xs
xsm
sm
md
lg

"ปลาไหลเผือก" สมุนไพรท้องถิ่น "บึงกาฬ" เสี่ยงสูญพันธุ์ เร่งกำหนดพื้นที่คุ้มครอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมแพทย์แผนไทยฯ เร่งสำรวจ 10 พื้นที่ ทั่วไทยกำหนดพื้นที่คุ้มครองสมุนไพร นำร่อง "บึงกาฬ" พบสมุนไพร 135 ชนิด มีสมุนไพรท้องถิ่น "ปลาไหลเผือก" โตช้า เสี่ยงสูญพันธุ์ เร่งออกประกาศกำหนดพื้นที่คุ้มครองสมุนไพร ชวนประชาชนร่วมเสนอพื้นที่

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ภารกิจของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในด้านการอนุรักษ์ เฝ้าระวัง คุ้มครอง และส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านไทย สมุนไพรและถิ่นกำเนิดของสมุนไพร ในพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ตามมาตรา 61 ได้กำหนดให้พื้นที่ที่เป็นถิ่นกำเนิดของสมุนไพรที่มีระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติ หรือมีความหลากหลายทางชีวภาพที่อาจถูกทำลายหรืออาจได้รับผลกระทบ จากการกระทำของมนุษย์ได้โดยง่าย หรือการเข้าไปใช้ประโยชน์จากสมุนไพร ซึ่งอาจเป็นการเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงได้ดำเนินการค้นหา สำรวจพื้นที่ ที่ตรงตามเกณฑ์จำนวน 10 พื้นที่ ทั่วทุกภาคในประเทศไทย โดยนำร่องพื้นที่ จังหวัดบึงกาฬ พบว่า

มีสมุนไพร กว่า 135 ชนิด และพบสมุนไพรสำคัญของท้องถิ่น คือ ปลาไหลเผือก ที่มีส่วนผสมในตำรับยาแผนไทยหลายตำรับ โดยจะใช้ประโยชน์จากรากเท่านั้น และเป็นสมุนไพรที่โตช้า ทำให้มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หรือมีความเสี่ยงจะถูกทำลาย จึงเร่งรัด อนุรักษ์ และคุ้มครอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม ในการออกประกาศกำหนดพื้นที่คุ้มครองสมุนไพร

โดยช่วงเวลาที่ผ่านมา ปี พ.ศ.2560-2564 สำรวจชนิดพันธุ์สมุนไพรในพื้นที่ เขตอนุรักษ์กว่า 30 พื้นที่ จำแนกจัดกลุ่มสมุนไพร เป็น 3 กลุ่ม ตามมาตรา 44 แห่ง ดังนี้ 1) สมุนไพรที่อาจจะสูญพันธุ์ มีความยากในการขยายพันธุ์ มีความต้องการใช้ประโยชน์สูง สำรวจพบ 172 ชนิด เช่น กำลังช้างสาร โคคลาน ขันทองพยาบาท 2) สมุนไพรที่มีค่าต่อการศึกษาวิจัย สามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์การสาธารณสุข เศรษฐกิจและการดำรงชีพ จำนวน 1,029 ชนิด เช่น พะยอม ประคำไก่ รกฟ้า 3) สมุนไพรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เป็นที่ต้องการของตลาด สำรวจพบ จำนวน 316 ชนิด เช่น ฟ้าทะลายโจร กวาวเครือขาว สมอไทย

ทั้งนี้ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย หมอพื้นบ้าน ผู้นำชุมชน ประชาชน ในการคุ้มครอง อนุรักษ์สมุนไพร และถิ่นกำเนิดของสมุนไพรที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หรือมีความเสี่ยงจะถูกทำลาย จึงเชิญชวนประชาชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเสนอพื้นที่ที่เข้าเกณฑ์ เพื่อร่วมพิจารณากำหนดให้เป็นพื้นที่คุ้มครองสมุนไพร ต่อ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข หรือ ประสานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในเขตพื้นที่ที่ท่านอาศัยอยู่

ทางด้าน ดร.นันทศักดิ์ โชติชนะเดชาวงศ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านไทย ได้กล่าวเพิ่มเติม เกณฑ์ตามลักษณะพื้นที่อนุรักษ์ถิ่นกำเนิดสมุนไพร ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ 1.) มีระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติหรือมีความหลากหลายทางชีวภาพที่อาจมีโอกาสการสูญพันธุ์ 2.) มีการเข้าไปใช้ประโยชน์จากสมุนไพร โดยมีลักษณะเป็นการเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หรือการลดลงของพันธุกรรม 3.) หน่วยงานราชการ มีวัตถุประสงค์จะส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการบริหาร พัฒนา 4.) ยังไม่ถูกประกาศเป็นพื้นที่เขตอนุรักษ์ 5.) ไม่เป็นที่ดินในกรรมสิทธิ์ของบุคคลหรือเอกชน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านไทย โทร 02 149 5607


กำลังโหลดความคิดเห็น