กลุ่มคนไทยพิทักษ์สิทธิ์ เรียกร้องกรมควบคุมโรคเปิดเผยสัญญาซื้อขายวัคซีน mRNA จากไฟเซอร์ เชื่อเป็น “สัญญาทาส” เหมือนที่ทำกับรัฐบาลแอฟริกาใต้ หลังศาลสั่งเปิดเผย พบเงื่อนไขไฟเซอร์ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ หากวัคซีนเกิดผลข้างเคียง ชี้่เป็นสัญญามาตรฐาน ตั้งเงื่อนไขกับไทยก็ไม่ต่างกัน จี้เปิดเผยให้สังคมตรวจสอบ
วันนี้(12 ก.พ.) ในเฟซบุ๊กกลุ่มคนไทยพิทักษ์สิทธิ์ มีการโพสต์ข้อความกรณี รัฐบาลแอฟริกาใต้ ถูกศาลสูงสั่งให้เปิดเผยสัญญาที่ทำไว้กับบริษัทไฟเซอร์ มีเนื้อหาระบุว่า
คงจำกันได้ในช่วงที่มีการเรียกร้องให้มีการจัดหา “วัคซีนเทพ” จากบริษัทไฟเซอร์ แต่ไม่มีบริษัทเอกชนรายใดสามารถนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ได้ ด้วยสาเหตุสำคัญคือ บริษัทเอกชนเหล่านั้นไม่สามารถให้สัญญากับบริษัทไฟเซอร์ในเงื่อนไขที่ทางบริษัทต้องการได้ จนในที่สุดรัฐบาล โดยกรมควบคุมโรคต้องเป็นผู้ลงนามในสัญญาซื้อวัคซีนดังกล่าวกับบริษัทไฟเซอร์
คำถามคือ เงื่อนไขใดที่บริษัทเอกชนไทยไม่สามารถให้สัญญากับไฟเซอร์ได้?
คำตอบ คือ ไฟเซอร์ต้องการให้ระบุในสัญญาว่า หากฉีดวัคซีนที่อยู่ระหว่างทดลองของตนแล้ว เกิดผลข้างเคียงใดๆ ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาการเพียงเล็กน้อย พิการ หรือถึงขั้นเสียชีวิต ไฟเซอร์ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าในทางกฎหมาย หรือในทางการเงิน
มีความพยายามที่จะขอดูเอกสารสัญญาดังกล่าวในหลายประเทศทั่วโลก แต่รัฐบาลต่างๆทั่วโลกกลับร่วมมือกับบริษัทไฟเซอร์ ปกปิดสัญญาเหล่านั้น ยังโชคดีที่มีกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรมในประเทศแอฟริกาใต้ ได้ฟ้องร้องรัฐบาลให้เปิดเผยสัญญา “ทาส” ฉบับดังกล่าว
ในที่สุดศาลสูงของประเทศแอฟริกาก็มีคำสั่งให้เปิดเผยเอกสารสัญญาดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๖ โดยมีการนำเอกสารสัญญานั้นมาวิเคราะห์ในรายละเอียดและพบว่า เป็นสัญญาที่บริษัทไฟเซอร์เอาเปรียบคู่สัญญา ซึ่งคือ รัฐบาลประเทศแอฟริกาใต้เป็นอย่างมาก
สามารถอ่านรายละเอียดทั้งหมดได้เอกสารได้ที่ เว็บไซด์นี้ Pandemic Transparency - Health Justice Initiative (HJI)
แต่ประเด็น ที่สำคัญคือ ในสัญญาดังกล่าวได้ระบุให้รัฐบาลต้องให้หลักประกันว่า ไฟเซอร์จะไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลข้างเคียงใดๆ จากวัคซีน โคเมอร์เนตี หรือ วัคซีนโควิด mRNA ของตน
เป็นที่ทราบกันดีว่า ไฟเซอร์ใช้สัญญามาตรฐานที่มีเงื่อนไขเดียวกันเซ็นกับรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก สัญญาที่ไฟเซอร์เซ็นกับรัฐบาลไทยจึงอาจมีเงื่อนไขที่ว่านี้ด้วย อันอาจเป็นสาเหตุให้ สปสช.ต้องใช้เงินภาษีของประชาชนไปจ่ายเป็นค่าชดเชยกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวัคซีนแทนบริษัทไฟเซอร์
กระทรวงสาธารณสุข โดยท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมควบคุมโรคอาจจะออกมาให้สัมภาษณ์ปฏิเสธเรื่องดังกล่าว แต่วิธีที่ดีที่สุดในการปฏิเสธ คือการเปิดเผยสัญญาที่ทางรัฐบาลได้ทำไว้กับบริษัทไฟเซอร์ในสังคมได้ตรวจสอบ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการฟ้องร้องเหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศแอฟริกาใต้ เพราะการที่ท่านปลัดกระทรวงจะปกปิดสัญญาดังกล่าวไว้ ย่อมทำให้เห็นว่าท่านมีเจตนาที่จะช่วยเหลือ ปกป้องผลประโยชน์ให้กับบริษัทไฟเซอร์ อันเป็นการกระทำที่ทำให้ท่านเองขาดคุณสมบัติของการเป็นข้าราชการที่ดี ไร้ซึ่งหลักธรรมาภิบาล ขาดความโปร่งใส ไม่ต้องการให้สังคมสามารถตรวจสอบได้
