"ชลน่าน" นั่งหัวโต๊ะ ถกเข้ม 5 เครือข่ายสถานพยาบาล สั่ง สปสช.ชะลอหักเงิน เล็งอัดหางบเพิ่มเข้าระบบ จี้เปิดข้อมูลหลังคลินิกร้องไม่ได้ส่งต่อผู้ป่วย แต่พบ 4 เดือน ใช้งบไปแล้ว 50% เห็นพ้องตั้ง Provider Board จับตาอยู่ใต้บอร์ด สปสช. ส่อเพิ่มสัดส่วนภาคประชาชนเข้าร่วม
เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นตัวแทน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับหนังสือจากเครือข่ายสถานพยาบาล 5 สถาบัน ได้แก่ ชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์ ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ที่เรียกร้องให้มีการจัดตั้ง Provider Board เพื่อจรรโลงระบบสุขภาพไทยให้ยั่งยืน และขอให้ทบทวนระบบบริหารจัดการของ สปสช. เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเบิกจ่ายที่ต่ำกว่าต้นทุน และเกิดการค้างจ่ายเงินจำนวนมาก
สั่งประเมินด่วน 20 ปี ระบบ สปสช. หาจุดดี-ด้อย
นพ.โอภาสกล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ได้รับมอบหมายจาก รมว.สธ.ให้มารับหนังสือ รมว.สธ.เข้าใจและห่วงใยประเด็นนี้ เนื่องจากระบบการแพทย์และสาธารณสุข จะขับเคลื่อนได้ต้องมีผู้ให้บริการ แต่ระบบอาจมีปัญหาใน 2 ระดับ คือ 1.เชิงโครงสร้างและระบบ 2.ปัญหาเชิงรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่ง รมว.สธ.ทราบดีว่าปัญหาเชิงโครงสร้างมีมานานแล้ว ไม่ได้เพิ่งเกิด ก็พยายามช่วยแก้ไขปัญหาจุดนี้ โดย สปสช.ทำมา 20 ปีแล้ว ก็จะต้องมีการประเมินเชิงระบบว่า ที่ทำมา 20 ปีเป็นอย่างไร ซึ่งมีทั้งจุดดีที่ต้องทำต่อ และจุดที่ต้องปรับปรุงก็มีอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะโครงสร้าง ก็ให้มีการศึกษาและประเมินด่วนว่าอะไรต้องแก้ไข
"ยกตัวอย่างระบบ สปสช.กำหนดเอาไว้ 3 ประการ คือ 1.มีผู้ให้บริการคือเครือข่ายของเรา 2.ผู้รับบริการคือประชาชน และ 3.สปสช.เป็นตัวกลางซื้อบริการและประกันคุณภาพ ทั้ง 3 นี้เป็นโครงสร้างใหญ่สำคัญ ที่ผ่านมาการจัดระบบดูเหมือนละเลยโครงสร้างเชิงผู้ให้บริการ ที่เครือข่ายเรียกร้องมาขอ Provider Board เพราะจะทำอะไรก็ตาม เพิ่มสิทธิประโยชน์อะไร ประชาชนได้ประโยชน์ แต่ที่กระทบตามมาคือโครงสร้างผู้ให้บริการ ถ้าผู้ให้บริการอยู่ไม่ได้ ผู้รับบริการก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน" นพ.โอภาสกล่าว
เน้นแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง
นพ.โอภาสกล่าวว่า การทำให้ผู้ให้บริการอยู่ได้ คือ บุคลากร อุปกรณ์ และค่าตอบแทนต้องเพียงพอ ก็สะท้อนกลับมาที่ตัวเม็ดเงินที่จ่าย คือ หลักการใหญ่ที่ต้องทบทวนเชิงโครงสร้างและตรงกับข้อเสนอที่เครือข่ายเรียกร้อง ซึ่งไม่ได้มากอะไร คือ ให้มีเครือข่ายผู้ให้บริการทางการแพทย์ เพื่อให้กลไก 3 เสาหลักขับเคลื่อนไปด้วยกันและสมดุล ซึ่ง รมว.สธ.ทราบเรื่องแล้ว จะต้องคุยกัน ส่วนรายละเอียดปลีกย่อย วิธีเบิกจ่ายงบประมาณเข้าใจว่าเป็นรายละเอียดของแต่ละพื้นที่ จะสังเกตว่าส่วนใหญ่ปัญหาจะเกิดที่ กทม. ส่วนต่างจังหวัดก็ทราบมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) และ ผอ.รพ.พยายามเกลี่ยงบจนสุดตัว แต่พอถึง กทม. คำถามคือใครจะดูแลรับผิดชอบ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอีกอันหนึ่งว่า จึงต้องมาหารือกันช่วยกันแก้ไข
Provider Board ยังทับซ้อน มอบ สปสช.ยกร่าง
นพ.จเด็จกล่าวว่า เราดูข้อเสนอต่างๆ ก่อนว่าจะปรับระบบได้อย่างไร สำหรับการตั้ง Provider Board ที่ประชุมบอร์ด สปสช.ล่าสุด มอบให้ สปสช.ไปยกร่างและเสนอคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์ เพราะกรรมการหลายท่านมองว่า ยังมีความทับซ้อนกับอนุกรรมการชุดอื่น ซึ่งเรามี 14 ชุด จึงให้ สปสช.ช่วยดูและยกร่าง ส่วนกรณีหักเงิน 30% นั้น เนื่องจากงบประมาณเป็นปลายปิด ซึ่งปีนี้ผลงานบริการสูงกว่าเงินที่กันไว้ ทำให้การจ่ายสัดส่วนดูลดลง แต่ถ้าหากผลงานเกิดกับประชาชนเพิ่มขึ้น ก็ต้องหาทางมาดูแลต่อ เพราะประชาชนได้ประโยชน์ ก็ต้องดูแลให้ แต่ไม่ใช่อำนาจ สปสช.ฝ่ายเดียว เราจะทำข้อเสนอผู้มีอำนาจเป็นขั้นๆ ต่อไป ซึ่งจะต้องประสานคณะกรรมการหลายๆ ชุด
อาจต้องชงของบเพิ่มมาจ่าย
ถามว่าจะมีการหางบประมาณเพิ่มมาจ่ายหรือไม่ นพ.จเด็จกล่าวว่า จริงๆ ไม่ใช่อำนาจสำนักงานฯ แต่ถ้ามีความจำเป็นก็อาจจะต้องเสนอผู้มีอำนาจ เช่น รมว.สธ. คณะกรรมการ เพราะรายงานการเงินเราถูกตรวจสอบตลอด มีอยู่ในรายงาน ตอนนี้เงินเราค่อนข้างตึง ก็ขอบคุณทุกท่านที่ให้เสียงออกมา ถ้าจำเป็นก็เสนอผู้มีอำนาจต่อไป
ถามว่าพื้นที่ กทม.ควรเป็นโมเดล 2 หรือโมเดล 5 ในการจ่ายเงิน นพ.จเด็จกล่าวว่า โมเดลปัจจุบัน ผู้มารับบริการเท่าไรเราจ่ายตามผลงานบริการ แต่ในอดีตไม่ว่ามีหรือไม่มีผู้รับเราเหมาไปให้ ก็กำลังเลือกว่าอันไหนจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและคลินิก ส่วนที่คลินิกมีการเรียกร้องให้กลับไปเป็นโมเดล 2 ก็เป็นไปได้หมด เพราะกำลังทำตัวเลขอยู่ แต่ข้อเสนอจากชุดคณะทำงานเสนอให้ สปสช.พิจารณาตั้งแต่เดือนมี.ค.เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากให้สัมภาษณ์ได้มีการประชุมหารือร่วมกัน โดยหลังจากนั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการ สธ.ได้เข้ามาร่วมประชุมด้วย ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง โดยภายหลังการประชุมได้มอบหมายให้ นพ.โอภาส และ นพ.จเด็จร่วมกันชี้แจง
เห็นพ้องตั้ง Provider Board
นพ.โอภาสกล่าวว่า ปัญหาที่สะท้อนมาของผู้ให้บริการที่มีปัญหามากทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด โดยเฉพาะวันนี้คลินิกชุมชนอบอุ่นก็มาสะท้อนปัญหหลายประการให้เลขาธิการ สปสช.รับทราบ รมว.สธ.พยายามแก้ไขปัญหา ซึ่ง 1.ต้องมีการทบทวนระบบของ สปสช.หลังผ่านมา 20 ปี 2.ระบบหลักประกันสุขภาพนอกจากมีบอร์ด สปสช.