xs
xsm
sm
md
lg

ม่วนหลายเด้อ! “หนองบัวลำภู” ฟื้นฟูความสุขของเด็กผ่าน “มหกรรมเล่นอิสระ สร้างสุข Happy Play”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พื้นที่ลานกิจกรรมในสนามฟุตบอลกลางแจ้งภายในโรงเรียนบ้านโนนสวรรค์ชัยมงคล เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและรอยยิ้มสดใสของเด็กหลากหลายช่วงวัย ตอกย้ำให้เราเห็นถึงภาพความสำเร็จของ “มหกรรมเล่นอิสระ สร้างสุข Happy Play หนองบัวลำภู” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ โรงเรียนบ้านโนนสวรรค์ชัยมงคล ต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลําภู อีกหนึ่งโครงการจากพลังขับเคลื่อนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่จับมือเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก จ.หนองบัวลำภู มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา (มยพ.) และภาคีเครือข่าย เปิดพื้นที่ส่วนกลางจัดพื้นที่เล่นอิสระแบบเต็มรูปแบบผ่านหลากหลายกิจกรรม ภายใต้แนวคิด “อะไรก็เล่นได้ ที่ไหนก็เล่นได้” ด้วยการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น

โดยมีภาคีเครือข่ายกว่า 31 พื้นที่เข้าร่วม ประกอบด้วยศูนย์เด็กเล็ก 9 แห่ง โรงเรียน 10 แห่ง ชุมชน 12 แห่ง และมีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 1,700 คน

“มหกรรมเล่นอิสระ สร้างสุข Happy Play หนองบัวลำภู” เป็นหนึ่งในโครงการส่งเสริมการเล่นอิสระ เพื่อเด็ก ครอบครัว และชุมชนใน จ. หนองบัวลำภู ที่เกิดขึ้นจากความต้องการของคนในพื้นที่ที่อยากนำ “การเล่นอิสระ” เข้ามาฟื้นฟูความสุขให้เด็กและเยาวชนหลังเหตุการณ์ความรุนแรง เพื่อหวังบำบัดเยียวยาจิตใจ สร้างพื้นที่ปลอดภัย เสริมทักษะชีวิต ในขณะเดียวกันก็เป็นการดึงเด็กให้ห่างจอโทรศัพท์

มหกรรมฯ ครั้งนี้ ไม่ได้มุ่งเน้นแค่เพียงนันทนาการอย่างเดียว แต่ยังถือเป็นการจุดประกายและพัฒนาครู ผู้ปกครองและครอบครัว หรือแม้กระทั่งผู้อำนวยการเล่น หรือ play worker ให้มีศักยภาพในการส่งเสริมพัฒนาเด็กให้เหมาะสมตามช่วงวัย

ภายในงานยังมีภาคีเครือข่ายอื่น ๆ เข้าร่วม อาทิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู สาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู นายอำเภอนากลาง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองบัวลำภู เขต 2 (สพป.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนสวรรค์ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านท่าอุทัย ผู้นำชุมชนและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ และ ตำบลโนนเมือง อำเภอนากลาง

นายศศิน  พัฒนภิรมย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู
ในโอกาสนี้ นายศศิน พัฒนภิรมย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู มองว่า การเล่นอิสระเป็นธรรมชาติ ความต้องการ และความสุขของเด็ก ซึ่งความสุขคือพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ที่ดีในทุกด้าน ส่งผลให้เกิดพัฒนาการตามวัย พัฒนาทักษะด้านสมอง ทักษะชีวิตและสุขภาพจิตที่ดี ทั่วโลกยอมรับและใช้การเล่นอิสระพัฒนาเด็กทุกวัย นอกจากนี้ การเล่นเป็นสิทธิของเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อที่ 31 และคณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติด้านสิทธิเด็กให้นิยามการเล่นว่า “การเล่นเป็นมิติพื้นฐานที่สำคัญของความสุข ความพึงพอใจในวัยเด็กและเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาทั้งทางกาย สังคม ปัญญา อารมณ์ และจิตวิญญาณ”

