xs
xsm
sm
md
lg

เจาะความพร้อม "เพชรบูรณ์" ลุยเฟสสอง 30 บาทรักษาทุกที่ฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากนำร่องโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวไปแล้วใน 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จ้อออกสื่อเสมอว่า ประสบความสำเร็จดี เตรียมลุยเฟสสองอีก 8 จังหวัดในช่วงเดือนมี.ค.นี้


"เพชรบูรณ์" 1 ใน 8 จังหวัดเฟสสอง

สำหรับการเดินหน้า 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เฟสสอง มี 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อำนาจเจริญ หนองบัวลำภู นครราชสีมา สิงห์บุรี สระแก้ว และพังงา ซึ่งการเตรียมความพร้อม สธ.ได้มีการจัดประชุมชี้แจงไปเมื่อวันที่ 1-2 ก.พ.ที่ผ่านมา ขณะที่ สปสช.ก็เร่งออกโรดโชว์พร้อมสภาวิชาชีพ สร้างความเข้าใจชักชวนผู้ประกอบการคลินิกต่างๆ ที่เป็นหน่วยบริการนวัตกรรมให้เข้าร่วมโครงการ


ล่าสุด เมื่อวันที่ 11-12 ก.พ.ที่ผ่านมา สปสช.ได้มีการจัดประชุมสร้างความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการเอกชนใน จ.เพชรบูรณ์ ทั้ง รพ.เอกชน คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม คลินิกการพยาบาล คลินิกเทคนิคการแพทย์ และร้านขายยา เพื่อชักชวนให้เข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ โดยมี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ นำทีมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความพร้อมร้านขายยาและคลินิกทันตกรรมในพื้นที่ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ด้วย



"เพชรบูรณ์" พร้อมเฟสสองแล้วกว่า 80%

นพ.วิชาญ คิดเห็น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) เพชรบูรณ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดการประชุมชี้แจง ว่า เรารับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ จาก สธ. การประชุมในครั้งนี้เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายนี้ว่า มีเพื่ออะไร ซึ่งเราไม่ได้ส่งเสริมประชาชนไปรักษาทุกที่ แต่ที่ดีที่สุด คือ รักษาใกล้บ้านใกล้ใจ เป็นหวัดรักษา รพ.สต. ปอดบวมมานอน รพ. ผ่าตัดสมองก็ไป รพ.ศูนย์ สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ ส่วนหลักการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เมื่อไรที่เจ็บป่วยแล้วจำเป็นต้องไปในที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ แปลว่า เรากำลังยกระดับความมั่นคงด้านสุขภาพให้เขา ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หน่วยบริการที่ให้บริการก็รับค่าใช้จ่ายจาก สปสช. สิ่งสำคัญคือฐานข้อมูลที่หมอต้องเขียนใบส่งตัวหากัน ก็ไม่มีความจำเป็น เพราะสามารถดึงข้อมูลจากคลาวด์ จะเห็นประวัติการใช้ยา ผลเลือดเป็นอย่างไร การรักษาก็จะต่อเนื่อง


"หลักการเรื่องนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเพชรบูรณ์ได้เตรียมพร้อมเรื่องการเชื่อมต่อฐานข้อมูล ตรงนี้เราทำได้ แต่สำคัญคือต้องให้ประชาชนมายืนยันตัวตน เมื่อไรที่จะนำประวัติของใคร เวชระเบียนของใครไปสู่ระบบคลาวด์เราต้องได้รับอนุญาต และต้องแจ้งว่าเรานำข้อมูลใดขึ้นไป ซึ่งตอนนี้เราประเมินความพร้อมไม่ต่ำกว่า 80%" นพ.วิชาญกล่าว



ลงทะเบียน Health ID เกือบ 40%

นพ.วิชาญกล่าวว่า อย่างการลงทะเบียนยืนยันตัวตนของประชาชนหรือ Health ID ของเพชรบูรณ์เมื่อช่วง 2 เดือนก่อน มีคนลงทะเบียนในระบบไม่ถึง 2% แต่วันนี้เราได้เกือบ 40% แล้ว นี่คือความมุ่งมั่นที่ทุกอำเภอร่วมมือกัน ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ สาธารณสุขอำเภอ รพ.สต. เราถือเป็นวาระแห่งชาติ ถ้าสำเร็จจะไม่ใช่แค่หยิบยื่นโอกาสให้ประชาชนรักษาทุกที่ แต่เป็นการยกระดับสาธารณสุขเป็น Digital Transformation เป็นหลักประกันว่าไม่ว่าเจ็บป่วยที่ไหนของประเทศ เราจะมีฐานข้อมูล มียาให้เขา รับการรักษาทันท่วงทีและปลอดภัย ส่วนการลงทะเบียนยืนยันตัวตนของบุคลากรทางการแพทย์ (Provider ID) ใน รพ.เราสามารถลงทะเบียนเรื่อยๆ ได้เยอะแล้ว

"สำหรับปัญหาคอขวดที่พบของเฟสแรก คือ การมาลงทะเบียน Health ID ที่ รพ. เราจึงกำชับว่า ประชาชนที่มารับบริการที่ต้องลงทะเบียน Health ID ด้วยเราจะแยกต่างหาก และไม่ได้มุ่งเน้นว่าต้องลงที่ รพ. เรามีการจัดทัพใหญ่ที่ทำสำเร็จ คือ ความร่วมมือของนายอำเภอ สาธารณสุขอำเภอ และ ผอ.รพ. ที่ลงไปทำตามพื้นที่ โรงเรียน ชุมชน เวลามีกิจกรรมสำคัญ ทำให้ 1 คนใช้เวลาไม่เยอะ และพยายามสื่อสารว่า มาลงทะเบียนได้ประโยชน์อะไร และเราปกป้องข้อมูลอย่างไร" นพ.วิชาญกล่าว


คาดหวัง "เอกชน" เข้าร่วมจำนวนมาก

เมื่อถามว่าจะมีภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการมากน้อยแค่ไหน นพ.วิชาญกล่าวว่า พื้นที่เพชรบุรณ์เรามี รพ.สังกัด สธ. มี รพ.ค่ายทหาร มี รพ.เอกชน 2 แห่งในเครือเดียวกัน และยังมีร้านยา คลินิกเอกชน คลินิกทันตกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์ ฯลฯ ซึ่งคนจะสนใจเข้าร่วมมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่ที่การชี้แจงทำความเข้าใจในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งวันนี้ สปสช.เชิญผู้ประกอบการมาทำความเข้าใจว่า การเข้าสู่ระบบต้องทำอะไรอย่างไร คลินิกเอกชนจะมีข้อจำกัดอะไร ชาวบ้านมีปัญหาอะไรหรือไม่ หรือเรื่องของการเชื่อมข้อูลข้ามเครือข่าย เราสามารถเชื่อมถึงกันได้อยู่แล้ว แต่จะได้มากน้อยแค่ไหน เราเน้นว่าต้องเชื่อมข้อมูลโดยการมีชั้นของความปลอดภัยด้วย กลุ่มที่ต้องรู้เท่านั้นถึงจะเข้าถึงข้อมูลได้ ส่วนเรื่อง Health Rider นโยบายเพิ่งมาถึง แต่เชื่อว่าเพชรบูรณ์เราสามารถทำได้


"ร้านยา" พร้อมเข้าร่วม เปิดบทบาทเภสัชกรชุมชน

จากการลงพื้นที่ร้านเรือนเภสัชกร จ.เพชรบูรณ์ ภญ.พจนาลัย อนุสรณ์พาณิชกุล เจ้าของร้านเรือนเภสัชกร ระบุว่า ทางร้านพร้อมเข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เพราะตอบโจทย์และเป็นการเปิดบทบาทของเภสัชกรชุมชนตามเจตนารมณ์ของตนเอง

"ตั้งแต่เรียนจบมาก็อยากเปิดร้านลงชุมชน ทำหน้าที่เภสัชกรชุมชน ดูแลคนในชุมชน อย่างที่ร้านตนทำเองทุกอย่าง ตั้งแต่เปิดร้าน จัดสต๊อกยา ติดตามการใช้ยาต่างๆ สมัยก่อนเปิดร้านตั้งแต่ตี 5 ถึง 4 ทุ่ม แต่หลังจากมีลูกก็ปรับมาเปิด 7-8 โมงถึง 2 ทุ่ม ที่ผ่านมาก็เข้าร่วมโครงการร้านยาคุณภาพ และโครงการดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทองอาการเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการอยู่แล้ว ดังนั้น จึงตั้งใจเข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ซึ่งดีใจที่ สปสช.และสภาเภสัชกรรมให้โอกาสในการเปิดบทบาทเภสัชกรชุมชนให้สามารถดูแลช่วยเหลือประชาชนได้จริง" ภญ.พจนาลัยกล่าว


