กรมสุขภาพจิต เผยผล 3 ปี จัดทีมพิเศษป้องกันฆ่าตัวตายในโลกออนไลน์ "HOPE Task Force" ช่วยชีวิตแล้ว 599 ราย เป็นต้นแบบทำงานสุขภาพจิตในอนาคต เร่งขยายครอบคลุมทุกจังหวัด เป็นจุดเชื่อมประสานส่งต่อกรณีผู้ที่ส่งสัญญาณที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย
เมื่อวันที่ 22 ก.พ. นพ.ศิริศักดิ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมฯ เฝ้าระวังและการจัดบริการสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต การวินิจฉัยความผิดปกติทางจิต และการช่วยเหลือหรือการให้การรักษาความผิดปกติทางจิต แต่ในปัจจุบันพบว่ายังไม่เพียงพอและทั่วถึง ดังนั้น การขยายภาคีเครือข่ายทีมปฏิบัติการพิเศษ HOPE Task Force ในระดับจังหวัด เพื่อเป็นจุดเชื่อมประสานส่งต่อเคสที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย จึงถือเป็นกลไกสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือในการดูแลช่วยเหลือ ประสาน และส่งต่อบุคคลที่ส่งสัญญาณความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายเข้าสู่ระบบการรักษา รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการป้องกันและเฝ้าระวังผู้ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย การดำเนินงานรูปแบบใหม่ที่มีการต่อยอดไปสู่เครือข่ายระดับจังหวัดในครั้งนี้ จะมีความเป็นไปได้และเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อประชาชน เพราะทุกคนสามารถเป็นผู้ช่วยเหลือเพื่อหยุดยั้งการฆ่าตัวตายได้ อันนำไปสู่การสร้างความหวังและสร้างพลังใจ เพื่อให้ผู้ที่กำลังอยู่ในสภาวะเปราะบางได้กลับมาใช้ชีวิตได้ดังเดิมได้
พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผอ.กองบริหารรระบบริการสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันผลกระทบด้านสุขภาพจิต สามารถเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลกในรูปแบบต่างๆ โดยผลกระทบที่สำคัญคือการฆ่าตัวตาย จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตของประชากรทั่วโลกก่อนวัยอันควร จากรายงานสถิติการฆ่าตัวตายของประเทศไทย ปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. 2565 – ก.ย. 2566) พบว่า มีผู้พยายามฆ่าตัวตาย 31,402 คน หรือเท่ากับ 48.19 ต่อแสนประชากร โดยจะพบเห็นสัญญาณเตือนที่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุการณ์ได้ผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียหรือช่องทางออนไลน์ และเพื่อการป้องกันแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจิตและป้องกันการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2563 กรมฯ กองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ Social Influencer ได้แก่ หมอแล็บแพนด้า Drama-addict และ แหม่มโพธิ์ดำ ได้จัดตั้ง “ทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย” หรือ HOPE Task Force เพื่อดูแลช่วยเหลือผู้ที่มีสัญญาณเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในโลกออนไลน์ ให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
จากสรุปผลการทำงานของ HOPE Task Force ในระหว่างวันที่ 9 ต.ค. 2563 – 31 ธ.ค. 2566 พบว่ากระบวนการดำเนินงานดังกล่าวสามารถช่วยเหลือชีวิตคนที่มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย จำนวนถึง 599 ราย ถือเป็นโมเดลต้นแบบในการทำงานด้านสุขภาพจิตแบบบูรณการในอนาคต โดยในปี 2566 ได้มีการขยายไปยังศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ในการเป็นเครือข่ายรับแจ้งเหตุสุขภาพจิตและป้องกันการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา