จากปัญหายาเสพติดในปัจจุบันที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้ชุมชนและสังคมเกิดความวิตกกังวลกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากพฤติกรรมของผู้ใหญ่มาเป็นแบบอย่างที่ไม่เหมาะสม รวมไปถึงปัจจัยสิ่งแวดล้อมรอบตัว ที่จะทำให้เด็กและเยาวชนเกิดความเสี่ยงในการเสพและขายยาเสพติดได้ง่าย เพราะการไม่เข้าใจถึงความอันตรายที่จะตามมาภายหลัง
จากข้อมูลตัวเลขจำนวนผู้ติดยาเสพติดในประเทศไทยที่มากถึง 1.9 ล้านคน จึงเป็นที่มาของการจับมือครั้งสำคัญ สำหรับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิศูนย์วิชาการยาเสพติด พร้อมด้วยพลังภาคี ฯ ที่ร่วมจัดงานประชุมสัมมนาแกนนำเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อร่วมหาทางออกและพัฒนาแนวทางการปฏิบัติการป้องกันปัญหายาเสพติด โดยใช้ “ชุมชนเป็นฐาน” เพื่อที่จะเชื่อมโยงภาคประชาสังคม วิชาการ และสร้างต้นแบบพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติดในชุมชนทั้งหมด 25 แห่ง ใน 48 จังหวัด โดยมีแกนนำจัดการปัญหายาเสพติด 2,683 คน
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงความตั้งใจหลักของ สสส. บนเวทีประชุมสัมมนาแกนนำเครือข่ายภาคประชาชนไว้ว่า สสส. ต้องการเข้ามาช่วยเหลือ ดูแลและป้องกันปัญหายาเสพติดนี้อย่างจริงจัง ที่สำคัญคือการต่อยอดเรื่องราวไปสู่สังคม ชุมชน เด็กและเยาวชนได้ เพื่อลดปัญหาการติดยาเสพติด ไปจนถึงการลดระดับความรุนแรงก่อนที่จะไปถึงการเป็นผู้ป่วยจิตเวช
“ปัจจุบันสังคมมีอาการป่วยจากปัญหายาเสพติดที่มีความซับซ้อน ซึ่งมีผลมาจากสภาพแวดล้อมด้านครอบครัว ชุมชน และสังคม ที่ส่งผลให้เด็กไม่เห็นถึงความสุขในชีวิตและหาคุณค่าในการใช้ชีวิตของตนเองไม่เจอ จึงเป็นที่มาของการปฏิบัติการป้องกันปัญหายาเสพติด โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ที่จะช่วยกันสร้างและพลักดันให้เด็กและเยาวชน หรือผู้ที่ติดยาเสพติดเหล่านี้ได้เห็นคุณค่าของตนเอง”
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา สสส. สนับสนุนโครงการเครือข่ายภาคประชาชนสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติดและเสริมสร้างชุมชนสุขภาวะ ร่วมขับเคลื่อนงานป้องกันปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่หมู่บ้านชุมชนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ทำให้เกิดพื้นที่ต้นแบบที่สามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากปัญหายาเสพติด 25 แห่ง ใน 48 จังหวัด สามารถปกป้องลูกหลานไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวงจรยาเสพติดได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญทำให้เกิดแกนนำ ซึ่งเป็นกลไกการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งระดับชุมชนหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ภูมิภาค และแกนนำเครือข่าย 5 ภูมิภาค 2,683 คน จากประสบการณ์และบทเรียนการทำงานในพื้นที่ของแกนนำต่าง ๆ นำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้การจัดการปัญหายาเสพติดไปขยายผลสู่พื้นที่ชุมชนอื่น ๆ ได้
สำหรับประเด็นการขับเคลื่อนงานป้องกันยาเสพติดในชุมชน ผ่านการใช้ “ชุมชนเป็นฐาน” นพ.พงศ์เทพ มองว่า หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนต้องมีฐานมาจาก 3 พลังสำคัญ คือ พลังสังคม พลังวิชาการ และพลังนโยบาย
1. พลังสังคม คือ กลไกภาคประชาชน ถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนงาน จึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อให้มีศักยภาพและเท่าทันสถานการณ์ปัญหายาเสพติดที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
2. พลังวิชาการ คือ เครือข่ายวิชาการ เช่น ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) มูลนิธิศูนย์วิชาการยาเสพติด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ต้องพัฒนาข้อมูลเชิงวิชาการ พัฒนาองค์ความรู้ เพื่อนำไปใช้ขยายผลการทำงาน
3.พลังนโยบาย คือ การนำบทเรียนจากการทำงานของกลไกภาคประชาชนและข้อมูลวิชาการ มาพัฒนาสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหายาเสพติดทั้งในระดับพื้นที่และระดับชาติ
“นอกจากนี้ยังต้องบวกปัจจัยอีก 3 ประการ คือ 1. ผู้นำชุนชน 2. ความตื่นตัวและการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ และ 3. การเลือกใช้วิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับภูมิสังคม รวมไปถึงวิถีชีวิตของประชาชน”