“การเล่นอิสระสำคัญไม่เฉพาะกับเด็ก ผู้ใหญ่ก็ต้องการการเล่นผ่อนคลาย อยากเชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครอง และผู้ใหญ่ทุกคน ร่วมกันให้โอกาสเด็กเล่นอิสระ คืนความสุขในวัยเยาว์อย่างแท้จริง มีเวลาเล่นสนุกกับลูกหลานให้เป็นเวลาคุณภาพด้วยกัน จะทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น เป็นวิธีการหนึ่งของการป้องกันและแก้ปัญหาเด็กติดโทรศัพท์ สร้างสมดุลการเรียนรู้ในยุคเทคโนโลยี ที่สำคัญให้เด็กได้ฝึกฝนการสร้างสังคมเล็ก ๆ ที่เป็นสุขด้วยตัวเด็กเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างมีความสุขในอนาคต”

รองผู้ว่าฯ เน้นย้ำว่า พื้นที่ จ.หนองบัวลำภู ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาและการเล่นเสริมกันและกัน โดยเพิ่มการเล่นในเนื้อหาการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กทุกคนเข้าถึงการเล่นอิสระในทุก ๆ วัน ตั้งแต่ระดับปฐมวัย วัยประถม และมัธยม


แล้วการเล่นอิสระ คืออะไร? ว่าด้วยเรื่องของ การเล่นอย่างอิสระ (Free Play) คือ การที่เด็กเล่นอะไรก็ได้ตามความสนใจในขอบเขตของความปลอดภัย ไม่ถูกควบคุมโดยกฎกติกา แค่มีอุปกรณ์ หรือข้าวของรอบตัว แล้วเล่นด้วยกันกับเพื่อนหรือครอบครัว ส่งผลดีหลายอย่างคือ ความสุขเกิดทันทีที่ได้เล่น สลายความเครียดได้ ส่งเสริมการพัฒนาร่างกาย จิตใจ สังคม ปัญญา การจัดการอารมณ์ การควบคุมตัวเอง และหากเด็กได้เล่นเต็มที่ ได้สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ จนสำเร็จ

ยกตัวอย่าง เด็กชอบเล่นก่อปราสาททราย หากจำกัดเวลา เขาอาจทำไม่สำเร็จ แต่หากปล่อยให้มีเวลาเล่นอิสระเต็มที่ เขาจะสามารถใช้เวลาก่อปราสาททราย อาจจะทำล้ม แล้วก่อใหม่อีกหลายครั้งจนสำเร็จ ทำให้ได้เรียนรู้ว่าหากล้มเหลว ยังสามารถเริ่มใหม่ได้ สร้างนิสัยล้มแล้วลุกไวไปต่อได้ ที่สำคัญยังทำให้เด็กห่างหน้าจอ เพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างเด็ก-ผู้ใหญ่ ลดช่องระหว่างวัยในครอบครัวที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน

ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งเห็นประโยชน์ของการเล่นอิสระได้ชัดเจน แม้เด็กถูกจำกัดพื้นที่ แต่หากมีชั่วโมงเล่นอิสระทุกวัน ก็สามารถสลายความเครียดและมีพัฒนาการตามวัยได้ดี

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.
“จากข้อมูลวิชาการทั่วโลกและไทยสนับสนุนว่า การเล่นอิสระช่วยสร้างความสามารถในการกำกับควบคุมพฤติกรรมตัวเอง เด็กที่เติบโตโดยได้เล่นอิสระทุกวันจะมีความสามารถนี้มากกว่าเด็กที่โตมาแบบขาดโอกาส หากอยากได้เด็กที่มีวินัยและสามารถควบคุมพฤติกรรมตัวเองได้ดี ซึ่งควรส่งเสริมเด็กทุกคน”

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวแสดงความยินดีและภาพรวมของงานไว้ว่า “มหกรรมเล่นอิสระสร้างสุข Happy Play หนองบัวลำภู” ได้ภาคีเครือข่ายที่นำกิจกรรมและไอเดียดี ๆ มาเปิดเป็นพื้นที่เล่นอิสระกว่า 60 มุมเล่น อาทิ มุมเล่นแบบภูมิปัญหาชาวบ้านจากศพด.โนนผักหวาน โดยนำ ‘กำหมุน’ ของเล่นโบราณนำมาถ่ายทอดความรู้สู่เด็กรุ่นใหม่ เปิดมุมเล่นสร้างเสริมจินตนาการ บทบาทสมมติการฝึกดูแลผู้อื่น ฝึกค้าขาย และพัฒนาทักษะด้านดนตรีจากอุปกรณ์ทำเองจากศพด.วัดศรีพัฒนาราม กิจกรรมฝึกทำว่าวจากโรงเรียนท่าอุทัย ด้านชุมชนหนองกุงศรี นำกิจกรรมการฝึกทำขนมเทียนเข้าร่วม ส่วนกิจกรรมการทำขนมบัวลอยมาจากชุมชนโนนสวรรค์

“วันนี้อยากมาแสดงความชื่นชมแล้วก็ยินดีกับชาวหนองบัวลำภูที่ได้มีงานมหกรรมเล่นอิสระ สร้างสุข Happy Play หนองบัวลำภู ซึ่งถือว่าเป็นจังหวัดแรกในประเทศไทยที่มีงานแบบนี้ขึ้น ผ่านมาหนึ่งปีแม้จะเกิดเหตุการณ์ที่ทุกคนไม่สบายใจ แต่หลังจากนั้นก็ได้เกิดสิ่งดี ๆ ขึ้นมา กิจกรรมการเล่นอิสระที่ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน หย่อมบ้าน ชุมชน ได้พาเอาทุกคนออกจากบ้านมาร่วมกิจกรรม สนุกสนานด้วยกัน ทำให้เราได้เห็นภาพของเหล่าผู้ปกครอง ภาพของเด็กโตชวนน้องเด็กเล็กเล่น ซึ่งช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน”

“เราคิดว่า การที่เราเอาเรื่องการเล่นอิสระเข้ามาในพื้นที่มันเป็นการสร้างทางเลือกมากกว่า คำถามที่ว่า ไม่ให้เล่นมือถือ แล้วจะให้เล่นอะไร? นี่แหละ เราอยากให้มาดูงานวันนี้ ไอเดียเยอะมากเลย ซึ่งผู้ปกครองหลายคนที่มางานวันนี้ พอไปถามเขา เขาก็บอกว่า ดีมากเลย เพราะตั้งแต่มีกิจกรรมแบบนี้ เด็กติดมือถือน้อยลง เด็กบางบ้านไม่สนใจมือถือเลย”

“สิ่งที่ได้จากการพูดคุยกับผู้ปกครองหลายคนให้ข้อมูลไปในทางเดียวกัน ซึ่งน่าดีใจมาก คุณตาคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า อยากให้มีกิจกรรมแบบนี้ทุกพื้นที่ อย่างหลานตนเองมีความสุขที่ได้ทำกิจกรรมกับเพื่อน อยากออกมาเล่นกับเพื่อนของเขามากกว่าการเล่นมือถือ” น.ส.ณัฐยา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันปัญหาการติดจอถือว่า เป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ของเด็กไทยทุกกลุ่มวัย บางข้อมูลชี้ชัดว่า เวลาที่เด็กใช้กับหน้าจออาจมากถึง 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ทั้งนี้ ปัจจัยสภาพแวดล้อมในครอบครัวก็มีบทบาทในการสร้างปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ปกครองบางบ้านที่มีความเชื่อผิด ๆ ว่า การให้เด็กเล่นหน้าจอมีประโยชน์ เนื่องจากเชื่อว่า เด็กต้องเรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อปรับตัวกับยุคใหม่ หรือบางครอบครัวต้องใช้เวลาไปกับการทำงานหารายได้เลี้ยงครอบครัว ซึ่งใช้หน้าจอเข้ามาอยู่เป็นเพื่อนของเด็กแทน

อย่างไรก็ดี น.ส.ณัฐยาให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า อายุที่เหมาะสมต่อการดูจอคืออายุตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป โดยเวลาที่เหมาะสมคือ 15 นาทีต่อวัน และต้องมีผู้ใหญ่ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งการที่จะมีโทรศัพท์มือถือเป็นของตนเองก่อนช่วงวัยรุ่นถือเป็นสิ่งที่ไม่แนะนำเด็ดขาด


งานมหกรรมฯ ครั้งนี้ในฐานะผู้ขับเคลื่อนตั้งแต่ต้น สสส. เข้ามาสนับสนุนการฝึกอบรมและพัฒนา play worker ให้กับครู ผู้ดูแลเด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชน นอกจากนั้นยังสนับสนุนงบประมาณตั้งต้นไปที่โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ชุมชน เพื่อการพัฒนาพื้นที่เล่นอิสระ ตลอดจนสนับสนุนการรวมตัวซึ่งถือเป็นการขยายโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้ามาเรียนรู้

