"ชลน่าน" เผยผลิตพยาบาล 2 ปีครึ่งแค่ข้อเสนอ ต้องดูรายละเอียดอีก ด้านนายกสภาการพยาบาลแจงควบคุมคุณภาพหลักสูตร 3 ชั้น ทั้งจาก อว. วิชาชีพ และมหา'ลัย เรียนเข้มไม่ต่างจาก 4 ปี แค่เทียบโอนบางรายวิชาได้ หากโอนไม่ได้ต้องเรียนเพิ่ม ย้ำเรียนไม่ต่ำกว่า 2 ปีครึ่งหรืออาจมากกว่า ฝึกปฏิบัติ 36 หน่วย จบแล้วต้องสอบใบประกอบฯ การันตี ย้ำความเป็น "พยาบาล" ไม่ต่างกัน เป็นหลักสูตรเปิดโอกาสคนจบ ป.ตรีแล้วมาต่อยอด
จากกรณีที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เห็นชอบกรณีสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) เสนอโครงการผลิตพยาบาลแบบเร่งด่วน หลักสูตร 2 ปีครึ่ง เริ่มปีการศึกษา 2568 เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนพยาบาล ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงคุณภาพมาตฐานของหลักสูตรจะไม่เท่าการเรียน 4 ปี และอาจไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องของค่าตอบแทนและภาระงาน
พยาบาล 2 ปีครึ่ง สบช.ต้องดูรายละเอียด
เมื่อวันที่ 28 ก.พ. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตอบคำถามสั้นๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า ที่ประชุมผู้บริหาร สธ.แค่เห็นชอบในหลักการ และ สบช.เพิ่งเสนอเข้ามา ยังไม่ได้กำหนดเลย แค่เสนอวิธีแก้ปัญหาว่าวิธีการแบบนี้จะแก้ได้ไหม เขายังต้องไปดูรายละเอียดอีกเยอะเลย
พยาบาล ป.ตรีมี 2 หลักสูตร
ด้าน รศ.ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล ให้สัมภาษณ์ว่า สภาการพยาบาลในฐานะองค์กรวิชาชีพ ทำหน้าที่ควบคุมกำกับมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเพื่อคุ้มครองประชาชน สนับสนุนการผลิตพยาบาลอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐาน ให้มีสมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เช่น พัฒนาพยาบาลวิชาชีพเฉพาะทางและพยาบาลเชี่ยวชาญในระบบ เพื่อรองรับการดูแลความเจ็บป่วยในปัจจุบัน เช่น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) สำหรับการผลิตพยาบาลระดับปริญญาตรี แบ่งเป็น 2 หลักสูตร คือ 1.หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต รับนักศึกษาจากคุณวุฒิประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า จากเดิมที่รับเฉพาะสายวิทย์ ตอนนี้ก็ไม่มีการแบ่งสายแล้ว มีระยะเวลาศึกษา 4 ปี และ 2.หลักสูตรปริญญาตรีทางวิชาชีพการพยาบาล รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่นๆ มีระยะเวลาศึกษาไม่ต่ำกว่า 2 ปี 6 เดือน
คุมคุณภาพหลักสูตร 3 ชั้น
รศ.ดร.สุจิตรากล่าวว่า ทั้งสองหลักสูตรเราดำเนินงานตามมาตรฐานของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เหมือนกัน คือ โดยสถาบันการศึกษาที่จะเปิดหลักสูตรพยาบาล จะต้องนำเสนอหลักสูตรมายังสภาการพยาบาลเพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อน โดยสภาฯ จะดูหลักสูตรว่าต้องแก้ไขปรับปรุงอะไรบ้าง มีจำนวนอาจารย์เท่าไร ซึ่งจะรับจำนวนนักศึกษาได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นกับจำนวนอาจารย์ เมื่อเห็นชอบแล้วก็จะส่งไปยัง อว.พิจารณา แล้วถึงส่งไปยังสภามหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาแห่งนั้นอนุมัติในการเปิด เรียกได้ว่าหลักสูตรพยาบาลที่จะเปิดเราดูแลคุณภาพมาตรฐานถึง 3 ชั้น ทั้งเกณฑ์มาตรฐานของ อว. วิชาชีพ และมาหวิทยาลัย พยาบาลปริญญาตรีที่จบออกมาไม่ว่าที่ไหนก็ต้องผ่านมาตรฐานนี้ทั้งสิ้น
"ที่สำคัญผู้สำเร็จเป็นบัณฑิตสาขาพยาบาลศาสตร์ จะต้องเข้ามาสอบใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งจะทำเป็นระดับประเทศ คือจบมาสอบพร้อมกัน แต่ละรุ่นมีการสอบ 9 พัน - 1 หมื่นคน หลังสอบได้ใบประกอบวิชาชีพก็จะไปทำหน้าที่ผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาล ตรงนี้เป็นการรับประกันคุณภาพอีกชั้นหนึ่ง นอกจากนี้ เรายังมีการกำกับมตรฐานสถาบันการศึกษาด้วย เราจะเข้าไปรับรอง ยิ่งหลักสูตรพยาบาลเปิดใหม่เราต้องเข้าไปรับรองทุกปี" รศ.ดร.สุจิตรากล่าว
พยาบาล 2 ปีครึ่งเปิดแล้ว 4 แห่ง
รศ.ดร.สุจิตรากล่าวว่า ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาที่ผลิตหลักสูตรพยาบาลปริญญาตรี จำนวน 106 แห่งในประเทศไทย รับนักศึกษารวมปีละประมาณ 12,500 คน ถือว่าผลิตได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสถานศึกษามีการเปิดมากขึ้นทุกปี ส่วนการผลิตพยาบาลจากผู้ที่สำเร็จปริญญาตรีสาขาอื่น ปัจจุบันมีประมาณ 4 แห่ง เริ่มเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 จำนวนคนเรียนหลักสูตรนี้มีไม่มากปีแรกประมาณ ไม่เกิน 250 คน ซึ่งหลักสูตรนี้เป็นการเปิดโอกาสให้คนที่เรียนจบปริญญาตรีสาขาอื่นมาต่อยอดหรือเป็นทางเลือกในการไปประกอบอาชีพ ส่วนของสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) เขาก็เสนอหลักสูตรมาให้สภาฯ พิจารณา ซึ่งตั้งเป้าว่าจะเริ่มในปีการศึกษา 2568 ก็ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาหลักสูตรตามเช่นกัน
โครงสร้างหลักสูตรไม่ต่าง 4 ปี
ถามถึงรายละเอียดหลักสูตรพยาบาล 2 ปีครึ่ง มีความเข้มข้นเหมือนหรือแตกต่างจากพยาบาล 4 ปีอย่างไร รศ.ดร.สุจิตรากล่าวว่า ตามข้อบังคับสภาการพยาบาล ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบหลักสูตรการศึกษาวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ระดับวิชาชีพสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่น พ.ศ. 2563 มีการกำหนดรายละเอียดเอาไว้ ซึ่งเราใช้โครงสร้างแบบเดียวกับหลักสูตร 4 ปี จำนวนหน่วยกิตรวมของหลักสูตรไม่น้อยกว่า 120 หน่วยกิต และไม่เกิน 150 หน่วยกิต เพียงแต่เปิดโอกาสให้สามารถเทียบโอนรายวิชาที่เรียนมาแล้วในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป หมวดวิชาเฉพาะ และหมวดวิชาเลือกเสรี ตามแนวปฏิบัติของ อว.และระเบียบการเทียบโอนผลการเรียนของสถาบันการศึกษา ซึ่งบางแห่งอาจเทียบโอนได้มาก บางแห่งเทียบโอนได้น้อย ซึ่งรายวิชาไหนที่เทียบโอนไม่ได้ก็ต้องไปลงเรียนเพิ่ม อย่างวิทยาศาสตร์ทั่วไปถ้าเทียบโอนไม่ได้ก็ต้องมาสอบเรียนเพิ่ม ส่วนที่ต้องเรียนเกี่ยวกับพยาบาลจริงๆ ก็จะมี 2 กลุ่มรายวิชา คือ
1.วิทยาศาสตร์สุขภาพที่สัมพันธ์กับรายวิชาการการพยาบาล ซึ่งจะเรียนแบบบูรณาการ ครอบคลุมเนื้อหาสาระ อาท กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา ชีวเคมี จุลชีววิทยา ปรสิตวิทยา พยาธิวิทยา เภสัชวิทยา ชีวสถิติ จิตวิทยาพัฒนาการตามวัย โภชนศาสตร์ และระบาดวิทยา และ 2.กลุ่มวิชาชีพ รายวิชาเฉพาะสาขาวิชาชีพพยาบาล ทั้งภาคทฤษฎี การเรียนในห้องปฏิบัติการ และภาคปฏิบัติทางการพยาบาล มีเนื้อหาครอบคลุมที่ทำให้เกิดสมรรถนะผู้ประกอบวิชาชีพ และต้องมีการฝึกปฏิบัติงานอย่างน้อย 36 หน่วยตามข้อกำหนดมาตรฐานของ อว. ซึ่งหลักสูตร 2 ปีครึ่งก้ต้องผ่าน 36 หน่วยเช่นกัน
