xs
xsm
sm
md
lg

ชวนเด็กไทยค้นหาสิ่งที่ใช่ ลงมือทำสิ่งที่ชอบ กับ “ปิดเทอมสร้างสรรค์ กิจกรรมฉ่ำเว่อ” พื้นที่เรียนรู้นอกตำรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปิดเทอมในฝันของคุณเป็นอย่างไร? การได้เจอกับเพื่อน จับกลุ่มวาดรูป แท็กทีมเล่นสนุกแทนการจับมือถือ อ่านหนังสือการ์ตูนแทนการเรียนพิเศษ หรือออกไปปั่นจักรยานสูดอากาศในช่วงสาย ๆ

ต้องบอกว่า ความฝันเหล่านี้ก็ไม่ได้ต่างกับความตั้งใจแรกเริ่มของผู้ใหญ่กลุ่มนี้สักเท่าไหร่ กว่า 7 ปีที่ สสส. จับมือภาคีเครือข่ายร่วมกันออกแบบความฝันของเด็ก ๆ ให้กลายเป็นรูปเป็นร่าง ภายใต้โครงการ “ปิดเทอมสร้างสรรค์”

“ปิดเทอมสร้างสรรค์” เป็นโครงการที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) ที่มีการขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยเข้าถึงความรู้เพื่อการพัฒนาให้เท่าทันโลกยุคใหม่ที่มีทั้งความท้าทาย ความเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทอย่างมาก ผ่านพื้นที่การเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ พร้อมกิจกรรมสร้างสรรค์ใกล้บ้านที่มีคุณภาพและสมวัย

ในขณะเดียวกันก็พร้อมให้เด็กและเยาวชนได้ใช้เวลาช่วงปิดเทอมในการพัฒนาทักษะชีวิตทางสังคม ซึ่งสามารถกระตุ้นการเรียนรู้ กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ และสามารถค้นพบศักยภาพของตนเอง ผ่านความร่วมมืออันดีจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“ผมเองก็ชอบวันปิดเทอม จำได้ว่า ตอนปิดเทอมก็ไปเที่ยวบ้านเพื่อน บางทีก็ไปจับปลา ปีนต้นไม้ เก็บผลไม้ ตอนนั้นสนุกมาก ซึ่งผมเองก็อยากจะเห็นภาพเหล่านั้นกับเด็ก ๆ เช่นเดียวกัน” นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เอ่ยขึ้นในวงประชุมภาคีเครือข่ายงานปิดเทอมสร้างสรรค์ ประจำปี 2567 วงเสวนาขนาดอบอุ่นที่รวมเอาภาคีเครือข่ายมาจับเข่าแลกเปลี่ยนแนวคิดและคำแนะนำเกี่ยวกับกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ ที่กำลังกลับมาสร้างความทรงจำแสนสนุกอีกครั้งในวันที่ 2 มีนาคมที่กำลังจะถึง

โดยมีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมกว่า 60 คน จาก 50 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐสภา กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมส่งเสริมการเรียนรู้ มูลนิธิวายไอวาย มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ห้องหนังสือสมจริง อุทยานการเรียนรู้ TK Park

ซึ่งไฮไลท์ของปีนี้จะเน้นไปที่กิจกรรมฉ่ำเว่อ พร้อมตั้งเป้าขยายพื้นที่เรียนรู้ให้เด็กสามารถเข้าถึงได้ภายใน 15 นาที โดยเน้นขยายในภาคประชาสังคม

“ปิดเทอมสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมที่เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นที่สะท้อนให้ผู้ใหญ่ในสังคมเห็นว่า จริง ๆ แล้วเด็กต้องการสิ่งที่สร้างสรรค์มากกว่าสิ่งที่ต้องเรียนรู้อย่างเดียว การเรียนเป็นกรอบที่บังคับ ตื่นมาก็ขึ้นรถไปโรงเรียน เย็นรับกลับบ้านแล้วก็นอน มันไม่มีช่องว่าง แต่ช่วงปิดเทอมมีช่องว่างอยู่ นั่นคือสิ่งที่เราต้องคิดร่วมกันแล้วว่า จะเติมอะไรลงไปให้เขา เติมวิชาการต่อ หรือเติมอะไรต่าง ๆ ให้มันสมดุลและเหมาะสม”

มากกว่านั้น ผู้จัดการ สสส. มองว่า การทำกิจกรรมที่หลากหลายถือเป็นการช่วยให้เด็กและเยาวชนได้ค้นหาสิ่งที่ใช่ หรือสิ่งที่ชอบ ซึ่งครอบครัวอาจได้เห็นความชอบจากสิ่งที่เขาทำ พร้อมนำไปสนับสนุนต่อยอดในอนาคต ทั้งนี้ ประสบการณ์นอกห้องเรียนยังถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เขาเติบโตและพัฒนาอย่างครบถ้วน พร้อมช่วยกระตุ้นให้เด็กมีทักษะในการใช้ชีวิตด้านอื่น ๆ ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

