็จะมีค่าเดินทางอีก 200 บาท ซึ่งเพียงพอสำหรับคลินิกกายภาพบำบัดที่จะให้บริการกับประชาชน" ผู้ประกอบการพิสมัยคลินิกกายภาพบำบัด กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น