ภญ.พจนาลัยกล่าวว่า อย่างที่ผ่านมามีเคสคนเก็บของเก่าแถวนี้ขี่จักรยานและเป็นแผลที่เท้า แต่ไม่ไปหาหมอ โดยมาหาตนมีเงินเพียง 10 บาทจะมาซื้อยา ก็บอกว่าตอนนี้ที่ร้านดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อยจาก สปสช. ถามว่ามีบัตรประชาชนไหม คุณลุงบอกว่ามี แต่บัตรไม่อยู่ที่นี่ อยู่ที่กำแพงเพชรจะใช้บริการได้หรือ เราก็บอกว่าได้ คุณลุงก็ดีใจน้ำตาไหล เราบอกว่าคุณลุงเป็นอะไรให้มาที่ร้าน ซึ่งเราติดตามอาการไปสามวัน ปกติเราติดตามทางไลน์ แต่คุณลุงไม่มีสมาร์ทโฟน โทรหาก็ไม่รับ เพราะคุณลุงไม่มีเงินเติมโทรศัพท์ จนโทรศัพท์ดับไป เราก็พยายามมองหา เพราะคุณลุงจะขี่จักรยานมาผ่านเก็บของเก่าตอนกลางคืน พอเจอก็ถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง จนอาการดีขึ้น ตรงนี้คือเราทำหน้าที่เภสัชกรชุมชน



สภาเภสัชกรรมช่วยเตรียมความพร้อม

สำหรับการเข้าร่วมโครงการ ภญ.พจนาลัยระบุว่า สภาเภสัชกรรมก็ช่วยเตรียมความพร้อมให้ร้านได้เข้าร่วมโครงการ โดยสภาเภสัชกรรมสนับสนุนในการทำแนวทางต่างๆ ทำให้เชื่อมั่นว่า ร้านยาสามารถดำเนินกิจการไปได้อย่างราบรื่นในการเข้าร่วม และเราเห็นตั้งแต่ 4 จังหวัดเฟสแรก พอเฟสสองก็จะรู้ว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง รวมถึงยังให้ความรู้ช่วยให้เภสัชกรมีพื้นฐานการทำงานที่เป็นมาตรฐานมากขึ้นและเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเภสัชกรที่จบมาหลายปีแล้วหรือเพิ่งจบมา ก็มีการอบรมก่อนทำให้มีความเชื่อมั่นในการทำงานมากยิ่งขึ้น มีการสอบรับใบประกาศนียบัตร ซึ่งเท่าที่ดูก็ยังไม่มีอะไรที่จะต้องเตรียมเพิ่มเติม รวมถึงช่วยขอยกเว้นค่าค้ำประกันในการเข้าโครงการด้วย


อัตราเบิกจ่ายพออยู่ได้ เน้นทำด้วยใจ

ถามถึงอัตราการเบิกจ่ายค่าบริการโครงการ 30 บาทฯ เพียงพอหรือไม่ ภญ.พจนาลัยกล่าวว่า เรียกว่าเป็นถัวเฉลี่ย มีหลายเคสที่ขาดทุนเยอะ บางรายก็กำไรถัวๆ กันไป ถามว่าเราโอเคกับจุดนี้ไหม เรารู้สึกว่าได้ทำเพื่อประชาชน ถือเป็นเรื่องของใจเภสัชกรเต็มๆ ส่วนการเชื่อมข้อมูลการเบิกจ่าย เราทำตามระบบที่ สปสช.กำหนด ระบบอะไรที่บอกให้เราทำก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย ตอนนี้ก็เบิกจ่ายได้ตรงเวลา

"ตัวเองไม่เคยคิดว่าจะต้องมีลูกค้าเยอะๆ แต่เราคิดแค่ว่างานทุกอย่าง จะเป็นผลดีต่อประชาชนมากที่สุด แม้ประชาชนจะเข้ามามากหรือน้อย เราก็ยินดีเสมอที่จะคอยรับทุกอย่างไว้ ถ้าเราจะทำอะไรสักอย่างให้ดี การช่วยเหลือสังคมเป็นที่สุดแล้วของวิชาชีพของเรา" ภญ.พจนาลัยกล่าว

ส่วนคำแนะนำถึงร้านยาอื่นที่สนใจเข้าร่วม ภญ.พจนาลัยกล่าวว่า การที่เราเป็นเภสัชกรชุมชน แล้วเปิดบทบาทของตัวเองให้มีโอกาสกับ สปสช. เป็นสิ่งหนึ่งที่เภสัชกรทุกคนซาบซึ้งในใจ เชื่อว่าถ้าเราทุกคนช่วยกันให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี และเข้าถึงบริการโดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ได้เป็นหน่วยงานของรัฐ ทำให้พวกเขาดูแลตัวเองได้จากที่บ้าน ถ้ามีกิจกรรมโครงการแบบนี้ไปเรื่อยๆ มีมากขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากสิ่งนี้มากจริงๆ


