คลินิกปฐมภูมิเจอปัญหา เลิกจ่าย "บัตรทอง" เป็นพิษ 324 แห่ง ขาดทุนรวมกว่า 580 ล้านบาท ยันรุกทำงานส่งเสริมสุขภาพแล้ว แต่ก็ยังเข้าเนื้อ แจงจ่ายเงินโมเดล 2 แบบเหมาจ่าย โมเดล 5 แบบจ่ายตามจริง แตกต่าง ต้องเลือกให้เหมาะสมกับพื้นที่และประชากร อิงบริบทจริง
เมื่อวันที่ 10 ก.พ. นางศรินทร สนธิศิริกฤตย์ เจ้าของคลินิกเวชกรรมอารีรักษ์ หนึ่งในสมาชิกสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น กล่าวว่า วันที่ 13 ก.พ.นี้ สมาคมฯ จะร่วมกับเครือข่ายแพทย์ต่างๆ UHosNet ที่ได้รับผลกระทบจะเดินทางไปยัง สปสช. เพื่อเข้าพบ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ขอให้มีการปรับปรุงการบริหารจัดการของ สปสช. ให้มีความชอบธรรมกับหน่วยบริการทุกระดับ เนื่องจากที่ผ่านมาล้วนได้รับผลกระทบทางการเงินกันหมด เพียงแต่แตกต่างกันไปในแต่ละระดับ อย่างคลินิกชุมชนอบอุ่น จะแบ่งเป็นคลินิกระดับต่างๆ ทั้งคลินิกเวชกรรม คลินิกปฐมภูมิ
นางศรินทร กล่าวว่า สำหรับคลินิกเวชกรรมอารีรักษ์ เป็นคลินิกปฐมภูมิ ซึ่งได้รับผลกระทบทางการเงินจากวิธีคิดของ สปสช. ปัจจุบันมีปัญหากันถึง 324 แห่ง รวมมูลค่า 580 ล้านบาท อย่างของคลินิกเวชกรรมอารีรักษ์ รับผลกระทบของปี 2566 ไปแล้วเกือบ 2 ล้านบาท ประเด็นนี้ตอนที่เลขาธิการ สปสช.ลงพื้นที่มาหารือเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมาไม่ได้มีการพูดเรื่องนี้ พูดแค่ว่าให้หันไปทำงานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค หรือให้ใช้งบฯ PP แทน ซึ่งไม่ใช่ เพราะที่เป็นปัญหาคืองบ OP เป็นงบรักษา ถามว่า ที่คลองเตยเราก็ทำอยู่แล้วงบ PP เรามีการเยี่ยมบ้านแล้ว แต่เงินไม่ได้เท่ากับที่เข้าเนื้อ แล้วจะให้มากลบหนี้กัน เป็นไปไม่ได้
“คลินิกเวชกรรมอารีรักษ์ อยู่บริเวณคลองเตย มีชุมชนแออัด คนไม่ได้มีเงินมาจ่ายค่ารักษากันเอง เราต้องใช้บัตรทอง ซึ่งคลินิกดูแลประชากรบัตรทอง 9,999 คน จากจำนวนประชากรบัตรทองในเขตคลองเตย 70% ของประชากร 2 แสนกว่าคน ดังนั้น ถ้าจ่ายเงินให้เราน้อยกว่าความเป็นจริง เราก็เข้าเนื้อเรื่อยๆ เราจะอยู่อย่างไร แต่ตอนนี้เราก็ยังรักษาผู้ป่วย ให้บริการคนไข้ตลอด เพราะเรามีจรรยาบรรณ แต่ถ้า สปสช.ยังทำแบบนี้เราก็แย่ สุดท้ายไม่ต้องปิดตัวหรือ ที่ผ่านมาเราได้ฟ้องศาลปกครองแล้ว แต่เรื่องยังไม่สิ้นสุด เราถือโอกาสว่า วันที่ 13 ก.พ.นี้ จะมีโอกาสพบ รพ.ชลน่าน เพื่อหาทางออกร่วมกัน” เจ้าของคลินิกฯ กล่าว
เมื่อถามว่าต้องยกเลิกวิธีคิดเงินแบบโมเดล 5 เป็นโมเดล 2 ใช่หรือไม่ และควรจ่ายไม่ต่ำกว่าต้นทุน นางศรินทร กล่าวว่า กรรมาธิการการสาธารณสุข ทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนฯ เคยถามว่า สปสช.ทราบหรือไม่ว่า ต้นทุนของคลินิก ของรพ.ใช้เท่าไหร่ ทำไมไม่จ่ายให้ไม่น้อยกว่าต้นทุน ซึ่ง สปสช.ไม่ตอบ ตรงนี้คืออะไร อย่างเรื่องโมเดล 5 และโมเดล 2 ก็ต้องพิจารณารอบด้านตามความเหมาะสมของพื้นที่นั้นๆ ด้วย เพราะคลินิกบางแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ประชากรไม่มาก ก็อาจไม่เหมาะกับโมเดล 2 เพราะโมเดล 2 เป็นการจ่ายตามหัวประชากร แต่โมเดล 5 เป็นการจ่ายตามจริง ซึ่งเหมาะกับคลินิกที่ดูแลประชากรมากกว่า 8-9 พันคนขึ้นไป แต่ไม่ว่าอย่างไรต้องดูตามจริงด้วย
นางศรินทร กล่าวว่า โมเดล 5 เริ่มมีการปรับเปลี่ยนเมื่อปี 2564 เป็นการจ่ายตามจริง ซึ่งเราเข้าใจ ขณะนั้นอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด ต้องมีหลายภาคส่วนมาช่วยกัน ไม่ใช่แค่หน่วยบริการประจำ การเหมาจ่ายทำไม่ได้ เพราะมีหลายภาคส่วน อย่างฮอสพิเทล เป็นต้น ทำให้การจ่ายเงินจะเป็นการจ่ายตามผลงาน จ่ายตามจริง แต่ปรากฎว่าปี 2565 โควิดเริ่มหมด จนมาปี 2566 กลายเป็นการจ่ายตามผลงานเป็นพิษ อย่างเงินมีปลายปิดกว่า 2,685 ล้านบาท เมื่อเงินปลายปิดก็ต้องบริหารแบบปลายปิด ไม่เช่นนั้นก็มีการรีเฟอร์เท่าไหร่ไม่จำกัด ดังนั้น การจะปรับวิธีคิดทางการเงิน ต้องอิงกับบริบทความเป็นจริงด้วย
เมื่อถามว่า ควรมีการเปลี่ยนจากโมเดล 5 กลับเป็นโมเดล 2 ใช่หรือไม่ นางศรินทร กล่าวว่า เห็นว่าจะมีการปรับเป็นโมเดล 2 อีกครั้งในวันที่ 1 มี.ค.นี้ แต่ใช้เศษเงินที่เหลือ ซึ่งตนไม่เห็นด้วย สปสช.ต้องตั้งต้นใหม่ด้วยการ เซ็ตซีโร่ เริ่มใหม่และใช้โมเดล 2 แบบเหมาจ่ายแต่ต้องมีประชากรอย่างน้อย 9 พันคนขึ้นไป แต่ถ้าประชากรมีแค่ 500-1,000 คนก็ต้องใช้โมเดล 5 แต่ก็จะมีเงื่อนไข ดังนั้น เรื่องนี้ต้องหารือกันทั้งหมด สปสช.ต้องยอมให้ผู้มีส่วนทั้งหมดเข้าร่วม และขอให้รับฟังคำทักท้วงบ้าง เพราะที่ผ่านมาไม่ได้รับฟังเลย ปัญหานี้สะท้อนไปถึงสปสช.มานานแล้ว อย่างชัดๆ คือตั้งแต่ธ.ค. 2565 จนสะสมมาถึงทุกวันนี้