แล้ว เสาหลักคือผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และ สปสช. ต้องสมดุลดำเนินการ เครือข่ายผู้ให้บริการทั้ง 5-6 เครือข่าย เห็นพ้องว่าอยากมีเสียงสะท้อนของกลุ่มผู้ให้บริการ เพราะเวลามีมติอะไรออกมา กลุ่มนี้ต้องไปดำเนินการจัดการ ถ้ากลุ่มนี้อยู่ไม่ได้กาารให้บริการประชาชนก็เกิดไม่ได้ ที่ประชุมเห็นพ้องว่าจะต้องผลักดันให้เกิดคณะกรรมการ Provider Board ขึ้นมา เพื่อสะท้อนกลับกฎเกณฑ์ นโยบาย กติกาที่ สปสช.ออกมา ซึ่งเลขาธิการ สปสช.ก็เห็นด้วย
ส่วนกระบวนการ Provider Board ก็จะรับไปดู ซึ่งการจัดตั้งจะอยู่ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อำนาจในการตั้งจะอยู่ที่บอร์ด สปสช. รมว.สธ. ก็จะใช้กลไกนี้ ซึ่งบอรืด สปสช.ก็มีมติแล้วว่า ขอให้ดูบทบาทและกลับไปตั้งต้นมาจากคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์ ที่มีบทบาทเสนอ ตอนนี้สำนักงานฯ เตรียมประสาน สธ.ยกร่างและเสนอผ่านอนุกรรมการ ไม่ได้ยกเลิกหรือไม่เอา ไม่เกินเดือนนึงก็น่าจะเสร็จ ซึ่งอาจไม่ทันประชุมบอร์ด สปสช.วันที่ 21 ก.พ. แต่น่าจะทัน 20 มี.ค.
ยัดภาค ปชช.เข้า Provider Board
ถามถึงองค์ประกอบของ Provider Board นพ.จเด็จกล่าวว่า ควรจะมีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาทั้งหมด ตอนนี้ภาคประชาชนก็ถือว่าเป็นผู้ให้บริการตามมาตรา 3 ก็เสนอเข้ามาเยอะหน่อย แต่ขอให้ครอบคลุม มีการพูดคุยปัญหาจริงๆ อย่าง 5 เครือข่ายที่มาก็ควรต้องอยู่ในบอร์ด หรือแม้แต่ รพ.สต.ถ่ายโอนก็อยู่ ภาคประชาชนดูแลคนไข้เอดส์ก็อยู่นะ ทำให้มองตอนแรกๆ อาจมองเร็วนิดหนึ่ง ดังนั้น เรื่องนี้ต้องพิจารณาทั้งหมด
ถามว่า Provider Board จะดูเรื่องวิธีคิดการจ่ายเงิน โมเดลต่างๆ ใช่หรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ต้องอยู่ที่บทบาทหน้าที่ ท่านปลัด สธ.พูดเสมอว่า สปสช.ทำงานเองไม่ได้ เพราะเราไม่มีหน่วยบริการในระบบ หลักๆ คือ สธ.ดังนั้น เมื่อออกสิทธิประโยชน์อะไรไป หากทำไม่ได้จะมีปัญหา จึงต้องมีการพูดคุยกัน ดังนั้น จะดูเรื่องระบบการจ่ายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูภาพรวมทั้งหมด
จับตา Provider Board แค่คณะอนุฯ ใต้บอร์ด สปสช.
เมื่อถามว่าสุดท้าย Provider Board ก็จะกลับมาที่บอร์ด สปสช.ใช่หรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ควรเป็นเช่นนั้น เพราะระบบของพ.ร.บ.หลักประกันฯ เน้นการรับฟังความคิดเห็นอยู่แล้ว ซึ่งหลายท่านบอกว่าหลายอย่างยังมีส่วนร่วมไม่พอ ดังนั้น การมี Provider Board ก็จะทำให้มีส่วนร่วมมากขึ้น เรื่องนี้จึงอยากให้มองบวกและร่วมกันขับเคลื่อนดู
ถามต่อว่าในส่วนคลินิกชุมชนอบอุ่น ต่อไปเมื่อมีปัญหายังต้องให้เป็นหน้าที่ของอนุกรรมการประกันสุขภาพแห่งชาติระดับพื้นที่ (อปสข.) หรือสามารถเข้าสู่ Provider Board นพ.จเด็จ กล่าวว่า กติกาที่กำหนดยังผ่องถ่ายไปที่ อปสข. แต่บางเรื่องก็ควรเข้าบอร์ด สปสช. ได้เช่นกัน เพื่อให้บอร์ดได้ความเห็นอีกเช่นกัน เรื่องนี้ก็รับนโยบายมาแล้ว หากทันจะเข้าสู่บอร์ดสปสช.พิจารณา