นอกจากนี้ กลุ่มคนไทยพิทักษ์สิทธิ์ ยังได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ขอให้กรมควบคุมโรคเปิดเผย “สัญญาทาส” ที่ทำไว้กับบริษัทไฟเซอร์ ดังนี้
เขียนที่ กลุ่มคนไทยพิทักษ์สิทธิ์
วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
จดหมายเปิดผนึกถึงอธิบดีกรมควบคุมโรค
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร
เรื่อง ขอให้กรมควบคุมโรคเปิดเผย “สัญญาทาส” ที่ทำไว้กับบริษัทไฟเซอร์
เรียน อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร
สิ่งที่ส่งมาด้วย
๑. คำสั่งศาลสูงของประเทศแอฟริกาใต้ให้รัฐบาลแอฟริกาใต้เปิดเผยสัญญาจัดซื้อวัคซีนทีี่ทำไว้กับบริษัทไฟเซอร์ (1)
๒. รายงานผลการวิเคราะห์สัญญาระหว่าง บริษัทไฟเซอร์กับรัฐบาลแอฟริกาใต้ “One-Sided”(2)
๓. หนังสือขอข้อมูลข่าวสารของราชการ ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พุทธศักราช ๒๕๔๐
ตามที่กรมควบคุมโรค โดยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีในขณะนั้นได้ลงนามในสัญญาซื้อขาย mRNA วัคซีนกับบริษัทไฟเซอร์(ประเทศไทย) เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ นั้น เนื่องจากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเงื่อนไขในสัญญาฉบับดังกล่าว ว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทไฟเซอร์ ในการที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดผลข้างเคียงภายหลังจากได้รับวัคซีน mRNA ตามที่ระบุในสัญญา หรือไม่ ทั้งนี้เงื่อนไขดังกล่าวเป็นเงื่อนไขที่ขัดต่อ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พุทธศักราช ๒๕๒๒ เพื่อเป็นการลบคำครหาดังกล่าวจึงขอให้ท่านเปิดเผย สัญญาทั้งหมดที่เกี่ยวกับการจัดซื้อ วัคซีนโคเมอร์เนตี (Comirnaty) ที่กรมควบคุมโรคได้ทำไว้กับ บริษัทไฟเซอร์ (ประเทศไทย) บริษัทไบออนเทค (BioNtec) หรือ บริษัท Pfizer Inc. ให้กับสังคมได้ตรวจสอบ อนึ่งสัญญาดังกล่าวมิได้เป็นข้อมูลข่าวสารที่ไม่ต้องเปิดเผยตามมาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ การที่ท่านจะรับฟังคำคัดค้านตามมาตรา ๑๗ จากบริษัทดังกล่าวข้างต้นอาจเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทยา จึงขอให้ท่านเปิดเผยสัญญาดังกล่าวโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ได้มีคำตัดสินของศาลสูงของประเทศแอฟริกาใต้ (เอกสารแนบที่ ๑) ให้เปิดเผยสัญญาระหว่างบริษัทไฟเซอร์กับรัฐบาลแอฟริกาใต้ อันมีข้อความและเงื่อนไขใกล้เคียงกับสัญญาที่บริษัททำไว้กับรัฐบาลไทย โดยมีรายงานการวิเคราะห์สัญญาดังกล่าว (เอกสารแนบที่๒)
การที่ท่านจะประวิงเวลาในการเปิดเผยสัญญาดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่รังแต่จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของท่านและกรมควบคุมโรคเท่านั้น
กลุ่มคนไทยพิทักษ์สิทธิ์
(1) https://healthjusticeinitiative.org.za/wp-content/uploads/2023/08/F-1000922-the-health-justice-vs-min-of-health-judgm.pdf
(2) https://healthjusticeinitiative.org.za/wp-content/uploads/2023/10/HJI_One-Sided-FINAL-10-10.pdf?