xs
xsm
sm
md
lg

“ศุภมาส” ชูโครงการ “สถาบันอุดมศึกษาพี่เลี้ยง” แม่ปูด้านการศึกษายกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ ปี 67 เดินหน้าติว “ซอฟท์พาวเวอร์ - ความพร้อมในการสอบ PISA - เสริมนิสัยรักการอ่าน” ให้เด็กไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศุภมาส” ชูโครงการ “สถาบันอุดมศึกษาพี่เลี้ยง” แม่ปูด้านการศึกษายกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ ปี 67 เดินหน้าติว “ซอฟท์พาวเวอร์ - ความพร้อมในการสอบ PISA - เสริมนิสัยรักการอ่าน” ให้เด็กไทย มี 134 มหาวิทยาลัยเข้าร่วม พัฒนาครู 10,000 คน นักเรียนได้ประโยชน์ 110,000 คน

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า อว. ได้จัดทำโครงการ “สถาบันอุดมศึกษาพี่เลี้ยง” หรือ “โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง” ซึ่งจะเข้าไปทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงโรงเรียนในท้องถิ่น โดยทำงานร่วมกับโรงเรียน ชุมชน และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อนำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยี ไปช่วยแก้ปัญหา และพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็ง และพัฒนาท้องถิ่นได้ตรงตามบริบทของชุมชน ทำให้เกิดการยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานในภาพรวมของประเทศ

รมว.อว. กล่าวต่อว่า โดยในปี 2567 นี้ อว.ได้กำหนดให้โครงการสถาบันอุดมศึกษาพี่เลี้ยงเข้าไปพัฒนาครูให้เป็นเสมือนแม่ปูด้านการศึกษา โดยมุ่งเน้นตามสถานการณ์และนโยบายของรัฐบาล เช่น การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสอดรับกับการพัฒนาซอฟท์พาวเวอร์ (Soft Power) ของประเทศ การพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนของเด็กไทย การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีความพร้อมในการสอบ PISA ขณะเดียวกัน ยังเข้าไปพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในชุมชน โดยความร่วมมือของสถานศึกษาและหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่ โดยบูรณาการองค์ความรู้ด้านวิชาการ เพื่อสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอีกด้วย

“นอกจากนี้ ดิฉันยังมีนโยบาย “รักการอ่าน” ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีความพร้อมทั้งทางด้านความรู้ ความเชี่ยวชาญทางวิชาการและเทคโนโลยี ไปช่วยพัฒนาการเรียนการสอนและการพัฒนาการอ่านและเขียนของเด็กไทย รวมถึงปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับลักษณะของผู้เรียนและบริบทของพื้นที่สถานศึกษา โดยเน้นให้นักเรียนในแต่ละโรงเรียน แต่ละพื้นที่ได้มีโอกาสเข้าถึงหนังสือที่เหมาะสมกับช่วงวัย เพื่อสร้างเสริมนิสัยรักการอ่านของเด็กไทยและการเข้าถึงองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง” น.ส.ศุภมาส กล่าว

ด้าน ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งในแต่ละปีของโครงการจะมีจุดเน้นของการพัฒนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์และนโยบายของประเทศ โดยหลังจากที่สถาบันอุดมศึกษาลงไปเป็นพี่เลี้ยงโรงเรียนในท้องถิ่นต่างๆ มากว่า 10,000 โรงเรียน สามารถช่วยพัฒนาครูได้กว่า 100,000 คน และสำหรับปี 2567 นี้ จะมีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วม 134 สถาบัน ซึ่งจะช่วยพัฒนาครูกว่า 10,000 คน และคาดว่าจะมีนักเรียนได้รับประโยชน์จากโครงการกว่า 110,000 คน








กำลังโหลดความคิดเห็น