xs
xsm
sm
md
lg

นศ.อุเทนฯ กว่า 2.5 พันคนบุกจุฬาฯ เรียกร้อง 9 ข้อ ค้านย้าย จี้หยุดใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตัวแทนศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน สมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย สมาคมผู้ปกครองและครูอุเทนถวาย กว่า 2,500 คน บุกจุฬาฯ ยื่นหนังสือค้านย้ายออกจากพื้นที่ เรียกร้อง 9 ข้อ ออกโฉนดใหม่ยก 21ไร่ ให้เป็นสมบัติแผ่นดิน ใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษา ตั้ง กก. 3 ฝ่ายยุติข้อพิพาท จี้จุฬาฯ หยุดใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ตัวแทนศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน สมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย สมาคมผู้ปกครองและครูอุเทนถวาย กว่า 2,500 คน ได้นัดชุมนุมและเคลื่อนขบวนจากหน้าวิทยาเขตอุเทนถวายไปยังสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อยื่นหนังสือถึงสำนักงานจัดการทรัพย์สินและ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ ขอแสดงความจำนงคัดค้านการย้ายเขตพื้นที่อุเทนถวาย

ผกก.สน.ปทุมวันกล่าวว่า กองบัญชาการตำรวจนครบางจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและน้องเครื่องแบบดูแลรักษาความปลอดภัยตลอดเส้นทางจำนวนหลายร้อยนาย ขณะเดียวกันได้ประสาน สน.ตามเส้นทางที่ขบวนเคลื่อนผ่านให้ช่วยดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด โดยกำชับให้นักศึกษาเดินขบวนอยู่บริเวณริมฟุตปาธเพื่อไม่ให้กีดขวางการจราจร แต่หากมีจำนวนมากก็อาจจำเป็นต้องปิดเส้นทางเดินรถหนึ่งช่องทาง รวมถึงขอความร่วมมือผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเคร่งครัด โดยเตรียมความพร้อมระงับเหตุกรณีเกิดความรุนแรง เนื่องจากเป็นสถาบันที่เคยมีเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทมาก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นเวลา 09.30 น. กลุ่มนักศึกษาได้เคลื่อนตัวออกจากอุเทนถวายมุ่งหน้าไปยังสำนักงานทรัพย์สิน จุฬาฯ โดยมีการถือธงตราสัญลักษณ์อุเทนถวาย พร้อมป้ายข้อความต่างๆ อาทิ อุเทนถวาย โรงเรียนช่างก่อสร้างแห่งแรกของประเทศไทย, ที่ดินของเรา 21 ไร่ เป็นที่ดินเพื่อการศึกษา(ไม่ใช่)เพื่อการพาณิชย์, โรงเรียนข่างก่อสร้างอุเทนถวายอยู่คู่ประวัติศาสตร์ไทยมากว่า 100 ปี เป็นต้น

โดยตลอดเส้นทางมีรถขยายเสียงบอกเล่าประวัติความเป็นมาของอุเทนถวาย รวมถึงมีการตะโกนบอกว่า "ไม่ย้ายออกจากพื้นที่ อุเทนถวายสู้ๆ" ตลอดเส้นทาง

เวลา 10.00 น. กลุ่มนักศึกษาอุเทนถวายเดินทางถึงบริเวณด้านหน้าสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬา ซึ่งมีการปิดประตูทางเข้าและมีรั้วกั้นหน้าประตู โดยตัวแทนนักศึกษากล่าวปราศรัยตอนหนึ่งว่า ปี 2482 มีการโอนที่ดินเป็นของจุฬาฯภายในเวลาเพียงวันเดียว และมีการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ครอบครองในปี 2483 ทั้งที่อุเทนถวายได้รับพระราชทานที่ดินให้ใช้เพื่อการศึกษา ยืนยันว่าอุเทนถวายไม่ได้มีปัญหากับจุฬาฯ แต่มีปัญหากับสำนักงานจัดการทรัพย์สินและผู้บริหารของจุฬาฯเท่านั้น

จากนั้นตัวแทนสโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย พร้อมด้วยตัวแทนศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน นำโดยนายทักษิต เรียบร้อย นายกสโมสรนักศึกษา น.ส.อชิรญา ชุวะนุติ ผู้แทนกรรมการสโมสรนักศึกษา วิทยาเขตอุเทนถวาย พร้อมด้วยตัวแทนนักศึกษาปริญญาโท ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงคัดค้านการย้ายอุเทนถวายและข้อเรียกร้องเพื่อเป็นแนวทางยุติข้อพิพาท โดยมีนายภคทัชช พัศภัคชญช์ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ เป็นผู้รับเรื่อง

น.ส.อชิรญากล่าวว่า ได้เป็นตัวแทนนักศึกษาอุเทนถวายยื่นหนังสือขอแสดงความจำนงคัดค้านการย้ายเขตพื้นที่อุเทนถวายและเสนอข้อเรียกร้องเพื่อเป็นแนวทางยุติข้อพิพาท โดยสรุป ดังนี้ เนื่องด้วยที่ดินพิพาทอันเป็นที่ตั้ง มทร.ตะวันออก เขตพื้นที่อุเทนถวาย อยู่บนพื้นที่เดียวกับจุฬาฯ โดยพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อให้ใช้เฉพาะกิจการการศึกษาของสยาม การเปลี่ยนแปลงนำที่ดินพิพาทไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ที่ทรงอุทิศย่อมมิอาจกระทำได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการยื่นหนังสือไปยังประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา เพื่อทบทวนความชอบด้วยกฎหมายของที่มาแห่งกรรมสิทธิ์ที่ดิน ตาม พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2551 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ไม่ได้สั่งย้ายอุเทนถวาย แต่วินิจฉัยยกฟ้อง เพราะมีข้อเท็จจริงไม่พอรับฟังได้เท่านั้น คณะนักศึกษาปัจจุบันไม่อาจเห็นพ้องด้วยกับการดำเนินการไม่เป็นธรรม ขาดธรรมาภิบาลด้วยการย้ายสถาบันการศึกษา

