xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ออก กม.ดึงเงินคดี "ยาเสพติด" ตั้งกองทุนบำบัด "จิตเวช" ครอบคลุม เหตุผู้ป่วยใช้สารเสพติดถึง 70%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมสุขภาพจิตแจง เล็งดึงเงินจากคดี "ยาเสพติด" ตั้งกองทุนดูแลผู้ป่วยจิตเวช พบกว่า 60-70% ผู้ป่วยมีการใช้สารเสพติดร่วมด้วยอยู่แล้ว รับ 4-5 ปี สถานการณ์แย่ลง ยาเสพติดทำให้ผู้ป่วยแย่ลง พบความชุกเข้ารักษามากขึ้น

จากกรณีกรมสุขภาพจิตผลักดันร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. ... ที่มีการเสนอให้ตั้งกองทุนสุขภาพจิต โดยอาจใช้เงินจากคดียาเสพติดเข้ากองทุน เพื่อใช้บำบัดดูแลผู้ป่วยจิตเวชอย่างมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันมีงบประมาณสำหรับดูแลผู้ป่วยจิตเวชเฉลี่ยรายละ 50 บาท ขณะที่สากลเฉลี่ย 250 บาทต่อคน แต่ยังมีคำถามว่า หากนำเงินจากคดียาเสพติดมาใช้ จะสามารถใช้งบดังกล่าวเพื่อดูแลผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด ซึ่งบางส่วนไม่ได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือไม่

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผอ.กองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยจิตเวชในประเทศไทย พบว่า กว่า 70% ที่มีปัญหาเรื่องของการใช้สารเสพติดร่วมด้วย ซึ่งมี 2 แบบ คือ 1.จากคนปกติ แต่มีการใช้สารเสพติดมานานทำให้เกิดผลกระทบกลายมาเป็นผู้ป่วยจิตเวชในภายหลัง และ 2.เป็นผู้ป่วยจิตเวชอยู่แล้ว ก็ยังมีการใช้สารเสพติดหรือเหล้าร่วมด้วย เพื่อหวังว่าจะลดอาการบางอย่าง ทำให้เกิดปัญหาคู่กัน ขณะนี้พบราวๆ 60% ที่เกิดปัญหาคู่กัน เพราะฉะนั้น หากมีเงินกองทุนเข้ามา ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะสามารถนำไปใช้สำหรับบำบัดดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีสารเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้องเท่านั้น เพราะอย่างน้อยก็ครอบคลุมไปแล้วถึง 60-70% ของผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด

เมื่อถามว่าตัวเลขผู้ป่วยจิตเวชที่มีการใช้สารเสพติดร่วมกว่า 60-70% เป็นตัวเลขสะสม หรือเป็นตัวเลขใหม่ที่เพิ่มเข้ามา พญ.ดุษฎี กล่าวว่า เราพบว่า มันแย่ลงเมื่อช่วง 4-5 ปีหลังนี้ และทำให้อาการผู้ป่วยจิตเวชแย่ลงด้วย โดยพบความชุก หรือจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยปัญหายาเสพติด สารเสพติเพิ่มขึ้นทุกปี ทุกๆ พื้นที่ของประเทศ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาสารเสพติดหลายชนิด โดย 85% คือ แอมเฟตามีน พบมากในกลุ่ม 15-60 ปี ส่วนอายุที่ใช้ก็พบว่า น้อยลงเรื่อยๆ มีการแพร่ระบาดเข้าไปในโรงเรียนด้วย

“สารเสพติดที่ก่อปัญหาสุขภาพจิตนั้น กระทั่งแอลกอฮอล์อย่างเดียวก็ทำให้มีปัญหาสุขภาพจิตแล้ว แต่ตอนนี้สารเสพติดตัวอื่นๆ แซงขึ้นมามาก โดยเฉพาะมีการใช้ผสมกัน โดยมีสารเสพติดที่ถูกฎหมาย อย่างเช่นบุหรี่นำเข้าไปสู่การใช้ยาเสพติดชนิดอื่นๆ ตามมาโดยธรรมชาติ” พญ.ดุษฎี กล่าว

พญ.ดุษฎีกล่าวว่า เกือบทั้งหมดของคนที่ใช้สิ่งเหล่านี้พบว่า มีรากฐานมาจากปัญหาด้านจิตใจบางอย่าง เช่น มีบาดแผลทางใจ มีภาวะซึมเศร้า แต่รักษาไม่ถูก โดยเฉพาะส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย เพราะจะไม่ค่อยพูดออกมา ในขณะที่ผู้หญิงหากมีปัญหาก็จะพูดหรือสื่อสารออกมา แต่ผู้ชายจะใช้สุรา สารเสพติด เป็นเหมือนยากรักษาบาดแผลทางใจ มุมหนึ่งอาจจะดูเป็นปัญหาสังคม แต่มุมหนึ่งคนเหล่านี้ก็ถือว่า เป็นเหยื่อของปัญหาสังคมมาก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น