"คลินิกทันตกรรม" ก็พร้อมเข้าร่วม

ทพญ.ประกายดาว ศรีเงิน DDC Dental Clinic กล่าวว่า ทางคลินิกทันตกรรมเราเองก็พร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเริ่มขยายพื้นที่คลินิกเพื่อรองรับ ซึ่งตามปกติเราให้บริการคนไข้บัตรทอง 30 บาทอยู่แล้ว เนื่องจากเขาไป รพ.แล้วไม่มีคิว จึงมาหาเรา จริงๆ ถ้าเราเข้าร่วมโครงกร เราก็อยากช่วยเหลือ เป็นการเพิ่มทางเลือกและบริการให้แก่คนไข้ ซึ่งอัตราค่าบริการเพียงพอหรือไม่ ก็ถือว่า สปสช.ให้เพียงพอในระดับหนึ้งในการแก้ไขปัญหาเรื่องฟันในเบื้องต้น ส่วนจะมีคนมารับบริการมากขึ้นหรือไม่นั้น ก็อาจจะมีเพิ่มเข้ามา ซึ่งเราจะมีระบบนัดหมายในการเข้ารับบริการ ซึ่งจะทำให้สามารถบริหารจัดการผู้ป่วยได้ดี

"การเข้ารับบริการ สมมติคนไข้เข้ามาวอล์กอิน เราก็จะมีการทำประวัติ แต่ถ้าเรามีคนไข้นัดอยู่ก่อน เราก็จะทำคนไข้นัดก่อน คนไข้วอล์กอินอาจจะได้แค่เข้ารับตรวจเฉยๆ เพื่อวางแผนการรักษา และนัดมาอีกที โดยเราจะชี้แจงว่าต้องทำอะไรบ้าง จุดไหนที่รุนแรงที่สุดที่ต้องทำก่อน ก็ให้ตัดสินใจทำหรือไม่ทำ สิ่งที่ทำได้มีอะไรบ้าง เราวางแผนให้เขา หรืออย่างไหนที่ควรต้องไป รพ. แต่จริงๆ ถ้าสามารถนัดเข้ามาได้ก่อนจะดี ซึ่งมีหลายช่องทาง ทั้งโทร ช่องทางออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กและไลน์" ทพญ.ประกายดาวกล่าว


ทพญ.ประกายดาวกล่าวว่า เชื่อว่าการเข้าร่วมโครงการ 30 บาทฯ ก็น่าจะสามารถช่วยแบ่งเบาคนไข้ส่วนหนึ่งจาก รพ.ได้บ้าง สำหรับการเตรียมความพร้อมระบบนั้น อย่างหมอพร้อมหรือการเบิกจ่ายกับ สปสช.ก็เชื่อว่าสามารถเชื่อมโยงได้ ตอนแรกก็ต้องเรียนรู้และพัฒนากันไป ว่าต้องแก้ปัญหาอะไรบ้าง ซึ่งเท่าที่ดูระยะเวลาเบิกจ่าย 3 วัน ก็ถือว่าเร็ว เร็วมากกว่าประกันสังคม ซึ่ง 3 วันก็ไม่ได้กระทบอะไรเท่าไร ถ้าอยู่ในห้วง 1 เดือนก็ถือว่าโอเค เพราะการจ่ายรอบบิลที่บริหารก็จะประมาณ 1 เดือน ส่วนเรื่องเดนท์คลาวด์ในการรับส่งข้อมูลคนไข้ เราก็เตรียมพร้อม เพียงแต่เราต้องมาดูว่า เรามีอีกโปรแกรมที่ใช้อยู่แล้ว ก็ต้องดูว่าจะเชื่อมโยงอย่างไรได้บ้าง


สภาเทคนิคการแพทย์พร้อมหนุน "แล็บ" เข้าโครงการ

การสนับสนุนของสภาวิชาชีพเพื่อให้คลินิกเทคนิคการแพทย์หรือคลินิกแล็บเข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ทนพ.สมชัย เจิดเสริมอนันต์ นายกสภาเทคนิคการแพทย์ เปิดเผยว่า สภาฯ เราสนับสนุนทั้งเรื่องคุณภาพ โดยผลการตรวจต้องมั่นใจว่าตรงและไม่แตกต่างจากการตรวจของ รพ. มีการกำหนดมาตรฐานของคลินิกแล็บที่จะมาร่วม ซึ่งเดิมต้องผ่านการรับรองคุณภาพ แต่ถ้าให้สนองนโยบายรัฐบาล การรับรองคุณภาพจะใช้เวลาเป็นปี เราก็ใช้ประกาศสภาเทคนิคการแพทย์ ว่าด้วยมาตรฐานการให้บริการ เอามาตรฐานมาจับกับคลินิกว่าทำตามข้อกำหนดนี้ไหม ติดขัดปัญหาอะไรจะประสาน เช่น การเปรียบเทียบเพื่อความมั่นใจ ถ้าคลินิกยังไม่มีกิจกรรมนี้ จะคุยกับ รพ.จังหวัดต้นทางคนไข้ ว่าเรามาทดสอบกันไหมว่าผลที่ได้ไปด้วยกัน เป็นต้น

นอกจากนี้ การเข้าร่วมโครงการจะมีเงินมัดจำสัญญาประมาณแสนบาท ซึ่งสภาฯ เราก็จะช่วยลดภาระของทางคลินิกฯ เนื่องจากช่วงปีแรกที่อยากจะให้โครงกาารเดินหน้าต่อไปได้ แต่การต้องจ่ายเงินตรงนี้ทำให้ทางเอกชนก็คิดว่าหนัก เพราะไม่รู้จะได้เงินกลับมาเท่าไร แต่ถ้าให้มัดจำแสนนึงก็ตาย สภาฯ จึงทำหนังสือถึง สปสช.ขอเงินมัดจำเหลือหมื่นบาท และของดเว้นการจ้ายในช่วง 1-2 ปีแรก เพื่อเชิญชวนรณรงค์คลินิกแล็บให้เข้าโครงการ ซึ่งถ้ามันเดินหน้าได้ ประชาชนเห็นผลก็จะไปลดความแออัด ทำให้เข้าถึงบริการง่ายขึ้น


จ่ายตามรายบริการพออยู่ได้

ถามถึงอัตราการเบิกจ่ายเพียงพอหรือไม่ ทนพ.สมชัยกล่าวว่า อัตราการจ่ายจะเป็นตามรายบริการ ก็ถือว่าพอไปได้ แต่เราจะคิดในเชิงที่ว่า คลินิกแล็บคนจะไม่ค่อยรู้จัก แต่ถ้าเข้ามาในระบบนี้ คนจะรู้จักมากขึ้น โอกาสที่สิทธิอื่นเข้ามาก็จะมี เช่น พ่อแม่อยู่สิทธิบัตรทอง แต่ลูกไม่ใช่ เพียงแต่พาพ่อแม่มา ก็จะรู้จักเรามากขึ้น ก็เป็นการขยายฐานผู้ใช้บริการ ก็จะมองในมุมอื่นด้วย ที่สำคัญคือช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่าย อย่างการเจาะเลือกที่บ้าน ยิ่งคนไข้ติดเตียงการจะมา รพ.ทีต้องเสียเงินหลยพันบาท ทั้งค่าเรียกรถพยาบาล ต้องมีพยาบาลดูแล ญาติก็ต้องติดตามมา แต่การที่คลินิกแล็บไปช่วยเจาะเลือดที่บ้านก็จะเซฟค่าใช้จ่ายตรงนี้


"แล็บ" เข้าร่วมเฟสแรก กระแสตอบรับดี

ถามถึงความคืบหน้าของคลินิกแล็บที่เข้าร่วม 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เฟสแรก ทนพ.สมชัยกล่าวว่า สำหรับเฟสแรก 4 จังหวัดนำร่อง มีคลินิกแล็บเข้ามาประมาณ 20 กว่าแห่ง ที่ดูน้อยเพราะว่า แต่ละจังหวัดไม่ได้มีคลินิกแล็บเยอะ อย่างทั่วประเทศเรามีคลินกแล็บประมาณ 800 กว่าแห่ง ซึ่งขณะนี้ก้มีเป้นร้อยที่สนใจเข้ามาพูดคุย ซึ่งค่าชดเชยอาจจะไม่เยอะ แต่กาารเข้าร่วมจะช่วยให้คนรู้จักคลินิกมาขึ้น ในระยะยาวก็น่าจะดี สำหรับเฟสสอง สปสช.ก็ไปโรดโชว์ อย่างเพชรบูรณ์ก็เป็นจังหวัดที่ 3-4 ที่มาลงพื้นที่จาก 8 จังหวัด คลินิกแล็บจะเข้ามาร่วมมากน้อย ก็ต้องดูด้วยว่าจังหวัดนั้นมีคลินิกแล็บมากน้อยแค่ไหน เราก็มาเชิญชวนและพยายามมาให้ความรู้กับคลินิกแล็บ สร้างความมั่นใจว่าผลแล็บที่ออกมามค่าเท่ากัน


