คิกออฟจัดรถทันตกรรมเคลื่อนที่ดูแลผู้ต้องขัง ประเดิม "เรือนจำแพร่" รองรับยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ทั้งในเรือนจำ/สถานพินิจ ให้บริการสุขภาพช่องปาก ก่อนขยายทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. พล.อ.อ.สุบิน ชิวปรีชา กรมวังผู้ใหญ่ในพระองค์ 904 และคณะกรรมการบริหารมูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุข พร้อมด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายกูเฮง ยาวอฮะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ร่วมเปิดโครงการ “บริการทันตกรรมเคลื่อนที่สำหรับผู้ต้องขัง ภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ที่เรือนจำจังหวัดแพร่ โดยความร่วมมือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ และชมรมรถทันตกรรมเคลื่อนที่แห่งประเทศไทย เพื่อจัดบริการด้านทันตกรรมให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ และในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ
พล.อ.อ.สุบิน กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าด้วยสภาวการณ์ของผู้ต้องขังที่ถูกจำกัดอยู่ในเรือนจำ การเข้ารับบริการด้านสุขภาพจึงไม่สามารถเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลได้เหมือนกับบุคคลภายนอกได้ แต่กลุ่มคนเหล่านี้ยังมีความจำเป็นต้องได้รับบริการสุขภาพ โดยเฉพาะการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ทั้งในด้านการรักษาพยาบาล การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมไปถึงบริการดูแลสุขภาพในช่องปากโครงการนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ต้องขัง จึงขอขอบคุณและชื่นชมความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่ร่วมมือกันภายใต้โครงการนี้ ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เพื่อยกระดับการดูแลสุขภาพให้กับผู้ต้องขังให้ได้รับการรักษาพยาบาลเท่าเทียมกับบุคคลภายนอก และให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า นโยบาย “ 30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” เป็นนโยบายที่ขับเคลื่อนด้วยความยึดถือคุณค่าของมนุษยธรรมและความเท่าเทียมในสุขภาพ ไม่เพียงแต่ลบล้างข้อจำกัดของพื้นที่และสถานะทางสังคม แต่ยังขยายโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพคุณภาพสูงให้แก่ทุกคน โครงการบริการทันตกรรมเคลื่อนที่นี้ ไม่เพียงเป็นการให้บริการทางการแพทย์ที่จำเป็น แต่ยังเป็นทูตแห่งความดีงามที่แสดงให้เห็นว่าในทุกๆ สถานการณ์ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะใด ทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะได้รับ การดูแลสุขภาพที่ดีที่สุด
“เชื่อมั่นว่าโครงการในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี โดยจะขยายผลการให้บริการทันตกรรมเคลื่อนที่สำหรับผู้ต้องขัง ไปยังเรือนจำทัณฑสถาน สถานพินิจเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ซึ่งมีอยู่มากกว่า 100 แห่ง ภายใต้นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” รมว.สาธารณสุข กล่าว
นายกูเฮง กล่าวว่า ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์มีเรือนจำ ทัณฑสถาน และสถานที่กักขัง ในสังกัด 143 แห่ง จากข้อมูลสำรวจทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2567 พบว่าผู้ต้องขังในเรือนจำมีจำนวนทั้งสิ้น 277,813 คน เป็นผู้ต้องขังชาย 244,324 คน และผู้ต้องขังหญิง 33,489 คน ขณะที่เรือนจำจังหวัดแพร่มีผู้ต้องขังจำนวน 1,387 คน เป็นผู้ต้องขังชายจำนวน 1,257 และผู้ต้องขังหญิงจำนวน 130 คน ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์มีนโยบายการดูแลสุขภาพให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำ ภายใต้โครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ ในการพัฒนาระบบสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้ดำเนินการให้ผู้ต้องขังได้รับการดูแลภายใต้สิทธิบัตรทอง 30 บาท ควบคู่กันไปด้วย โดยบริการทันตกรรมเคลื่อนที่สำหรับผู้ต้องขังฯ จะเข้ามามีส่วนช่วยดูแลสุขภาพช่องปากให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำ
ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช. ได้ประสานความร่วมมือกับชมรมรถทันตกรรมเคลื่อนฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำรถทันตกรรมเคลื่อนที่ของหน่วยบริการภายใต้ชมรมจำนวน 13 คัน มาร่วมให้บริการผู้ต้องขัง ในเรือนจำและสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จำนวน 10 แห่ง ใน 4 จังหวัดนำร่อง “ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ฯ” ที่มีผู้ต้องขังจำนวน 9,094 คน เฉพาะที่เรือนจำจังหวัดแพร่ในวันนี้ มีผู้ต้องขังที่ลงทะเบียนเพื่อเข้ารับบริการแล้วกว่า 800 คน โดยจะให้บริการต่อเนื่องเป็นเวลา 9 วัน
ทั้งนี้การให้บริการทันตกรรมผู้ต้องขัง จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ตามสิทธิประโยชน์บัตรทอง คือ กลุ่มสิทธิบัตรทองจะเป็นการดูแลรักษาตามความจำเป็น 6 รายการ ได้แก่ ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน ตรวจสุขภาพช่องปาก เคลือบหลุมร่องฟัน และเคลือบฟลูออไรด์ ส่วนกที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทองจะเป็นบริการให้คำปรึกษาและบริการเคลือบฟลูออไรด์ชนิดเข้มข้นสูงเฉพาะที่ ในกรณีหญิงตั้งครรภ์จะได้รับบริการจส่งเสริมป้องกันและทำความสะอาดฟัน รวมถึงผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปจะได้รับการคัดกรองรอบโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก
“บริการรถทันตกรรมเคลื่อนที่ฯ นี้ได้ช่วยลดข้อจำกัดการเข้าถึงบริการทันตกรรมได้ เพราะสามารถออกให้บริการเชิงรุกไปในพื้นที่ต่างๆ ได้ เช่นในเรือนจำในวันนี้ ทั้งยังช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นได้ โดยหลังจากนี้จะมีการขยายบริการรถทันตกรรมเคลื่อนที่ฯ นี้ต่อไป เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ได้รับบริการโดยทั่วถึง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ขณะที่ นายชุติเดช กล่าวว่า ในนามตัวแทนของชาวจังหงัดแพร่รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เป็นรับเลือกให้เป็น 1 ในจังหวัดนำร่องนโยบายยกระดับ 30 บาทฯ อีกทั้งเรือนจำจังหวัดแพร่ยังเป็นจุดเริ่ม Kick Off การให้บริการทันตกรรมเคลื่อนที่สำหรับผู้ต้องขังด้วย ซึ่งที่จังหวัดแพร่มีประชากรรวมกว่า 4 แสนคน และส่วนใหญ่เป็นสิทธิบัตรทอง 30 บาท ด้วยเหตุนี้โครงการยกระดับ 30 บาทฯ จึงมีประโยชน์สู่ประชาชนชาวแพร่โดยตรง รวมถึงโครงการในวันนี้ด้วย ซึ่งต้องขอบคุณทุกท่านในความร่วมมือที่ทำให้เกิดสิ่งดีๆ ในวันนี้ โดยจังหวัดแพร่พร้อมที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล