บอร์ด สปสช. เคาะเดินหน้าเฟสสอง 30 บาทรักษาทุกที่ฯ หลังเฟสแรกสำเร็จตามเป้า เตรียมพร้อมเริ่ม 1 มี.ค. 67 สปสช. ลงพื้นที่เดินหน้าเชิญชวนหน่วยบริการนวัตกรรมเข้าร่วม เผย 8 จังหวัด สมัครเข้าร่วมให้บริการแล้ว 451 แห่ง
เมื่อวันที่ 22 ก.พ. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า การประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา มีวาระการประชุมเรื่อง “การขยายพื้นที่ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ในระยะที่ 2” ได้มีการรับทราบผลการดำเนินการนโยบายในระยะที่ 1 พร้อมทั้งมีมติเห็นชอบให้ขยายพื้นที่ขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวต่อตามนโยบายรัฐบาล และร่างประกาศฯ เรื่องการดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่ 4 จังหวัด นำร่องนโนบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ระยะที่ 1 ในส่วนที่เป็นบทบาทของ สปสช. ค่อนข้างประสบความสำเร็จในการสร้างระบบนิเวศการให้บริการภายใต้นโยบาย โดยมีหน่วยนวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ เช่น คลินิกทันตกรรม คลินิกเวชกรรม ร้านยา ฯลฯ ที่มาเข้าร่วมให้บริการเพิ่มขึ้นถึง 541 แห่ง เกินจากเป้าหมายที่วางไว้ที่ 478 แห่ง ซึ่งช่วยให้ประชาชนมีหน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้านใกล้ใจมากขึ้น รวมถึงการเชื่อมข้อมูลทุกระบบเพื่อการเบิกจ่ายในทุกหน่วยบริการ การใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการตรวจสอบก่อนจ่ายให้หน่วยบริการ และการใช้ระบบการแสดงตนยืนยันสิทธิหลังสิ้นสุดบริการ เหล่านี้ทำให้หน่วยบริการใน 4 จังหวัดนำร่องกว่า 70% ได้รับค่าบริการจาก สปสช. ภายใน 3 วัน ตามเป้าหมายที่วางไว้ และป้องกันการซ้ำซ้อนของข้อมูลได้อย่างดี โดยข้อมูลจากวันที่ 7 ม.ค. – 17 ก.พ. 2567 สปสช. จ่ายค่าบริการให้กับหน่วยบริการแล้วถึง 71,556,068 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบกำกับติดตามกระบวนการ เพื่อป้องกันการรับบริการซ้ำซ้อนภายในวันเดียวกัน หรือที่หลายคนเรียกว่า Shopping Around ตลอดจนการร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ในการจัดให้มีกลไกการกำกับการเข้าถึงบริการ และคุณภาพมาตรฐานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
วันนี้เราดำเนินการไปใน 4 จังหวัดนำร่อง ตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา ก็ได้เสียงตอบรับเชิงบวกจากทุกภาคส่วนว่านับว่าเป็นความสำคัญในการเป็นก้าวแรกที่ได้เริ่มพลิกโฉมระบบบริการสุขภาพ และหลังจากนี้จะพัฒนาระบบและยกระดับขึ้นต่อไป โดยเป้าหมายของเราก็คือจะขยายไปทั่วประเทศในสิ้นปีนี้
“ส่วนการเข้าสู่ระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 1 – 2 ก.พ. ที่ผ่านมาก็ได้มีการจัดกระบวนการ โดยเอา 4 จังหวัดนำร่องมาร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการกับ 8 จังหวัดเป้าหมายระยะที่ 2 คือ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี พังงา หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ นครราชสีมา และสระแก้ว และเตรียมแผนปฏิบัติการในการดำเนินการ ผมได้ไปนั่งฟังแผนปฏิบัติการของเขาก็ค่อนข้างมีความมั่นใจว่า 8 จังหวัดมีความพร้อมที่จะเริ่มดำเนินการ โดยจะเริ่มเปิดงานคิกออฟระยะที่ 2 ที่ โคราชประมาณต้นเดือน มี.ค.” รมว.สาธารณสุข ระบุ
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในส่วนข้อมูลภาพรวมมีหน่วยบริการนวัตกรรมวิถีใหม่ได้สมัครเข้าร่วมให้บริการใน 8 จังหวัดแล้ว จำนวน 451 แห่ง ประกอบด้วย ร้านยา 281 แห่ง คลินิกการพยาบาล 86 แห่ง ทันตกรรม 50 แห่ง กายภาพบำบัด 12 แห่ง คลินิกเวชกรรม 8 แห่ง คลินิกเทคนิคการแพทย์ 5 แห่ง และคลินิกแพทย์แผนไทย 4 แห่ง เป็นต้น เมื่อแยกข้อมูลรายจังหวัด พบว่าแต่ละจังหวัดมีหน่วยบริการนวัตกรรมวิถีใหม่รวมให้บริการเพิ่มเติม ดังนี้ 1.เพชรบูรณ์ 55 แห่ง 2.นครสวรรค์ 73 แห่ง 3.สิงห์บุรี 13 แห่ง 4.สระแก้ว 35 แห่ง 5.หนองบัวลำภู 35 แห่ง 6.นครราชสีมา 205 แห่ง 7.อำนาจเจริญ 19 แห่ง และ 8.พังงา 16 แห่ง
อย่างไรก็ตามเพื่อเตรียมความพร้อม สปสช. ได้มีการลงพื้นที่ใน 8 จังหวัดที่จะขยายนโยบายเพิ่มเติมแล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมและเชิญชวนผู้ประกอบการสถานพยาบาลภาคเอกชนเข้าร่วมบริการ โดยร่วมกับผู้แทนสภาวิชาชีพที่ร่วมให้บริการ อาทิ แพทยสภา สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา เป็นต้น รวมทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งได้ลงพื้นที่แล้ว 6 ใน 8 จังหวัดที่ขยายเพิ่มเติม ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ นครราชสีมา อำนาจเจริญหนองบัวลำภู และสิงห์บุรี สำหรับอีก 2 จังหวัดนั้น ในวันที่ 27 ก.พ. จะลงพื้นที่จังหวัดพังงา และวันที่ 29 ก.พ. ลงพื้นที่จังหวัดสระแก้วต่อไป