สภาการพยาบาลรุกพัฒนาวิชาชีพรองรับเข้าร่วมโครงการ

การเตรียมพร้อม 30 บาทรักษาทุกที่ฯ สภาการพยาบาลเป็นอีกหนึ่งสภาวิชาชีพ ที่พยายามให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมให้ "พยาบาลวิชาชีพ" โดย รศ.ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เป็นความโชคดีของประชาชนทุกคน ที่จะมีความปลอดภัยและมีความมั่นคงในเรื่องของสุขภาพ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องใช้จ่ายเงินแล้วยากจนลง โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งถ้าไม่ป้องกันหรือไม่มีความรู้อย่างเต็มที่ โรคก็จะลุกลามไปเรื่อยๆ สภาการพยาบาลก็ได้เตรียมความพร้อมผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ตาม รพ. รพ.สต. ให้มีความรู้ความสามารถในการดูแลให้ความรู้แก่ผู้ป่วยมากขึ้น เพราะบริบทของสังคมเปลี่ยนแปลงไป อย่างช่วงโควิด มีการปรับระบบมาเป็น Telemedicine Telehealth มากขึ้น เป็นการดูแลที่บ้านผ่านระบบออนไลน์ หรือหลังจากโควิดเริ่มมีการขยายเรื่องการดูแล อย่างมะเร็งรักษาทุกที่ ก็จะเริ่มมีความต้องการบริการลักษณะนี้มากขึ้น ฉะนั้น พยาบาลก็จะมีการพัฒนาความรู้ เราเรียกว่าเป็น “การพยาบาลเฉพาะทาง” มากขึ้น เหมือนพยาบาลของเรา ถ้าอยู่ใน รพ. ในหออายุรกรรมเขาก็ต้องรู้เรื่องโรคหัวใจ มะเร็ง ปอดต่างๆ

"เราเห็นว่าการพัฒนาพยาบาลขึ้นมาให้ดูแลตอบสนองความต้องการของประชาชนตามเฉพาะโรค เช่นเดียวกับแพทย์ เมื่อพยาบาลต้องไปดูชุมชน เมื่อก่อนชุมชนเป็นส่งเสริมป้องกันจริงๆ พยาบาลชุมชนทำการฉีดวัคซีน ไปดูในโรงงานก็เป็นเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค แต่พอมาปัจจุบันทุกอย่างไปอยู่ที่ชุมชนหมด เพราะฉะนั้นระบบสุขภาพมันไม่พอ คลินิกการพยาบาลก็เป็นอีกนวัตกรรมที่มารองรับ เป็นหน่วยบริการร่วมของ สปสช." รศ.ดร.สุจิตรากล่าว


คลินิกพยาบาลช่วยลดแออัด รพ.

คลินิกการพยาบาลกับการทำงานใน 30 บาทรักษาทุกที่ฯ จะทำในลักษณะใดบ้าง รศ.ดร.สุจิตรากล่าวว่า ก็จะเป็นการบริการตามขอบเขตวิชาชีพ เราทำงานอิสระโดยไม่มีแพทย์ ตามกฎหมายของเราก็มีขอบเขตของวิชาชีพทำ 4 อย่าง คือ 1.ต้องให้ความรู้สุขภาพ ให้คำปรึกษาสุขภาพตามความต้องการ 2.ให้บริการพยาบาลตามอาการของผู้ป่วย เช่น มีบาดแผลก็ทำแผลให้ ต้องอาศัยอาหารทางสายยาง ก็ดำเนินการให้ 3.บริการให้วัคซีน ให้ภูมิคุ้มกัน และ 4.ปฏิบัติตามแผนการรักษาของแพทย์ อย่างคลินิกพยาบาลถ้ามีแผนการรักษาของแพทย์มา เราก็สามารถที่จะดูแลต่อไป แต่เราไม่สามารถที่จะวินิจฉัยและออกแผนการรักษาได้ จ่ายยาเราก็เป็นจ่ายยาเบื้องต้น ตามข้อกำหนดของการรักษาโรคเบื้องต้น ซึ่งเป็นขอบเขตอันนึงของพยาบาล รักษาเบื้องต้นกับให้วัคซีน ซึ่งบริ การตรงนี้จะเป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยลดภาระและความแออัดของ รพ. เพราะการมาคลินิกพยาบาลใกล้บ้าน ประชาชนไม่ต้องจ่ายค่าเดินทาง ไม่ต้องเสียเวลามานั่งรอ และระยะรอคอยสั้นกว่าอย่างมาก