ชะลอหักเงิน รพ. หาทางอัดเงินเข้าระบบ
นพ.โอภาสกล่าวว่า ส่วนประการเร่งด่วนคือการจ่ายเงิน มีการพูดถึงเงินที่ค้างจ่าย หนี้ที่ไม่รู้ใครเป็นหนี้ใครหลายพันล้านบาท รมว.สธ.เห็นชอบว่าต้องมีการแก้ไขเร่งด่วน คือ 1.การหักเงินให้ชะลอไว้ก่อน 2.เงินที่ค้างให้รีบทำความตกลงกันว่าจะอัดเงินเข้าไปในระบบอย่างไร เพื่อให้คลินิกบริการต่างๆ โดยเฉพาะ กทม. อยู่ได้ และสามารถดำเนินการต่อไปได้ มอบให้เลขาธิการ สปสข.ดำเนินการต่อไป
จี้ สปสช.เปิดข้อมูล 4 เดือนเบิกจ่ายไป 50%
นพ.จเด็จกล่าวว่า อย่าเรียกว่าหนี้เลย เป็นเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่ตรงกัน ในส่วนของปีก่อนยืนยันว่ายังชะลอไว้ก่อน ให้มีระบบที่ดูแลตัวเลขกันก่อน ทั้งของคลินิกและ รพ.ต่างๆ กับอีกส่วนคือปีนี้ คลินิกเข้าใจว่ากังวลงบประมาณไม่พอ มีมติออกมาให้จ่ายในอัตราที่ลดลงก่อน รมว.สธ.ก็ให้นโยบายว่าต้องเร่งทำข้อมูลตรงนี้ โดยจะมีคณะทำงานร่วมกันระหว่างคลินิก สปสช. และผู้เชี่ยวชาญคณะทำงานย่อย เพื่อให้เคลียร์ตรงนี้ โดยหลักควรจ่ายอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่วันนี้มีข้อสงสัย คลินิกพูดตลอดว่าไม่เห็นข้อมูล สปสช. เราต้องรีบเปิดข้อมูลให้ดูให้ชัด เพราะคลินิกยืนยันว่าไม่ได้ส่งผู้ป่วยออกไป ทำไมข้อมูลว่าส่งไปก็ไปกินค่าใช้จ่ายเขา ตรงนี้ต้องเคลียร์ ซึ่งยอดเงินที่ต้องจ่ายดูแลสูง 4 เดือนใช้ไปเกือบครึ่งหนึ่ง ก็ต้องรีบไปทำ กรอบระยะเวลาก็พยายามจะดำเนินการให้เร็วที่สุด
คลินิกขึ้นป้ายจนกว่าสางปัญหา
ด้าน รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธาน UHosNet กล่าวว่า ขอยืนยันว่า สิ่งที่เราดำเนินการต้องไม่กระทบประชาชน สบายใจได้ เพียงแต่เรานำข้อมูลจริงนำมาสะท้อนกลับให้ผู้ใหญ่ทราบ อย่างไรก็ตาม จากการประชุมก็ดีใจในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเรื่องนี้มีผลต่อการดำเนินการของระบบ
ผู้แทนจากสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น กล่าวว่า ยังคงขึ้นป้ายเรียกร้อง จนกว่าจะเห็นผลว่า มีการดำเนินการอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมาการแก้ปัญหาไปอยู่ที่ อปสข.ตลอด และกรรมการชุดใหญ่ทำงานอะไร เรื่องนี้จึงต้องติดตามว่า จะแก้ไขได้จริงหรือไม่ จะจ่ายเงินให้คลินิกบัตรทองได้เมื่อไร
ด้าน นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรม รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป กล่าวว่า เรื่องหนี้ รมว.สธ. ให้ชะลออย่าเพิ่งหักเงิน ให้มาหารือระบบร่วมกันก่อน อย่างไรก็ตาม ในการประชุมจะเน้นเรื่อง Provider Board ก่อน ก็ต้องมาติดตามว่า โครงสร้าง บทบาท สัดส่วนกรรมการจะเป็นอย่างไร ส่วนเรื่องต้นทุนนั้นยังไม่มีการพูดคุยในวันนี้ อาจต้องอยู่ที่งบขาขึ้นด้วย ดังนั้น เรื่องนี้ต้องติดตามว่า จะมีการแก้ไขอย่างไร ซึ่งในการประชุมวันนี้ทิศทางเริ่มดี แต่ก็ต้องติดตามต่อไป