“จริง ๆ แล้วเวลาเล่นสนุกเป็นเวลาแห่งความสุขมันไม่จำกัดว่า จะต้องมีกี่ชั่วโมง แต่อยู่ที่ว่า เขาอยากเรียนรู้แบบไหน หรือแบบไหนที่เขามีความสุข สนุกกับการที่เขาได้เล่นไปด้วย เรียนไปด้วย สิ่งที่เราคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นคือการที่เขาได้เรียนรู้จากการเล่นหรือการทำสิ่งต่าง ๆ อย่างมีความสุข ไม่ได้เกิดจากการถูกบังคับอยู่ในห้องเรียน”


นพ.พงศ์เทพ เสริมว่า ทักษะสำคัญที่เด็กจะได้รับคือ Soft skills หรือ ทักษะด้านการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ อย่างการได้เพื่อนใหม่ระหว่างกิจกรรม การสื่อสารร่วมกันกับทีม และการทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กสามารถเติบโตได้ทันยุคความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 และเชื่อว่า สามารถลดความเครียดที่เกิดขึ้นจากการเรียนในห้องเรียนของเด็กลงด้วย

“เราอยากเห็นเด็ก ๆ ได้มีพื้นที่เรียนรู้ที่เขาอยากเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยผู้ใหญ่ใจดีหลาย ๆ คนมาร่วมทำกิจกรรมเพื่อสนับสนุนให้เด็กสามารถที่จะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ผ่านแพลตฟอร์ม www.happyschoolbreak.comโดย สสส. อยากจะเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อให้ชุมชน สังคม หรือในทุก ๆ พื้นที่ได้ใช้แพลตฟอร์มนี้ในการสื่อสารให้เด็กในชุมชนของท่านสามารถที่จะเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ได้”


“ผมมองว่า จริง ๆ สังคมมีความเปลี่ยนแปลงขึ้นเยอะ จากเดิมที่มีหลายหน่วยงาน หลายองค์กรที่เห็นด้วยเพียงแต่ว่ายังไม่พร้อมที่จะลุกขึ้นมา แต่พอเขาเห็นคนอื่นลุกขึ้นมาเยอะ ๆ ทุกคนก็เลยพากันลุกขึ้นมาแล้วมองเป้าเดียวกันคือทำอย่างไรให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์เรียนรู้ทักษะชีวิตและสร้างเสริมจิตอาสา ซึ่งสิ่งที่ สสส. ได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรมที่ผ่านมาคือการที่เราได้เข้ามาเป็นพื้นที่กลางแล้วได้หนุนให้คนอื่นทำด้วย มันก็เหมือนทำให้เกิดการขับเคลื่อนในสังคม ทำให้สังคมรู้สึกว่า สามารถจะเดินไปในทิศทางที่สังคมอยากเห็นได้ ซึ่ง สสส.ก็พร้อมกระตุ้น สาน และเสริมพลังเพื่อช่วยเสริมให้สังคมสามารถเดินไปในทิศทางที่สังคมอยากไป” นพ.พงศ์เทพ อธิบายทิ้งท้าย

ที่ผ่านมา กิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ มีพื้นที่เรียนรู้ สร้างทักษะชีวิตนอกตำราผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งศูนย์การเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด สนามกีฬา มิวเซียม และงานจิตอาสา

“การปิดเทอมของเด็ก ๆ ที่มีเวลาถึง 150 วัน ถือเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานและส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก เช่น พัฒนาการถดถอย ภาวะโภชนาการที่ไม่ถูกหลัก ผู้ปกครองต้องทำงานไม่มีเวลาดูแล หลายบ้านแก้ปัญหาด้วยการให้เด็กไปเรียนพิเศษ เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น เนื่องจากเวลาช่วงปิดเทอมของเด็ก ๆ ควรจะถูกใช้เพื่อการเรียนรู้นอกห้องเรียนมากกว่า”

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.
ในขณะเดียวกัน พี่ผึ้ง หรือ น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ก็ชี้ให้เห็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่ากังวลคือปัญหาพื้นที่การเรียนรู้ที่เข้าถึงยาก เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งกลายเป็นโจทย์สำคัญที่ สสส. ต้องหาทางออกร่วมกันในปีนี้ โดยจะเน้นไปที่ 3 ส่วนหลัก ๆ คือ ขยาย การเรียนรู้ผ่าน Setting รูปแบบต่าง ๆ เชื่อมโยง ระบบการเรียนรู้ต่าง ๆ แบบไร้รอยต่อ เพิ่ม จำนวนเด็กเยาวชนที่รองรับได้ในแต่ละพื้นที่เรียนรู้