ทันตแพทยสภารุกปรับมาตรฐานรองรับ

ด้าน ผศ.ทพ.สุชิต พูลทอง นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า จากการเดินหน้า 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เฟสแรก ทำให้เห็นปัญหาของกระบวนการทำงาน เช่น ลำดับการให้บริการ บางครั้งทันตแพทย์ไปทำอะไรที่ควรจะทำทีหลังสุดมาทำก่อน เช่น เคลือบปลูออไรด์อาจจะง่าย คิดว่าพบครั้งแรกเวลาไม่พอ ก็เลยขอทำเคลือบฟลูออไรด์ก่อน เป็นต้น ตรงนี้ทันตแพทยสภาก็ต้องมาปรับและแก้ไขว่า ว่าเปิดมาจะต้องมีการตรวจและวางแผนการรักษาก่อน และดูแลแบบทุกคนไม่เหมือนกัน ปัญหาเยอะดูแลแบบหนึ่ง ปัญหาน้อยดูแลอีกแบบหนึ่ง แล้วต้องดุตามความรุนแรงของปัญหา เอาสิ่งที่รุนแรงมาทำก่อน เช่น ปวดฟันต้องถอนฟันเลย หรือฟันรูใหญ่ก็ต้องทำก่อน ถ้าไม่มีฟันผุ มีหินปูนก็ขูดหินปูน เป็นต้น ซึ่งเราจะทำเป็นมาตรฐานไว้ แต่ที่ผ่านมาอาจจะยังเขียนไม่ชัเจน ทันตแพทย์จึงไปกันคนละทาง เราก็ะพยายามทำให้เป็นมาตรฐานเดียว โดยการเรียงลำดับความสำคัญใหม่

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ "เดนท์คลาวด์" ที่จะให้คลินิกคีย์ข้อมูลขึ้นเดนคลาวด์ทั้งหมด เพื่อเบิกจ่ายเงินก็จะจากตรงนี้ ซึ่งเดนท์คลาวด์จะทำให้มีข้อมูลการรักษาส่งถึงกันทั้ง รพ.และคลินิกทันตกรรม ซึ่งทันตแพทยสภาพยายามสนับสนุนโดยการยกเว้นค่าใช้จ่ายเรื่องเดนท์คลาวด์ อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่คลินิกทันตกรรมจะได้รับอีกอย่างจากการเข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ คือ เราจะมีการเปิดอบรมออนไลน์และให้ใบประกาศนียบัตร โดยเฉพาะผู้ช่วยทันตแพทย์ที่จะได้รับการอบรมเรื่องของการทำให้ปราศจากเชื้อหรือ Sterile


เฟสแรกเข้าร่วม 40% อัตราบริการพออยู่ได้

สำหรับการเข้าร่วมเฟสแรกใน 4 จังหวัด ผศ.ทพ.สุชิตกล่าวว่า ปัจจุบันเข้าร่วมประมาณเกือบ 35-40% ส่วนที่ยังไม่เข้ามาร่วม เพราะติดขัดข้อกังวลเรื่องการเบิกจ่าย แต่จากเฟสแรกก็ถือว่าฟีดแบ็กดี มีคนร่วมเยอะ สปสช.และทันตแพทยสภาก็ต้องดำเนินการให้สมูทที่สุดให้เป็นไปตามมาตรฐาน ส่วนอตัราเบิกจ่ายในต่างจังหวัดที่ไม่ใช่เมืองใหญ่ ราคาก็เหมาะสมอยู่ได้ แต่ถ้าเข้าในเมืองใหญ่ก็อาจจะเหนื่อยหน่อย แต่หากมองว่าได้ลูกค้าใหม่ ก็มีคลินิกสนใจมากขึ้น

"ตอนนี้คลินิกยังกังวลเรื่องเบิกจ่าย เลยมาสมัครเข้าโครงการไม่มากเท่าที่ควร แต่เมื่อเฟส 1-2 ผ่านไป แล้วผลออกมาดี คนจะแย่งกันเข้า เพราะก็อยากจะมีลูกค้าใหม่มาให้บริการ ขณะที่ภาครัฐได้ประโยชน์ เพราะคิวรักษายาว ก็จะมีเอกชนเข้ามาช่วย คิวก็จะสั้นลง งานยากจึงค่อยส่งไปภาครัฐ ก็จะแก้ปัญหาการเข้าถึงของประชาชน" ผศ.ทพ.สุชิตกล่าว


แนะ "คลินิก" เข้าร่วม ทำด้วยใจ หาใช่เงิน

ด้าน นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่สุดคือการทำให้คลินิก เข้าใจว่าที่เข้ามาร่วม ไม่ได้เข้ามาร่วมเพราะอยากเอาเงิน สปสช.อย่างเดียว แม้เงินมันต้องมี แต่เข้ามาร่วมเพราะจะช่วยเหลือประชาชน ให้เข้าถึงบริการได้ดีขึ้น แทนที่จะรอคิวยาว โรคก็ลามไป อย่างฟันผุก็กลายเป็นฟันถอน อุดฟันเป็นถอนฟัน มาถึงก็จัดการดูแลอุดฟันให้เรียบร้อยก็รักษาฟันไว้ได้ ต้องให้เขารู้สึกทำด้วยใจในฐานะที่เป็นหมอฟัน สองคือ ทำอย่างไรให้เป็นภาระน้อยที่สุด เช่น มีโปรแกรมของเขาอยู่แล้วในการใส่ข้อมูลคนไข้ ถ้าสามารถเชื่อมต่อระบบเบิกจ่าย ใส่ข้อมูลคนไข้กดทีเดียวไปเบิกจ่ายได้เลย ไม่ต้องมานั่งกรอกข้อมูลเบิกจ่ายอีกที ตรงนี้คิดว่า สปสช.ทำได้แน่ แต่ต้องมำให้เร็วที่สุด เพื่อลดภาระเขาให้มากที่สุด

ถามว่าที่ไปดูแต่ละจังหวัดเฟสสองพร้อมมากแค่ไหนแล้ว นพ.สุวิทย์กล่าวว่า ต้องชื่นชม สธ. เตรียมพร้อมมาก อย่างเพชรบูรณ์ก็เตรียมพร้อมมาก อย่าลืมคลินิกทันตกรรมเป้นหน่วยบริการนวัตกรรม เดิมต้องไปรอ รพ. ตอนนี้สามารถมาใช้ที่นี่ได้ เหมือนคลินิกพยาบาล คลินิกเทคนิคการแพทย์ ต้องไปรอเป็นชั่วโมงกว่าจะรอหมอตรวจ นี่สามารถมาเจาะเลือดที่คลินิกแล็บได้ เป็นนวัตกรรมที่ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากขึ้น

ถามว่าจะครอบคลุมคลินิกทันตกรรมทั้งหมดเมื่อไร นพ.สุวิทย์กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ นายกทันตแพทยสภาก็น่าจะโปรโมตเต็มที่ เพราะเป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพ ยกฐานะวิชาชีพให้สูงขึ้น ไม่ใช่ทำฟันเสียเงิน แต่ทำฟันเพื่อประโยชน์ของประชาชน ยกภาพลักษณ์ทันตแพทย์ทั้งหมดให้ดีขึ้น อย่างที่มาดูวันนี้ทันตแพทย์ก็ทุ่มเทมาก ขอชื่นชม เราไม่ต้องไปตั้งเป้า แต่เชื่อว่าถ้าทำอย่างดี โดยทันตแพทยสภาให้การสนับสนุนร่วม สปสช.กับ สธ. เชื่อว่าใครๆ ก็อยากจะเข้า ประเด็นที่ 1.คือระบบมันง่าย เบิกจ่ายก็ง่ายไม่ต้องเคาะอะไรหลายที ไม่งั้นจะกลายเป็นหมอหน้าจอ หมอฟันหน้าจอ 2.ค่าใช้จ่ายเขารับได้ ไม่รวยหรอก แต่เขาลงทุนไปแล้ว มีคนไข้อยู่แล้วอาจจะ 60-70% ของที่สามารถทำได้ นี่เติมไปอีก 30-40% เขาก็มีรายได้เพิ่มขึ้น ต้นทุนไม่ได้เพิ่มขึ้นมากก็นับว่าดี ซึ่งเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์

ฝากถึงคลินิกต่างๆ ที่ยังลังเล และชักชวนให้เข้าร่วม นพ.สุวิทย์กล่าวว่า คือถ้าท่านทำด้วยใจ ไม่ต้องลังเล เงินจะได้มากได้น้อยเดี๋ยวมาเอง ถ้าทำด้วยใจแล้วต้องคิดว่านี่เป้นส่วนหนึ่งส่วนเสริมจากรายได้หลักของท่าน ซึ่งประชาชนมารับบริการ ของเรามีตรวจสุขภาพ ขูด อุด ถอน เคลือบหลุมร่องฟัน 5 บริการ ถ้าจะทำครอบฟัน รักษาราก เขาทำอยู่แล้ว แต่เราเสริมตรงนี้ขึ้นมา คือ ยกฐานะวิชาชีพให้สูงขึ้นในการบริการประชาชน เป้นจุดสำคัญที่จะได้ ภาพลักษณ์สำคัญกว่าเงิน เงินอย่างไรก็หาได้ แต่ภาพลักษณ์ที่ดี แสดงว่าเรามีจิตวิญญาณที่ดี ผู้คนก็จะชื่นชมและก็จะเชื่อถือแล้วจะมาเอง ไม่ใช่ว่ามาบริการบัตรทองแล้วได้เงินได้ทองมากขึ้น แต่มาบริการบัตรทองทำให้ภาพลักษณ์ของคลินิกดีขึ้น และเงินทองส่วนอื่นก็จะมาเอง

"สปสช.ไม่ได้มีปัญญาไปเที่ยวชวน แต่ถ้าสภาวิชาชีพชวน มีความน่าเชื่อถือ และมาช่วยดูประเมินติดตามว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ สปสช. และ สธ.รีบแก้ปัญหา" นพ.สุวิทย์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น