xs
xsm
sm
md
lg

เร่งทบทวนร่าง กม.อุ้มบุญก่อนชง ครม.ใหม่ ย้ำเปิดกว้างคู่ LGBTQ+ หาก "สมรสเท่าเทียม" ประกาศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สบส.เร่งทบทวนร่าง กม.อุ้มบุญฉบับใหม่ ก่อนส่งเข้า ครม.อีกรอบ หลังไม่ทัน รบ.เก่า ย้ำคู่สมรสตาม กม.ทำอุ้มบุญได้ ไม่แบ่งแยกชายหญิง กลุ่ม LGBTQ+ ทำได้ หาก กม.สมรสเท่าเทียมคลอดแล้ว จ่อแก้ญาติสายตรงดูแลเด็กแทนแม่อุ้มบุญ หากคู่สมรสตาย ยังไม่เปิดต่างชาติเข้ามามำ เว้นแต่งกับคนไทย

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า กรมกำลังดำเนินการพิจารณาปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 หรือกฎหมายอุ้มบุญ โดยมีการกำหนดให้สามารถดำเนินการได้ในคู่สมรส ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นเพศชายกับเพศหญิง ดังนั้น หากเป็นคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายก็สามารถทำอุ้มบุญ แต่ต้องบอกรายละเอียด ซึ่งการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ได้เสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)ไปแล้ว เมื่อมีการเปลี่ยน ครม.จึงต้องนำกลับมาทำใหม่ แต่ก็จะยืนยันฉบับแก้ไขตามร่างเดิม เนื่องจากผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการทบทวนของกรม ก่อนนำเสนอ ครม.อีกครั้ง

นพ.สุระ กล่าวว่า กรณีนี้เป็นการแก้ไขกฎหมายให้มีความทันสมัยขึ้น จึงไม่มีความยุ่งยากเหมือนการออกกฎหมายใหม่ ดังนั้น หากผ่านการพิจารณาของ ครม. ก็น่าจะส่งไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา กลับเข้า ครม.เห็นชอบก็สามารถประกาศได้ จากนั้นกรมจะต้องมาดำเนินการออกกฎกระทรวง ประกาศ หลักเกณฑ์วิธีการต่างๆ ที่เป็นกฎหมายลูกเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับส่วนที่มีการแก้ไขใน พ.ร.บ.

“ในการแก้ไขกฎหมายอุ้มบุญ ก็จะอนุญาตให้คู่สมรสทำได้ตาม พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมหาก พ.ร.บ.เป็นอย่างไรก็จะเป็นไปตามนั้น เพราะในกฎหมายอุ้มบุญไม่ได้บอกว่าสามีภรรยาคือชายกับหญิง แต่ระบุว่าคู่สมรสตามกฎหมาย ซึ่งก็จะยึดที่การมีทะเบียนสมรสที่ถูกต้องกฎหมายเป็นหลัก เมื่อประสงค์จะมีการอุ้มบุญก็จะต้องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯ เหมือนเดิม ปัจจุบันในประเทศไทย คณะกรรมการฯ อนุญาตให้ทำอุ้มบุญถูกต้องตามกฎหมายแล้ว 745 คน นับตั้งแต่ที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2558” นพ.สุระกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าการแก้ไขกฎหมายนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายส่งเสริมการมีบุตร นพ.สุระ กล่าวว่า เป็นการดำเนินการร่วมกัน ซึ่งพ.ร.บ.อุ้มบุญ นอกเหนือดูเรื่องของการท้องไม่ได้ด้วยตนเอง ก็ยังดูเรื่องท้องได้แต่ท้องยากด้วย โดยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว หรือการผสมบางอย่างที่ฉีดเข้าไป เป็นต้น

ถามว่าหากมี พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ กลุ่ม LGBTQ+ สามารถทำอุ้มบุญหรือใช้เทคโนโลช่วยการเจริญพันธุ์ตามกฎหมายนี้ได้ นพ.สุระ กล่าวว่า ก็จะต้องมาออกประกาศเพื่อให้คู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถมีบุตรได้ เช่น ผู้หญิงกับผู้หญิงแต่งงานกันแล้วอยากมีลูก ซึ่งสามารถตั้งครรภ์ได้เอง แต่อาจจะต้องใช้ผสมอสุจิคนอื่น ส่วนหากเป็นผู้ชายเป็นคู่สมรสกัน ก็ต้องหาผู้หญิงมาอุ้มบุญก็เข้าสู่การพิจารณาตามหลักเกณฑ์การอุ้มบุญ เพราะไม่มีมดลูก ตั้งครรภ์เองไม่ได้ ทั้งนี้ ย้ำว่าต้องเป็นคู่สมรสที่ถูกต้องมีทะเบียนสมรส ไม่ใช่คู่ชีวิต

“กฎหมายต้องการที่จะคุ้มครองเด็กที่เกิดมาให้ได้มากที่สุด จึงมีการพิจารณาเรื่องของกรณีระหว่างที่ทำอุ้มบุญ หากเกิดคู่สมรสเสียชีวิตไป คนที่รับอุ้มท้องจะทำอย่างไร ก็พยายามดูในเรื่องเหล่านี้อยู่ เบื้องต้นมีการระบุว่า เป็นหน้าที่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์จะต้องดูแลเด็ก แต่กำลังพิจารณาว่า ควรปรับแก้ให้เป็นญาติสายตรงของคู่สมรสที่มีกำลังมีทรัพย์สินที่จะสามารถดูแลเด็กได้ อยากแก้ให้เป็นแบบนี้ ไม่ใช่ให้เป็นเรื่องของคนรับตั้งครรภ์ เพราะหากฐานะไม่ดี เด็กที่เกิดมาก็จะลำบาก จึงอยากให้เป็นญาติมากกว่า” นพ.สุระกล่าว

ถามถึงแนวทางป้องกันกรณีที่มีการจดทะเบียนสมรสปลอมเพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์อุ้มบุญแล้วเป็นการค้ามนุษย์ นพ.สุระ กล่าวว่า มีหลักเกณฑ์การพิจารณา หากเป็นไปตามที่หลักเกณฑ์กำหนดก็ต้องพิจารณาให้ทำได้ ส่วนคนที่ไม่ทำตามหลักเกณฑ์อยู่ใต้ดิน ซึ่งแม้จะมีหรือไม่มีกฎหมายฉบับนี้ ก็ยังทำอยู่ ก็เป็นเรื่องของความมั่นคง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะต้องติดตามดำเนินการตามกฎหมาย โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)จะดำเนินการตามกฎหมายกรณีการอุ้มบุญที่ผิดกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการให้ชาวต่างชาติมาทำอุ้มบุญที่ประเทศไทย นพ.สุระ กล่าวว่า เป็นอีกเรื่อง ซึ่งยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายให้ชาวต่างประเทศมาทำอุ้มบุญในประเทศไทยได้ ยังยืนยันว่าตามกฎหมาย คู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝายใดจะต้องเป็นคนไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น