xs
xsm
sm
md
lg

จี้เพิกถอนตั๋ว "แพทย์" หลังถูกพักใช้ยังแอบเวียนคลินิกไปทำศัลยกรรม พบเสียหายอีก 3 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"กัน จอมพลัง" จี้แพทยสภาเพิกถอนใบอนุญาต "หมอ" ทำศัลยกรรม "พริตตี้สาว" จนติดเตียง ถูกพักใช้ใบอนุญาต 2 ปี แต่ยังเวียน "คลินิก" ไปให้บริการ พบผู้เสียหายเพิ่มอีก 3 ราย ด้าน สบส.ลั่นรักษษระหว่างพักใช้ใบอนุญาตไม่ได้ ผิด กม. พร้อมสั่งปิด 2 คลินิกใน กทม.-เพชรบุรี หลังแพทย์เจ้าของถูกยื่นล้มละลาย ขาดคุณสมบัติชัด

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือ "กัน จอมพลัง" พร้อมด้วยผู้เสียหายจากการเข้ารับบริการศัลยกรรม 3 ราย เดินทางมายื่นเรื่องร้องเรียนต่อ นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เนื่องจากไม่ได้รับการดูแลเยียวยาผลกระทบจากคลินิกที่ทำหัตถการ


นายกัณฐัศว์ กล่าวว่า จากการช่วยเหลือ "พริตตี้สาว" ติดตามทวงถามความเป็นธรรม หลังได้รับความเสียหายจากการทำศัลยกรรม จนต้องนอนเป็นผู้ป่วยติดเตียง แต่กลับไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา วันนี้มาติดตามความคืบหน้าและประสานไปยังแพทยสภา เพื่อให้เพิกถอนใบอนุญาตของแพทย์ที่ทำให้หัตถการแล้วทำให้เกิดความเสียหาย เพราะพบว่าหลังทำศัลยกรรมแล้วเกิดความเสียหายจนถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต แต่กลับยังมีการรับทำศัลยกรรมและทำให้เกิดความเสียหายในรายอื่นๆ อีก นอกจากนี้ ยังพบว่า เป็นบุคคลล้มละลาย ตั้งแต่ปี 2565 แต่กลับยังเปิดให้บริการคลินิกในปี 2567 กรณีเช่นนี้ ถือว่าทำได้หรือไม่ ยังสามารถประกอบวิชาชีพได้หรือไม่ จึงอยากให้มีการตรวจสอบ หากพบว่าไม่สามารถทำได้ก็จะถือเป็นความผิดและขอให้ดำเนินการให้ถึงที่สุด

นายกัณฐัศว์ กล่าวอีกว่า เมื่อคืนวันที่ 29 ก.พ. มีพี่น้องของตนติดต่อมา โดยแจ้งว่าทางฝั่งคู่กรณีต้องการขอเจอขอคุย อยากจะเอาข้อมูลมาให้กับตน ซึ่งหากเป็นการนำข้อมูลมาให้ ตนยินดีที่จะรับ แต่ต้องอยู่บนจุดเริ่มต้นที่ท่านมีหัวใจที่พร้อมจะเยียวยาผู้เสียหายก่อน แต่หากต้องการคุยกับตนเพื่อให้ตนเงียบเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ไม่ต้องมาคุย ตนทำหน้าที่เพื่อผู้เสียหาย ทำเพื่อผลประโยชน์ของเหยื่อ ไม่ได้มีความเกรงกลัวผู้ใด


ด้านผู้เสียหายชาย อาชีพนายแบบ กล่าวว่า ตนเข้ารับศัลยกรรมตัดกราม โหนกแก้ม ครั้งแรกเมื่อปี 2562 สองรอบ จำได้ว่าแพทย์ท่านนั้นทำด้วยค้อนกับสิ่ว จากนั้นมีรอยยุบลักษณะคล้ายโดนต่อย ตนมีการติดต่อกลับไป 2-3 เดือน ที่ผ่านมาไม่เคยมีการพูดคุยหรือได้รับคำขอโทษจากแพทย์ โดยแพทย์ยืนยันว่าทำดีแล้ว แต่ก็ต้องถามกลับว่า หาทำออกมาแล้วใบหน้ายุบเช่นนี้เรียกว่าทำดีแล้วหรือไม่ ถ้าทำออกมาแล้วเป็นอย่างนี้เรียกว่าทำได้ดี ถึงเอาเงินมาจ้างให้ตนไปทำด้วยก็คงไม่ทำ อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นสั่งให้ชดใช้ 1,115,490 บาท ยังไม่ได้รับแม้แต่บาทเดียว

ด้าน นพ.สุระ กล่าวว่า แพทย์รายนี้เข้าคณะกรรมการเปรียบเทียบคดีของกรมฯ เมื่อ 6-7 เดือนที่แล้ว เพื่อพิจารณาเปรียบเทียบปรับ ขณะเดียวกันก็ถูกแพทยสภาพักใช้ใบอนุญาต ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 - 30 มิ.ย. 2567 จึงไม่สามารถเปิดบริการเป็นหมอได้เวลา 2 ปี ส่วนแพทย์อีกหนึ่งคนเป็นเจ้าของหรือผู้ประกอบการ ถูกแพทยสภาสั่งพักใช้ใบอนุญาต 3 เดือน ซึ่งครบไปแล้ว แต่ก็ทราบว่าศาลได้มีคำสั่งให้ล้มละลาย ทำให้แพทย์เจ้าของไม่สามารถไปเปิดให้บริการคลินิกที่ไหนได้ในฐานะเจ้าของคลินิก เราทราบว่าแพทย์ท่านนี้ไปขออนุญาตเปิดคลินิก 2 แห่ง ที่กรุงเทพฯ 1 แห่ง เพชรบุรี 1 แห่ง ก็จะเข้ากรรมการสถานพยาบาลที่อนุยาตเรื่องการเปิดหรือสั่งปอด พิจารณา มี.ค.นี้ และแจ้งเพชรบุรีดำเนินการสั่งปิดคลินิกนี้ ทั้งนี้ การล้มละลายถือว่าขาดคุณสมบัติในการเปิดคลินิกอยู่แล้ว ถ้าคุณสมบัติไม่ครบไม่สามารถเปิดได้แล้วมาเปิดก็จะมีโทษตามกฎหมาย คือ จำคุก 5 ปี ถือเป็นโทษหนัก เพราะถือเป็นคลินิกเถื่อน ส่วนผู้ที่ร่วมทำหัตถการโดยเฉพาะแพทย์หากไปทำในคลินิกเถื่อนหรือคลินิกที่ไม่อนุญาตให้เปิดก็จะถือว่ามีความผิดเช่นเดียวกัน


เมื่อถามว่าผู้เสียหายให้ข้อมูลว่าแพทย์ผู้ดำเนินการมีการเวียนไปให้บริการในคลินิกหลายแห่ง ลักษณะเช่นนี้สามารถทำได้หรือไม่ นพ. สุระกล่าวว่า หากจะไปดำเนินการที่คลินิกแห่งไหนก็จะต้องขออนุญาตใบ สพ.6 ว่าจะดำเนินการที่คลินิกแห่งไหนบ้าง เพื่อให้คนไข้สามารถตรวจสอบได้ว่าจะมีแพทย์ท่านใดมาให้บริการที่คลินิกนั้นบ้าง หากไม่ยื่นก็จะมีความผิดมีบทลงโทษเช่นเดียวกัน ส่วนกรณีแพทย์ที่ให้บริการพริตตี้สาวกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง ไม่ได้มีการยื่นมา เพราะไม่สามารถทำได้ 2 ปี เนื่องจากแพทยสภาสั่งพักใช้ใบอนุญาตตั้งแต่ 1 ก.ค. 2565 - 30 มิ.ย. 2567 ระหว่างนี้ประกอบวิชาชีพไม่ได้ หากทำก็ผิดกฎหมาย

"สบส.เปรียบเทียบคดีได้เพียงค่าปรับธรรมดา หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี แต่ถ้าเลยกว่านั้นโทษจำคุก มากกว่า 1 ปีขึ้นไปก็จะเป็นโทษในคดีอาญาเป็นโทษทางบ้านเมืองไป การทำให้พิการหรือเสียชีวิตก็เป็นคดีอาญาไป และคดีทางแพ่งผู้เสียหายก็ต้องไปฟ้องทางแพ่ง ว่ามีความเสียหายเท่าไร มีค่าเยียวยาเท่าไร เพราะเรื่องนี้มีกฎหมายเกี่ยวข้องอยู่ 3 ฉบับ ขณะที่ พ.ร.บ.สถานพยาบาลในการปรับน้อยมาก แค่ผิดมาตรฐานส่วนที่เกินจากนี้ ทางตำรวจจะเป็นผู้สั่งดำเนินคดี และขึ้นสู่ชั้นศาล ซึ่งทราบว่าคดีนี้ศาลก็สั่งไปแล้วในคดีแพ่ง" นพ.สุระกล่าว

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า สำหรับคลินิกหากจะรับแพทย์เข้ามาเป็นคู่ทำหัตถการจะต้องมีการตรวจสอบว่า แพทย์ท่านนั้นได้รับอนุญาตจากแพทยสภาหรือไม่ เป็นแพทย์เถื่อนหรือไม่ หากรับโดยพลการโดยไม่มีการตรวจสอบก็จะมีความผิด ในการเอาคนที่ไม่ใช่แพทย์มาทำ มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ไม่ถึงขั้นต้องปิดกิจการ แต่หากเป็นบุคคลล้มละลายก็จะต้องถูกปิดกิจการซึ่งตอนนี้มีอยู่ 2 แห่ง ก็คือที่กรุงเทพฯ 1 แห่งเพชรบุรี 1 แห่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น