สธ.เห็นชอบหลักการผลิต "พยาบาล" เร่งด่วน เรียน 2 ปีครึ่ง ผลิต 2 รุ่นรวม 5 พันคน หลังขาดแคลนหนักกว่า 5 หมื่นคน สัดส่วนดูแลประชากรอยู่ที่ 1:343 คน มี 15 จังหวัดสัดส่วนมากกว่า 1:500 คน พบ "หนองบัวลำภู" ขาดหนักสุด สัดส่วนอยู่ที่ 1:712 คน ส่วนโครงการผลิตหมอ 9 สาขา 10 ปี หลัง ครม.เห็นชอบ เป็น "พยาบาล" 1 หมื่นคน หารือ ก.พ.นับอายุงานแฟมเมดตั้งแต่เรียนช่วยจูงใจ
เมื่อวันที่ 21 ก.พ. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูง สธ. ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอของสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) และสภาการพยาบาล ในโครงการผลิตพยาบาลเพิ่มเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนพยาบาล เป็นระยะนำร่องเร่งด่วน 2 ปี เป้าหมายผลิตปีละ 2,500 คน รวม 5,000 คน เริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2568 เนื่องจาก รพ.รัฐมีความขาดแคลนพยาบาลประมาณ 5 หมื่นคน สำหรับการผลิตจะเป็นการผลิตรูปแบบใหม่ เป็นหลักสูตรมาตรฐานแบบเร่งรัดใช้เวลาผลิต 2 ปี 6 เดือน โดยรับผู้ที่จบปริญญาตรีแล้วมาต่อยอด ที่ประชุมมีข้อสังเกตเรื่องกระบวนการผลิต หลักสูตร การรับรอง ความพร้อมของแหล่งผลิต และงบประมาณ โดยให้ สบช.และผู้รับผิดชอบไปจัดทำรายละเอียดเพื่อเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
ถามว่าสัดส่วนพยาบาลปัจจุบันเป็นอย่างไร นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราขาดแคลนพยาบาลดูแลประชาชน อย่างแพทย์ 1 คน ต้องมีพยาบาลอย่างน้อย 4 คน แต่สัดส่วนพยาบาลต่อประชากรของไทยอยู่ที่ 1:343 คน ภาพรวมยังขาดแคลนเฉลี่ย 51,420 บาท ไม่รวมภาคเอกชน ไม่สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลกที่แนะนำว่าสัดส่วนควรอยู่ที่ 1:270 คน นอกจากนี้ เรายังมีปัญหาการกระจายบุคลากร โดยมีถึง 42 จังหวัดที่มีสัดส่วนพยาบาลมากกว่า 1:400 คน มี 15 จังหวัดสัดส่วนมากกว่า 1:500 คน โดยสัดส่วนพยาบาลต่อประชากรมากที่สุด 5 จังหวัด คือ
1.หนองบัวลำภู 1:712 คน
2.บึงกาฬ 1:608 คน
3.เพชรบูรณ์ 1:572 คน
4.กำแพงเพชร 1:571 คน
5.ศรีสะเกษ 1:569 คน
ถามว่ารับคนจบปริญญาตรีสาขาไหนก็ได้ใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า สาขาไหนก็ได้ แต่หากเป็นสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์จะดี เพราะสามารถต่อยอดได้ง่ายกว่า
นพ.ชลน่านกล่าวว่า การผลิตพยาบาลโครงการดังกล่าว เป็นการผลิตเพิ่มเติมแยกต่างหากจากโครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพเพื่อเวชศาสตร์ครอบครัวตอบสนองต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไทย ที่ ครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา เริ่มดำเนินการในปี 2568 มีเป้าหมายการผลิต 9 สาขา หรือ 9 หมอ ได้แก่ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว พยาบาล ทันตแพทย์ชุมชน เภสัชกรชุมชน แพทย์แผนไทย ผู้ช่วยทันตแพทย์ ผู้ช่วยพยาบาล นักจัดการฉุกเฉินชุมชน และนักวิชาการสาธารณสุข ในระยะเวลา 10 ปี ใช้งบประมาณ 3.7 หมื่นล้านกว่าบาท ถ้าผลิตครบจะมีบุคลากรเข้าสู่ระบบ 6.2 หมื่นคน โดยพยาบาลจะเป็น 1 ใน 9 สาขา ผลิตปีละ 1,000 คน ต่อเนื่อง 10 ปี รวม 10,000 คน เพื่อเป็นทีมหมอครอบครัวลงไปอยู่ชุมชนในหน่วยบริการปฐมภูมิเท่านั้น
ถามถึงกรณีสร้างแรงจูงใจคนมาเรียนทีมหมอครอบครัว โดยเฉพาะแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ที่ผ่านมาคนเรียนน้อย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราให้ความสำคัญ ได้วางแนวทางเพื่อรองรับให้กับแพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการบริการปฐมภูมิ ซึ่งมีหลายแนวทาง ยกตัวอย่าง เมื่อเร็วๆนี้ ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย ได้เสนอให้ปรับแก้หลักเกณฑ์วิธีการจ่ายค่าตอบแทนให้สอดคล้อง รวมถึงการเพิ่มเงินค่าตอบแทนพิเศษ หรือ พ.ต.ส. จาก 10,000 บาท เพิ่มเป็น 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน
“สธ.กำลังเสนอเรื่องอายุงาน อย่างหากเรียนเพื่อไปปฏิบัติงานหน่วยบริการปฐมภูมิจริง เราจะทำความตกลงกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ว่า จะเริ่มนับอายุงานตั้งแต่เริ่มเรียน ขณะนี้กำลังเจรจาอยู่ แต่เวลาจ่ายค่าตอบแทนไม่ได้จ่ายขณะเรียน ต้องทำงานก่อน แต่นับอายุงานย้อนหลังให้ ซึ่งเป็นสวัสดิภาพ สวัสดิการต่างๆได้ ที่สำคัญคือการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับเนื้องาน เช่น สามารถจัดเม็ดเงินลงไปลักษณะเหมาจ่ายรายหัวแบบแยกเรื่องของบริการผู้ป่วยนอก หรือส่งเสริมสุขภาพเฉพาะปฐมภูมิได้หรือไม่ นี่เป็นข้อเสนอที่กำลังหารือกันอยู่” นพ.ชลน่าน กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าสธ.ดูแลวิชาชีพอื่นๆด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราดูทุกกลุ่มตามภาระงาน อันไหนจำเป็นเราก็เติมเต็มเข้าไป