ดังนั้นสโมสรนักศึกษาขอเรียกร้อง ดังนี้

1.ขอคัดค้านการย้ายอุเทนถวาย และขอให้ธำรงตามพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้เฉพาะกิจการการศึกษาวิชาช่าง โดยมีชื่ออุเทนถวายเช่นเดิม

2.ขอให้ทางสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และคณะผู้บริหาร สำนักงานทรัพย์สิน จุฬาฯ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

3.ขอให้ทางสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และคณะผู้บริหาร สำนักงานทรัพย์สิน จุฬาฯ ยึดหลัก บทบัญญัติใน พ.ร.บ.จุฬาฯ ว่า "ให้จุฬาฯ เพื่อเป็นสถานศึกษาและค้นคว้าในศาสตร์ต่างๆ และเพื่อจะส่งเสริมวิชาชีพชั้นสูง และทำนุบำรุงวัฒนธรรมแห่งชาติสืบไป"

4.ขอให้ทางสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และคณะผู้บริหาร สำนักงานทรัพย์สิน จุฬาฯ ยึดหลักเชิดชูการศึกษาเป็นที่ตั้ง

5.ขอเรียกร้องให้ทางสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และคณะผู้บริหาร สำนักงานทรัพย์สิน จุฬาฯ หยุดปรับเปลี่ยนการพัฒนาพื้นที่ โดยมุ่งเป็นการรักษาและพัฒนาการอยู่ร่วมกันของพื้นที่เพื่อการศึกษาที่ควรเป็นสาธารณสมบัติของชาติ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชน แต่มิควรอ้างแค่เพียงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน

6.ชาวอุเทนถวายได้ทำการร้องขอความเป็นธรรมให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในประเด็นนี้ด้วย อนึ่ง เพื่อเป็นการบรรเทาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชาวอุเทนถวายขอให้สภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และคณะผู้บริหาร สำนักงานทรัพย์สิน จุฬาฯ ทำข้อยุติปัญหาการนำที่ดินพิพาทด้วยการจดทะเบียนโฉนดที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับประชาชนใช้ร่วมกันเป็นที่ตั้งสถานศึกษาเท่านั้น และออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและจัดทำทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ตามกฎหมายกำหนด

7.ขอให้ทำการจารึก พันธสัญญา ข้อตกลงที่จะรักษาและทำนุบำรุงพื้นที่เพื่อการศึกษา ทางด้านวิชาชีพชั้นสูง ในชื่อทางด้านประวัติศาสตร์ "อุเทนถวาย" เพื่อประกาศให้เป็นพื้นที่สาธารณสมบัติ โดยมิอาจเปลี่ยนแปลง ยุบ ย้าย ได้อีกต่อไป ขอให้มุ่งเรื่องนิติธรรมเป็นที่ตั้ง

8.ขอให้มีการออกหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการและปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อเรียกร้อง โดยแต่งตั้งคณะกรรมการทั้งสองฝ่ายในสัดส่วนเท่ากัน มีประธานและคณะกรรมการฝ่ายที่สามที่มาจากบุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นกลางจากรัฐ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางการศึกษา โดยขอให้ระบุกำหนดการแล้วเสร็จอย่างเป็นรูปธรรม

9.กรณีที่ทางสำนักทรัพย์สิน จุฬาฯ ได้ให้ข้อมูลแก่หน่วยงานรัฐ เรื่องอุเทนถวายได้เซ็นข้อตกลงยินยอมคืนพื้นที่และชำระค่าเช่าที่ดิน ทำข้อตกลง วันที่ 11 มีนาคม 2547 จนเป็นเหตุให้เกิดข้อพิพาท นำไปสู่การฟ้องร้องขับไล่ไปที่อัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด ข้องเท็จจริงนั้นสำนักงานทรัพย์สิน จุฬาฯ ไม่เคยชี้แจงเอกสารยกเลิกบันทึกข้อตกลง วันที่ 10 มิถุนายน 2548 ซึ่งนำยื่นโดยนักศึกษากว่า 300 คน

ด้านนายภคทัชชกล่าวว่า สำนักทรัพย์สิน จุฬาฯ รับทราบข้อมูลและเจตนารมณ์ของทางอุเทนถวาย ยินดีนำหนังสือที่ยื่นเสนอให้ผู้บริหารจุฬาฯได้พิจารณาต่อไป

จากนั้นเวลา 11.00 น. ตัวแทนศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันอุเทนถวายเดินเท้าจากสำนักจัดการทรัพยสิน จุฬาฯ ไปยังกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยใช้เส้นทางถนนพญาไท เลี้ยวซ้ายเข้าถนนโยธี เพื่อปักหลักอภิปรายและขอเข้าพบ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรี อว. และส่วนหนึ่งจะเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอคัดค้านเรื่องดังกล่าวต่อไป












กำลังโหลดความคิดเห็น