"ดังนั้น จริงๆ แล้วการเรียนหลักสูตรพยาบาลสำหรับผู้ที่จบปริญญาตรีมาแล้ว จริงๆ อาจคืออาจจะต้องเรียนอย่างน้อย 2 ปีครึ่งหรือมากกว่านี้ ขึ้นกับการเทียบโอนรายวิชา หากโอนไม่ได้ก็ต้องเรียนเพิ่ม และการเรียนที่จะต้องผ่านตามมาตรฐาน อย่างฝึกปฏิบัติงานบางแห่งอาจจะกำหนดมากกว่า 36 หน่วยก็ได้" รศ.ดร.สุจิตรากล่าว
เป็นหลักสูตรเปิดโอกาสไปต่อยอด
ถามว่ามีการสื่อสารออกไปว่า เป็นหลักสูตรเร่งรัดเพื่อผลิตพยาบาลแบบเร่งด่วนแก้ปัญหาขาดแคลน แต่จริงๆ หลักสูตรนี้เป็นการเปิดโอกาสให้คนมาเรียน รศ.ดร.สุจิตรากล่าวว่า หลักสูตรพยาบาล 2 ปีครึ่ง เราเปิดโอกาสให้คนมาเรียนต่อยอด เนื่องจากกลุ่มที่มาเรียนนี้ก็คือคนที่สำเร็จปริญญาตรีแล้ว ก็จะมีความรู้ชุดหนึ่งหรืออาจจะไปทำงานมาแล้ว ก็ดูจะมีความเป็นผู้ใหญ่และเป้าหมาย เพื่อนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพ อย่างบางคนแม่เป็นพยาบาลอยู่แล้วเปิดเนอร์สซิ่งโฮม เขาก็มาเรียนต่อพยาบาลเพื่อกลับไปช่วยงานที่บ้าน หรือบางคนจบวิศวะมาต่อพยาบาล ก็ไปต่อยอดทำผลิตภัณฑ์หรือสินค้าเพื่อช่วยดูแลสุขภาพต่อ หรือบางคนก็อยากมาทำงานต่อด้านนี้ ซึ่งจะเห็นว่าช่วยให้มีโอกาสทำงานที่กว้างและไกลมากขึ้น ซึ่งต่างประเทศก็มีการเปิดหลักสูตรเช่นนี้ ก็เป็นทางเลือกที่ อว.ก็เห็นตรงเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้คน และเป็นเทรนด์ของการศึกษา เนื่องจากปัจจุบันเด็กเกิดน้อยลง อุดมศึกษาก็มุ่งไปที่การศึกษาที่รองรับคนวัยทำงานแล้วมาเรียนต่อมากขึ้น
"ตรงนี้เป็นหลักสูตรเปิดโอกาสให้คนที่มุ่งมั่นได้มาเรียนพยาบาล ไม่ได้คำนึงว่าจะต้องผลิตได้มากน้อยเท่าไร หรือต้องเติมคนเข้าระบบ ซึ่งอาจจะเติมได้บ้าง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าต้องมีคนตัดสินใจที่จะมาเรียน ซึ่งแตกต่างจาก ม.ปลายที่สมัครเข้าเรียน เพราะ ม.ปลายที่สมัครเขามาแรงดึงดูดว่าเรียนพยาบาลจบแล้วมีงานทำ 99% นอกจากนี้ หลังจากเปิดหลักสูตร 2 ปีครึ่งมาแล้ว 2 ปี ทำให้คิดว่านี่เป็นโอกาสของประชาชนด้วย จะทำให้ประชาชนได้รับการดูแลจากพยาบาลมากขึ้น" รศ.ดร.สุจิตรากล่าว
รศ.ดร.สุจิตรากล่าวว่า ส่วนเรื่องการแก้ปัญหาความขาดแคลนพยาบาล สภาการพยาบาลเราคำนึงตลอด ซึ่งสัดส่วนพยาบาลต่อประชากรอยู่ที่ 1 ต่อพันกว่ามาตลอดตั้งแต่ปี 2536 ตั้งแต่นั้นเราก้มีการผลิตพยาบาลเพิ่ม ส่วนปัจจุบันเรามีประมาณ 2.5 แสน แต่เราควรมี 3 แสนคน ก็ต้องการอีก 5 หมื่นคน โดยเฉพาะการลงไปอยู่ในระบบสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งบ่ายวันที่ 28 ก.พ.จะมีการหารือกับ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. ถึงข้อเสนอในการดูแลบุคลากรพยาบาลทุกด้าน ทั้งความขาดแคลน ภาระงาน ค่าตอบแทนต่างๆ
2 ปีครึ่ง - 4 ปี ความเป้นพยาบาลเท่ากัน
ถามถึงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเรียนหลักสูตร 2 ปีครึ่ง เหมือนต้องมาสอนงานใหม่หมด เพราะทำอะไรไม่เป็น รศ.ดร.สุจิตรากล่าวว่า ไม่ว่าจะหลักสูตรไหน เมื่อจบพยาบาลออกมา สิ่งที่พยาบาลใหม่ทำได้คือ ตามรายวิชาพื้นฐาน จากห้องแล็บแล้วไปฝึก รพ. อย่างพอไปวอร์ดอายุรกรรม ก็ต้องทำพื้นฐานพยาบาลอายุรกรรม แต่ปัจจุบันคนไข้เราซับซ้อน การมอบหมายงานพยาบาลจบใหม่จึงควรดูแลน้องๆ เชื่อว่าเมื่อเข้าไปทำงาน ทุกหน่วยบริการจะมีการปฐมนิเทศให้เด็กไปดูว่า ที่นี่ทำอะไรบ้าง น้องใหม่ต้องทำอะไรบ้าง เช่น ถูกไปอยู่อายุรกรรม ก็ต้องเวียนดูทุกวอร์ดในอายุรกรรม ไม่ว่าจะหลักสูตร 4 ปี หรืออย่างน้อย 2 ปีครึ่ง จบออกมาแล้ว "ความเป็นพยาบาลเท่ากัน"