“รีลีฟ คลินิกกายภาพบำบัด” ร่วมดูแลผู้ป่วย IMC สิทธิบัตรทอง “4 กลุ่มโรค” ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพหลังพ้นระยะเฉียบพลัน พร้อมทำงานร่วมกับเครือข่าย-โรงพยาบาลกระจายผู้ป่วย เพิ่มการเข้าถึงบริการ พัฒนาแอปฯ Smart IMC มอนิเตอร์ภาพรวม วางแผนรักษาร่วมกัน เผยผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการกว่า 85% กลับไปชีวิตได้ปกติ
เมื่อเร็วๆ นี้ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำคณะลงพื้นที่เยี่ยมชมหน่วยนวัตกรรมคลินิกกายภาพบำบัด "รีลีฟ คลินิกกายภาพบำบัด" อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยระยะกลาง (Intermediate care : IMC) สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) 4 กลุ่มโรค ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ผู้ป่วยสมองได้รับบาดเจ็บ (Traumatic brain injury) ผู้ป่วยไขสันหลังได้รับบาดเจ็บที่ได้รับการรักษาจนเข้าสู่ภาวะคงที่ และผู้ป่วยภาวะกระดูกสะโพกหักจากภยันตรายชนิดไม่รุนแรง (Fragility fracture hip ) โดยมี กภ.กุลทิพย์ ศิริวรรณ นักกายภาพบำบัดเจ้าของคลินิก นพ.พิชิต แร่ถ่าย แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลสกลนคร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ
กภ.กุลทิพย์ เปิดเผยว่า สำหรับคลินิกกายภาพบำบัดรีลีฟ เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. ให้บริการผู้ป่วย IMC ในระบบบัตรทองมาแล้ว 2 ปี โดยมีผู้ป่วยใหม่เข้ารับบริการเดือนละ 8 ราย และให้บริการฟื้นฟูในเขตอ.เมือง เฉลี่ยเดือนละ 50 ครั้ง หลังจากได้รับการรักษาในระยะเฉียบพลัน และจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล เนื่องจากผู้ป่วยในกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูภายใน 6 เดือน (Golden Period) ซึ่งจะเป็นระยะเวลาที่ผู้ป่วยฟื้นตัวไวที่สุด
อย่างไรก็ดี การที่คลินิกเอกชนเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบ สปสช. ทำให้สามารถให้บริการผู้ป่วยได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งกว่า 85% ของผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการที่คลินิก สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เกือบปกติ มีเพียงบางส่วนเล็กน้อยเท่านั้นที่มีอาการคงเดิม หรือเสียชีวิต
“คลินิกฯ เองก็มีการลงพื้นที่ให้บริการผู้ป่วยถึงบ้าน ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถเข้ามารับบริการที่หน่วยบริการได้ รวมถึงมีการใช้แอปพลิเคชัน Smart IMC ที่พัฒนาโดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลสกลนครในการดำเนินงานต่อด้วย” กภ.กุลทิพย์ กล่าว
นพ.พิชิต กล่าวว่า การที่มีคลินิกกายภาพบำบัดเข้ามาเป็นหน่วยร่วมบริการในระบบนั้น ตอบโจทย์กับพื้นที่จังหวัดสกลนคร รวมถึงโรงพยาบาลสกลนครซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ด้วย เพราะโรงพยาบาลฯ มีผู้ป่วยเข้ามารับบริการเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ป่วย IMC ที่มีจำนวนประมาณ 100 ราย เช่นเดียวกับผู้ป่วยเฉพาะที่อยู่ในตัวเมืองก็มีจำนวนไล่เลี่ยกัน ทำให้นักกายบำบัดที่มีอยู่ไม่สามารถให้บริการได้อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ดี หัวใจสำคัญของการดูแลผู้ป่วยระยะฟื้นฟูคือการกระจายผู้ป่วยออกไปยังคลินิกเอกชน หรือหน่วยบริการที่เป็นเครือข่าย เพื่อที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการได้มากขึ้น และรวดเร็วขึ้นภายในระยะเวลา 6 เดือนหลังจากการรักษาในโรงพยาบาล ฉะนั้นจึงได้มีการพัฒนาแอปฯ Smart IMC ขึ้นมา เพื่อส่งต่อข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล และคลินิกที่เข้าร่วมโครงการ โดยจะมีการติดตามอาการ ลงคะแนนเพื่อติดตามดูแลการของผู้ป่วย รวมถึงมีการส่งข้อมูลกลับเข้ามายังโรงพยาบาลล และสรุปผลการรักษา
ด้าน ทพ. อรรถพร กล่าวว่า ผู้ป่วยหลายโรคจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง หลังจากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วย IMC ขณะเดียวกันก็มีจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่จำนวนนักกายภาพบำบัดที่ให้บริการอาจจะยังไม่เพียงพอ ฉะนั้นจึงทำให้ผู้ป่วยยังมีระยะเวลาการรอคอยในการเข้าถึงการฟื้นฟูอยู่ ขณะเดียวกัน ในภาคเอกชนก็พบว่ายังมีนักกายภาพบำบัดอยู่ค่อนข้างมาก ฉะนั้นการให้คลินิกเอกชนเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในการฟื้นฟู จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะทำให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นได้รับการรักษา และมีโอกาสในการเข้าถึงบริการ
นอกจากนี้ คลินิกกายภาพบำบัดก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยบริการที่อยู่ในนวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ ด้วยเหตุผลคือการกระจายผู้ป่วยออกไปยังหน่วยบริการภาคเอกชน ลดความแออัดในโรงพยาบาล ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยต่อรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากคลินิกกายภาพบำบัดแล้ว ยังมีหน่วยบริการอื่นๆ เช่น ร้านยา คลินิกเวชกรรม ทันตกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์ ฯลฯ ที่เป็นหน่วยนวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ด้วย
“สำหรับจุดเด่นของจังหวัดสกลนคร คือการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาล และคลินิกกายภาพบำบัดภาคเอกชน โดยจะมีการวางแผนการกระจายผู้ป่วยที่ต้องได้รับการฟื้นฟูไปยังหน่วยบริการที่เข้าร่วม และติดตามอาการ จำนวนครั้งที่เข้ารับการฟื้นฟู โดยพัฒนาแอปฯ ขึ้นมา ทำให้โรงพยาบาล และคลินิกที่เป็นเครือข่ายสามารถเห็นข้อมูล และวางแผนการรักษาร่วมกันได้ ทำให้มีผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้มากขึ้น” ทพ.อรรถพร กล่าว
อนึ่ง ปัจจุบันมีคลินิกกายภาพบำบัดที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. จำนวน 1,151 แห่ง ภาพรวมข้อมูลช่วง 3 ปี มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ จำนวน 67,402 ราย นับเป็นจำนวนเข้ารับบริการ 366,184 ครั้ง จำแนกผู้ป่วยออกเป็น 1. ผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง จำนวน 56,874 คน คิดเป็น 274,733 ครั้ง 2. ผู้ป่วยสมองบาดเจ็บ จำนวน 3,586 คน คิดเป็น 15,336 ครั้ง 3. ผู้ป่วยบาดเจ็บที่ไขสันหลัง จำนวน 2,115 คน คิดเป็น 12,723 ครั้ง และ 4. ผู้ป่วยกระดูกข้อสะโพกหัก จำนวน 3,640 คน คิดเป็น 10,488 ครั้ง