“ทุกครั้งที่ สสส. เปิดบ้านจัดกิจกรรมจากผลการสำรวจทุก ๆ ปีก็พบคำตอบเดิมคือ สถานที่จัดงานไกลบ้าน ต้องเดินทาง มีเรื่องค่าใช้จ่ายตามมา ถ้าอยากจะให้เด็กเข้าถึงได้ใน 15 นาที เรามองแล้วว่า หนึ่งตำบลหนึ่งพื้นที่เรียนรู้ก็ไม่พอ เพราะบางตำบลมี 10 -20 หมู่บ้าน เราอยากให้ขยายพื้นที่กิจกรรมไปในหลากหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องเป็นห้องสมุด ชุมชน หรือศูนย์การเรียนรู้ อาจจะเป็นบ้านของใครสักคนที่มีความตั้งใจส่งต่อความรู้ให้กับเด็ก ๆ ไม่มีผิด ไม่มีถูก แบ่งปันประสบการณ์ แบ่งปันความรู้ให้กับผู้อื่นได้”

“สุดท้ายนี้ สสส.อยากเห็นภาพการเชื่อมโยงของพื้นที่การเรียนรู้อย่างเป็นระบบ จากศูนย์เด็กเล็ก สู่โรงเรียน พื้นที่เรียนรู้ในชุมชน พื้นที่เรียนรู้แต่ละบ้าน ในอนาคตเราอยากเห็นแม้กระทั่งการเก็บหน่วยกิต เกิดการเรียนรู้ที่ไร้รอยต่อ ไหลลื่น ตลอดจนกลายเป็นทักษะชีวิตที่จะติดตัวไปตลอดชีวิตเด็ก” น.ส.ณัฐยา ให้ความเห็น

น.ส.พรเพ็ญ เธียรไพศาล ผู้ประสานงานโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ พื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนกลาง
ทางด้านของ น.ส.พรเพ็ญ เธียรไพศาล ผู้ประสานงานโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ พื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนกลาง เล่าให้ฟังว่า ตนเองเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายปีที่ 2 แล้ว เดิมทีมีความสนใจในประเด็นเด็กและเยาวชนเนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ทำงานเชิงสร้างสรรค์ รวมทั้งมีกิจกรรมที่ทำงานกับเด็กและเยาวชน ซึ่งพอมีกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ขึ้นมา ตนก็เล็งเห็นโอกาสการขยายพื้นที่ขอบเขตการเรียนรู้ของกลุ่มเด็กเหล่านั้น โดยปัจจุบันตนดูแลพื้นที่ในเขตดุสิต สัมพันธวงศ์ เกียกกาย และสวนอ้อยเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ปีนี้กิจกรรมจะเน้นไปที่การทำงานร่วมกับศูนย์เยาวชนและศูนย์สร้างสุขทุกวัย ด้วยการเข้าไปหนุนเสริมไอเดีย สร้างโมเดล แนะนำวิธีการทำงานกับเด็กและเยาวชน พร้อมร่วมออกแบบการจัดกิจกรรมให้เหมาะสมสำหรับเด็กจริง ๆ โดยเล็งกระจายไปสู่พื้นที่เรียนรู้ 4 ศูนย์เยาวชนในเขตกรุงเทพฯ อีกด้วย

“ปกติจุดอ่อนของศูนย์เยาวชนคือเด็กน้อยเพียงแค่หลักสิบเท่านั้น แต่มีจุดแข็งคือผู้สูงอายุเยอะ พอปีที่ผ่านมา หลังการจัดกิจกรรมก็พบว่า เด็กเยอะขึ้นมาก ซึ่งปีนี้มีการตั้งเป้าให้มีเด็กเข้าร่วมอย่างน้อยศูนย์ละ 100 คน”

เมื่อถามถึงการทำงานร่วมกับ สสส. น.ส.พรเพ็ญ เล่าว่า ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ สสส. เข้ามาหนุนเสริมในประเด็นที่ขาด เช่น งบประมาณ วิธีการ หรือแคมเปญต่าง ๆ อีกทั้งยังถือเป็นการขยายโอกาสในการทำงานกับพื้นที่อื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ยังช่วยให้ภาคีเครือข่ายสามารถมองภาพและทิศทางที่ชัดขึ้นว่าแต่ละปีจะเป็นอย่างไร อย่างแคมเปญที่กำลังจะเปิดในปีนี้ก็เป็นการล้อกับศัพท์วัยรุ่นอย่าง “กิจกรรมฉ่ำเว่อ” ซึ่งน่าสนใจมาก

นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่ในครั้งที่ผ่าน ๆ มา น.ส.พรเพ็ญ ให้ข้อมูลว่า เด็กส่วนมากจะสนใจกิจกรรมเกี่ยวกับภาษาเป็นพิเศษ เช่น ทัวร์เรียนรู้ภาษาอังกฤษในกรุงเทพฯ การสื่อสารภาษากับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน องค์กรภาครัฐที่เข้าร่วมกิจกรรมมากว่า 6 ปีอย่าง นายมงคล สิริถิรวัฒน์ ผู้จัดการโครงการรัฐสภาร่วมพลังสร้างสุข สังกัดสำนักงานเลขาธิการสภารัฐสภา เล่าว่า




กำลังโหลดความคิดเห็น