“ต้องบอกว่า จุดที่ยากที่สุดของพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู คือมีหน่วยงานที่เรียกว่า องค์กรภาคประชาสังคมที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนค่อนข้างน้อย หรือแทบจะหาไม่เจอเลย ต้องพูดตรง ๆ นะ อย่างในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง เราใช้วิธีระดมความร่วมมือจากภาคี สสส. เครือข่ายจังหวัดรอบ ๆ ที่จะเข้ามาช่วยกัน รวมทั้งภาคีเครือข่ายที่อยากเข้ามาทำงานเรื่องนี้ โดยเป็นการเข้ามาอาศัยในพื้นที่ เช่าบ้านเพื่อฝึกอบรมให้กับคุณครูและชุมชน ซึ่งแม้จะผ่านมาร่วมหนึ่งปี เราก็ยังอยู่ในพื้นที่ตลอด นอกจากนั้นยังมีการจัดกิจกรรมเพื่อให้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กมีพื้นที่คลายความเครียดควบคู่ไปด้วย”

“ตอนนี้ปัญหาอุปสรรคเรื่องคนทำงานน้อยลงเพราะว่า มีการถ่ายทอดความรู้เรื่อง play worker ให้กับคุณครูและชุมชนแล้ว ซึ่งคนเหล่านั้นสามารถเป็นเทรนเนอร์ส่งต่อให้คนอื่นได้ หลังจากนี้กลุ่มเครือข่ายโรงเรียนในอำเภอใดมีความพร้อม อยากเรียนรู้และลองไปทำในพื้นที่ เราก็คงมีการประชุมและขยายผลต่อไป”ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าว


ทั้งนี้ สสส. ตั้งเป้ายกระดับขับเคลื่อนการเล่นอิสระใน 5 มิติ 1. พัฒนาหลักสูตร play worker ให้เป็นมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ 2.ขยายผลร่วมกับกรมอนามัยและกรมสุขภาพจิต 3. จัดทำระบบฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเด็กให้เข้าใจการเล่นอิสระครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศ 4. ผลักดันการเล่นอิสระให้แทรกในหลักสูตรการเรียนการสอน ด้วยแนวทาง “เล่น-เรียน-รู้” (Play-Based Learning) ซึ่งสอดคล้องกับพัฒนาการเด็ก ไม่ใช่การเร่งเรียนเขียนอ่าน 4. ส่งเสริมการเล่นอิสระทุกครอบครัว เพื่อให้เด็กเล่นอิสระได้ทุกวันไม่ว่าอยู่ที่ใด ซึ่งเชื่อว่า จะเป็นรากฐานสำคัญให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่มีคุณภาพและมีสุขภาวะที่ดี

“เราอยากได้เด็กที่เติบโตอย่างสุขภาพดี เราอยากได้วัยรุ่นที่เติบโตโดยไม่ต้องหลงไปกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เราอยากได้ผู้ใหญ่ที่สุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs (non-communicable diseases) เราอยากได้สังคมแบบนี้ ดังนั้น เราต้องเริ่มลงมือทำที่ตัวเรา ในนามของ สสส. พวกเรายินดีและมีความพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งกับทุกท่าน และทำให้เด็กทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยได้มีโอกาสได้เล่นกันอย่างอิสระ มีโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาตัวเองตามธรรมชาติสอดคล้องกับช่วงวัยของเขา เพื่อให้เขาได้เติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ แล้วพาพวกเราก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบไม่ต้องกังวลใจเพราะเรามีพลเมืองที่มีคุณภาพ คอยช่วยดูแลเราอยู่” น.ส.ณัฐยา กล่าว

นายนิคม บุญเรืองศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโนนสวรรค์ชัยมงคล
ภาพความสำเร็จในวันนี้ที่เกิดขึ้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญเกิดขึ้นได้เพราะความเข้มแข็งของชุมชนคนอุทัยสวรรค์ หากย้อนกลับไปเมื่อตุลาคม 2565 หนึ่งอำเภอเล็ก ๆ ใน จ.หนองบัวลำภู ต้องเผชิญกับความสูญเสียครั้งสำคัญและร้ายแรงที่สุดอีกหนึ่งเหตุการณ์ของประเทศไทย เมื่อพื้นที่ที่พวกเขาเรียกว่า โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะต่อสภาพจิตใจของเด็กในพื้นที่

“แล้วเราจะทำอย่างไรกันต่อ…” นั่นคือสิ่งที่ชาวบ้านและนายนิคม บุญเรืองศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโนนสวรรค์ชัยมงคล หนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ตั้งคำถามร่วมกัน

“สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในศูนย์เด็กเล็กแห่งหนึ่งใน ต.อุทัยสวรรค์ ซึ่งส่งผลให้คนในพื้นที่โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนมีความวิตกกังวล หวาดกลัว ก่อนที่ สสส. กรมสุขภาพจิตจะลงพื้นที่ ซึ่งในการลงพื้นที่ครั้งนั้น ผมก็ได้มีโอกาสเข้าหารือเสนอแนวความคิดวิธีเยียวยาสภาพจิตใจเด็กแต่ละคนในพื้นที่ว่า ต้องทำอย่างไร เพื่อช่วยให้เด็กมีกำลังขึ้น ซึ่งก็เลยเกิดเป็นโครงการ “Happy play หนองบัวลำภู” ขึ้นมาก่อน เราเลือกการเล่นอิสระเข้ามาทดลองเพื่อให้เด็กคลายความกังวล และมีการประเมินตลอดว่า เด็กมีความสุขขึ้นจริงไหมหรือสามารถลืมเหตุการณ์เหล่านั้นได้ไหม”

หลังจากขับเคลื่อนโครงการฯ ร่วมหนึ่งภาคเรียน ฟื้นฟูเด็กและเยาวชนก้าวผ่านความกลัว ขั้นตอนต่อไปคือการสานต่อความสำเร็จจนเป็นที่มาของ “มหกรรมเล่นอิสระ Happy Play หนองบัวลำภู” ในครั้งนี้ ผอ.โรงเรียนบ้านโนนสวรรค์ชัยมงคล เล่าให้ฟังว่า มหกรรมฯ ครั้งนี้มาจากแนวคิดง่าย ๆ บ้าน ๆ อย่างการเยี่ยมบ้านเพื่อน แทนที่จะไปตามโรงเรียนต่าง ๆ ก็เอาทุกเครือข่ายมารวมกัน โดยมีโรงเรียนบ้านโนนสวรรค์ชัยมงคลเป็นพื้นที่กลางและจัดให้เป็นครั้งแรกของ จ. หนองบัวลำภู อีกทั้งยังเป็นการทำให้พื้นที่อื่น ๆ ได้รับรู้ด้วยว่า การเล่นอิสระส่งผลดีต่อเด็กได้


ปัจจุบันโครงการฯ มีพื้นที่ดำเนินการครอบคลุมทั้งในพื้นที่ ต.ท่าอุทัย ต.โนนเมือง อ.นากลาง และเทศบาลนามะเฟือง ต.โนนขมิ้น อ.เมือง พัฒนาพื้นที่นำร่องส่งเสริมการเล่นอิสระในโรงเรียนและ ศพด. สู่ครอบครัว 19 พื้นที่นำร่อง พื้นที่เล่นกลางของชุมชน 1 หมู่บ้าน และพื้นที่เล่นในหย่อมบ้านช่วงปิดเทอม 12 หมู่บ้าน มีผู้อำนวยการเล่นกว่า 120 คน โดยเป็นการบูรณาการการเล่นอิสระเข้ากับกิจกรรมสร้างประสบการณ์เรียนรู้ของ ศพด. บรรจุลงชั่วโมงเล่น วันเล่น (play day) ในแผนการเรียนการสอนของโรงเรียน การดำเนินงานทุกกระบวนการมีคณะผู้บริหารสถานศึกษาและคณะผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่น/เทศบาล เป็นผู้นำทีม (Core Team) ช่วยมองแนวทาง วางแผน และขับเคลื่อนงานอย่างเป็นยุทธศาสตร์ จนทำให้เกิดเป็นเครือข่าย Happy Play หนองบัวลำภู