“การพัฒนาแนวทางการปฏิบัติการป้องกันปัญหายาเสพติด โดยใช้ “ชุมชนเป็นฐาน” คือการให้หน่วยงานได้จัดกิจกรรมให้กับชุมชน เพื่อสร้างกลไกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล ทั้งวิชาการ กิจกรรม เรียนรู้เชิงประสบการณ์ ได้ลองแก้ไขปัญหา พร้อมสร้างวิธีคิดแล้วนำไปประยุกต์ใช้ได้ เป็นการพัฒนาศักยภาพและสร้างพลังให้กับกลไกเครือข่ายภาคประชาชนในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากปัญหายาเสพติด พัฒนาองค์ความรู้และสร้างพื้นที่ต้นแบบ ร่วมกันหาทางออกจากปัญหายาเสพติดด้วยวิธีการที่มีความสร้างสรรค์ให้กับสังคมไทยและพัฒนาต่อยอดสู่นโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมในสังคมได้” ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ให้ความเห็นทิ้งท้าย
สอดคล้องกับแนวคิดของ ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ประธานมูลนิธิศูนย์วิชาการยาเสพติด และผู้อำนวยการศูนย์วิชาการยาเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มองว่า การแก้ปัญหาสิ่งเสพติดต้องใช้กลไกและอำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพในการติดตามแก้ไขปัญหาที่มีความต่อเนื่อง โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การเปลี่ยนกรอบความคิดของชุมชนที่มีต่อสิ่งเสพติด
ซึ่งโครงการเครือข่ายภาคประชาชนสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติดและเสริมสร้างชุมชนสุขภาวะ สนับสนุนโดย สสส. มีเป้าหมายการทำงานคือ การสร้างพื้นที่ปลอดภัย และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ผ่านกลไกการทำงาน คือ 1. ระบบความสัมพันธ์ที่ดี 2. ใช้ความเข้าใจ เปิดใจการการพูดคุย 3. เป็นการจัดการเชิงบวก 4.พื้นที่การเรียนรู้ที่พัฒนาคนควบคู่ไปกับการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชนในรูปแบบที่สร้างสรรค์ การออกแบบเพื่อยกระดับการเรียนรู้ร่วม ทั้งนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาชุดความรู้จากการถอดบทเรียนการทำงานกับชุมชน เพื่อนำไปใช้ขยายพื้นที่ทำงานทั่วประเทศ ตลอดจนการขยายเป็นพื้นที่ปลอดภัยอย่างสร้างสรรค์
อย่างไรก็ดี แม้จะผ่านการขับเคลื่อนโครงการการลดปัญหายาเสพติดในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงอย่างนั้น ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ ยอมรับว่า การสร้างพื้นที่ปลอดภัยเป็นสิ่งที่ได้ทำได้ยาก แต่เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ ไม่เพียงเพื่อลดปัญหายาเสพติด แต่ยังถือเป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพชุมชนร่วมด้วย
“ใช้แหล่งชุมชนเป็นศูนย์กลาง สร้างความปลอดภัยให้กับเด็กและเยาวชน หรือผู้มีความเสี่ยงในเรื่องของยาเสพติด โดยมีทาง สสส. ที่คอยให้การสนับสนุนชุมชนทั้งด้านการเรียนรู้ การสร้างแนวคิด และการนำไปใช้ให้กับชุมชน ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ให้กับเด็กและเยาวชนที่จะพัฒนาไปในทางที่ถูกต้อง จนเกิดเป็นพื้นที่ปลอดภัย ทำให้สังคมไทยมีศักยภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น” ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ กล่าว
อีกประเด็นที่น่ากังวลที่ ดร.สมคิด แก้วทิพย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้แก่ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างหลากหลาย แต่มีหลักการสำคัญคือ มีพื้นที่ตรงกลางจะต้องเน้นรับฟัง ไม่ตัดสิน ไม่เลือกปฏิบัติ ควรมอบโอกาส และสร้างความเข้าใจให้ชุมชนมากขึ้นมีกลไกที่ช่วยประสาน เชื่อมโยงภายในและภายนอกที่เหมาะสม
ดร.สมคิด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากย้อนกลับในอดีตแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจะเป็นลักษณะ “การใช้อำนาจบังคับ” กล่าวคือ ผู้มีอำนาจทางกฎหมายในการสั่งการตรวจเจอแล้วจับ ขณะที่ชุมชนมองว่า ปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่หากจะแก้ไขต้องแก้ที่ตัวบุคคลมากกว่า ขณะที่แนวทางการทำงานของ สสส. ที่ใช้ “ชุมชนเป็นฐาน” ในการจัดการปัญหายาเสพติดที่รุนแรงขึ้น โดยให้ความสำคัญการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ที่ให้ทุกคนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาและพลักดันชุมชนของตนเองให้ดียิ่งขึ้น
“สิ่งสำคัญที่ทำให้โครงการฯ สำเร็จคือ การเปิดโอกาสให้ชุมชนดำเนินการตามศักยภาพของตัวเอง ทำให้ชุมชนมีอิสระในการดำเนินงานที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ปัจจุบันมีการดำเนินการขับเคลื่อนโครงการฯ ใน 10 พื้นที่ จากเป้าหมาย 13 พื้นที่ พร้อมมีต้นแบบพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติดที่เห็นภาพชัดเจนคือ ที่สะเมิง จ.เชียงใหม่ ที่ใช้ศิลปะในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย หรือเรียกว่า “ศิลปะสื่อสุข” สามารถป้องกันเด็กได้ 40 คน ป้องกันกลุ่มเสี่ยงได้ 30 คน และเปลี่ยนจากผู้เสพให้เลิกได้ 6 คน