“ในส่วนของโรงเรียนบ้านโนนสวรรค์ชัยมงคลจัดเป็น 2 รูปแบบ แบบที่ 1 คือ ชั่วโมงการเล่นต่อวัน อาจแบ่งเป็นการเล่นในชั่วโมงเรียน เวลาพัก เวลาก่อนกลับบ้าน หรือหลังเลิกเรียน ส่วนแบบที่ 2 คือจัดเป็น Play Day แบบเต็มวัน ปล่อยเด็กอิสระให้เขาเล่นได้เลยเต็มที่ แต่งตัวตามสบาย ไม่ต้องใส่ชุดนักเรียนและสามารถนำผู้ปกครองมาเล่นด้วยได้ มาทำกิจกรรมร่วมกันกับเด็ก ซึ่งก็ทำให้เราเห็นว่า มันมีความสัมพันธ์ภาพระหว่างเด็กและครู ตลอดจนเด็กและผู้ปกครองด้วย ซึ่งชุมชนเราเด็กส่วนใหญ่จะอยู่กับปู่ย่าตายาย ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ซึ่งคนแก่บางทีเขาก็ไม่เข้าใจเด็กแต่พอเราจัดกิจกรรมปุ๊บ คนแก่เขาก็เหมือนได้ย้อนวัยเด็กของเขาด้วยเหมือนกัน เขามีสิ่งต่าง ๆ มาให้เด็กได้เล่น มีความสุขที่ได้เห็นลูกหลานเขามีความสุข”

เมื่อถามถึงความสำเร็จในการจัดงานครั้งแรก ผอ.นิคม ให้คำตอบว่า “ครั้งแรกในการจัดงานถือว่า เกินคาดมาก เพราะตอนแรกเราตั้งเป้าหมายไว้ว่า ก็คงจะมีเฉพาะเครือข่ายของเราที่มา แต่ว่าวันนี้เห็นชุมชนเข้ามาร่วมแทบจะทุกชุมชนในอุทัยสวรรค์บ้าง โนนเมืองบ้าง แม้แต่อำเภอเมืองก็มาหมด แล้วก็มีผู้สนับสนุนหลาย ๆ หน่วยงานที่เข้าร่วม เชื่อได้ว่า ในอนาคตเราจะสามารถขยายมุมกว้างได้มากกว่านี้ และคิดว่า หนองบัวลำภูของเราคงจะเป็นจุดนำร่องได้เป็นอย่างดี”

คุณครูรุ่งทิวา บรรเทา ครูโรงเรียนบ้านท่าอุทัย
“ต้องบอกว่าเด็ก ๆ เขาก็เล่นตามธรรมชาติของเขาอยู่แล้ว แต่ตอนแรกกลับเป็นครูอย่างเราเสียเองที่ยังมองไม่เห็นความสำคัญว่า การเล่นมันสำคัญกับเด็กอย่างไร เพราะว่าเราเป็นครู เราก็ต้องให้ความสำคัญกับการเรียนใช่ไหม แต่พอมี สสส. และเล่นเปลี่ยนโลกเข้ามา มันไม่ได้เปลี่ยนแค่เด็กแต่เปลี่ยนตัวครูเองด้วย เราได้เห็นความสำคัญของการเล่น ทีนี้เลยมาประยุกต์ว่า ทำอย่างไรเด็กจะมีความสุขในการเรียน เราก็เลยนำการเล่นมาประยุกต์กับกิจกรรมการเรียนการสอน”

ความน่าสนใจของโรงเรียนบ้านท่าอุทัย ต.อุทัยสวรรค์ คือนำการเล่นอิสระมาบูรณาการร่วมกับการสอนอย่างจริงจัง คุณครูรุ่งทิวา บรรเทา หนึ่งในตัวแทนครูโรงเรียนบ้านท่าอุทัย เล่าให้ฟังระหว่างการลงพื้นที่ว่า ปัจจุบันโรงเรียนบ้านท่าอุทัยมีการดำเนินการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยมีการจัดพื้นที่เล่นอิสระภายใต้แนวคิด 4Play ประกอบด้วย 1.Play Day กิจกรรมใหญ่ของโรงเรียน โดยนักเรียนทุกคนจะได้เล่นรวมกัน แบ่งกลุ่มคละชั้นเรียน มีรุ่นพี่คอยดูแลรุ่นน้อง โดยส่วนมากจะเป็นกิจกรรมกลุ่ม อาทิ กิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน วิ่งกระสอบ กินวิบาก 2.Play Station หรือสถานีการเล่น พื้นที่สนามเด็กเล่นที่โรงเรียนซึ่งเป็นงบการสนับสนุนจาก สสส. 3.Play Hour หรือชั่วโมงเล่น โดยจะจัดพื้นที่เล่นอิสระไว้หลังห้องเรียน เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนมีแรงจูงใจในการเรียน ส่งเสริมบรรยากาศในชั้นเรียน และ 4.Play Share ใช้กับทุกชั่วโมงสุดท้ายในแต่ละวัน เพื่อให้นักเรียนนำมุมเล่นของตนเองมารวมกันใต้อาคารเรียน เพื่อให้แลกเปลี่ยนมุมเล่นของกันและกัน


ระหว่างนั้น คุณครูรุ่งทิวายกตัวอย่างการสอนให้เราเห็นภาพง่าย ๆ ว่า ในชั่วโมงการสอน ตนก็จะเลือกสิ่งที่นักเรียนชอบเล่นมาประยุกต์เข้าด้วยกัน เช่น เด็กนักเรียนชอบเล่นบทบาทสมมุติ ตนก็นำบทบาทสมมติมาใช้ในการเรียนการสอนเขา หรือชอบการวิ่งไล่จับก็จะมีเกมวิ่งไล่จับแทรกกับการเรียน ซึ่งเมื่อมีโอกาสได้นำเสนอผลงานวิจัยด้านนวัตกรรมการเรียนก็ได้รับรางวัลระดับดี ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลับมาอีกด้วย

โดยปัจจุบันคุณครูรุ่งทิวาสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 - ประถมศึกษาปีที่ 6

“สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือเรื่องของสุขภาพจิต เด็ก ๆ มีความสุขขึ้นมาก อีกอย่างคือเขาจะเริ่มรู้จักแบ่งเวลา ปกติไม่ว่าจะเรียน จะเล่น เขาก็จะทำร่วมกันไป เรียนอยู่ เขาก็ยังเล่น ทีนี้พอเรามาแบ่งเวลาเป็นสัดส่วนมันทำให้เขารู้สึกว่า เวลานี้เขาควรเรียนแล้วเวลานี้เขาจะได้เล่น มันทำให้เขาสามารถจัดการกับตัวเองได้”

“ส่วนสิ่งที่คนเป็นครูอย่างเราได้รับก็คือเรามองเห็นถึงความแตกต่างของนักเรียนแต่ละคน นักเรียนบางคนเวลาเรียนในห้องก็จะไม่พูด ไม่จา ไม่แสดงออกอะไร แต่พอได้เห็นเขาเล่นกับเพื่อน เขาสามารถแสดงออกถึงศักยภาพของเขาได้อย่างเต็มที่ นักเรียนบางคนจากที่ไม่มีความกล้าแสดงออก แต่พอเราจัดลานเล่นให้เขาคือเห็นชัดว่า เขากล้าแสดงออกมากขึ้น บางคนเราก็เห็นฝีมือการแต่งหน้าของเขา บางคนสามารถที่จะทำชิ้นงานออกแบบงานศิลปะได้อย่างสวยงาม ซึ่งนั่นทำให้เรามองเห็นถึงความสามารถและศักยภาพในตัวเด็กนักเรียน เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมให้ถูกทางต่อไป”


“หลังจากนี้สิ่งที่คนเป็นครูอยากเห็นมากที่สุดคืออะไร” เราทิ้งคำถามสุดท้าย

“ในอนาคตก็อยากเห็นคุณครูทุกคนนำกิจกรรมเล่นอิสระไปแทรกกับบทเรียน เพราะตอนนี้ก็อาจเป็นส่วนน้อยอยู่ แต่เชื่อได้ว่า ถ้าเกิดทำไปเรื่อย ๆ เราจะเริ่มเห็นพัฒนาการของเด็กอย่างแน่นอน อีกหนึ่งอย่างคืออยากให้มีการขยายผลไปพื้นที่อื่น ๆ ไม่ใช่เพียงแค่อยู่ในกลุ่มโซนที่ประสบปัญหาด้วยกัน หรือไม่ใช่แค่เพียงในช่วงที่เด็กกำลังเจอปัญหาหรือตกอยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติ เราในฐานะครูก็อยากเห็นเด็กทุกคนได้มีโอกาสได้เล่นอย่างอิสระและเท่าเทียม” คุณครูรุ่งทิวา ฝากทิ้งท้าย

โดยเร็ว ๆ นี้ สสส. เตรียมเปิดอบรมหลักสูตรการเป็นผู้อำนวยการเล่น (play worker) ออนไลน์ พร้อมด้วยแพลตฟอร์มรวบรวมกิจกรรมและพื้นที่เล่นอิสระในแต่ละจังหวัด เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปเรียนรู้และอบรมได้ด้วยตนเอง ตลอดจนศึกษาดูงานเพื่อนำไปสู่การจัดสรรพื้นที่เล่นอิสระให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ตนเองต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น