รมช.สธ. "สันติ" เข้าร่วมฉลองสานความร่วมมือ "ไทย-สหราชอาณาจักร" เร่งเก็บพันธุกรรมคนไทยให้ครบ 5 หมื่นราย ในปี 67 ที่เป็นปีสุดท้าย พบเพิ่มเก็บข้อมูลเพียงครึ่งเดียว 2.5 หมื่นคน พร้อมดันรัฐบาลเดินหน้าโครงการต่อ หนุนพัฒนา ยกระดับองค์ความรู้ด้าน "จีโนมิกส์" ไทย เพิ่มประสิทธิภาพรักษาประชาชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นเกียรติพิธีฉลองครบรอบ 1 ปี การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุขและการดูแลทางสังคม แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ว่าด้วยความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ ซึ่งครบรอบ 1 ปี เมื่อวันที่19 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา โดยความร่วมมือดังกล่าวเพื่อสร้างโอกาสความร่วมมือ ในด้านวิชาการทางการวิจัย และการพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์จีโนมิกส์ระหว่างสองประเทศขึ้นที่ โรงแรมโฟซีซั่น ไพรเวท เรสซิเดนซ์ กรุงเทพมหานคร
นายสันติ กล่าวว่า การแพทย์จีโนมิกส์ หรือ การแพทย์แม่นยำ เป็นการให้บริการทางการแพทย์ ที่มีการนำข้อมูลพันธุกรรมมาใช้ร่วมกับข้อมูลสุขภาพรวมถึงข้อมูลสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิต ที่จำเพาะของผู้ป่วยแต่ละรายมาใช้ในการวินิจฉัย และวางแผนการรักษา ได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้นทำให้ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการเจ็บป่วย ตลอดจนสามารถใช้ตรวจคัดกรอง เพื่อป้องกันการเกิดโรคในอนาคต รวมถึงป้องกันความพิการ และพัฒนาการช้าของเต็กที่เกิดใหม่ เรียกได้ว่า การแพทย์จีโนมิกส์ สามารถดูแลสุขภาวะของประชาชน ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เป็นทารก จนตลอดทุกช่วงชีวิต
จากความสำคัญดังกล่าว รัฐบาลให้การสนับสนุนการถอดรหัสพันธุกรรมชาวไทย จำนวน 50,000 ราย ภายใต้แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย พ.ศ. 2563 - 2567 หรือ Genomic Thailand โดยมีสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นหน่วยประสานกลางในการขับเคลื่อน นอกจากนี้ Genomic Thailand ยังถือเป็นงานสำคัญที่สนับสนุนนโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาล ตามแนวทางของการกระทรวงสาธารณสุข ที่ประกาศว่า ต้องการให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นหนึ่งในกระทรวงเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมกับบรรจุเรื่องศูนย์กลางการแพทย์มูลค่าสูง ให้เป็น 1 ในนโยบาย 13 ข้อด้านการสร้างเศรษฐกิจสุขภาพ ของกระทรวงสาธารณสุข 2567 ซึ่งการแพทย์จีโนมิกส์ ถือเป็นอีก ประเด็นสำคัญ ที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้
"ขอบคุณสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ที่เลือกประเทศไทย ในการสร้างความร่วมมือด้านการแพทย์จีโนมิกส์ ที่จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาสุขภาพของพี่น้องประชาชนชาวไทย ให้มีการรักษาพยาบาลที่ดี โดยในปี 2567 จะเป็นปีสุดท้าย ในการลงนามความร่วมมือกันไว้ ปัจจุบันดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมชาวไทย กว่า 25,000 ราย และภายในปี 2567 จะพยายามดำเนินการให้ครบ 50,000 ราย ซึ่งจีโนมิกส์เป็นเทคโนโลยีที่มีเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ และประเทศไทย เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่จะไปตรวจสอบ โรคต่างๆ ของผู้ที่มีโรคทางกรรมพันธุ์ ทำให้เกิดการรักษาตรงเป้าหมาย และเกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง" นายสันติ กล่าว
อย่างไรก็ตามเป้าหมายที่จะดำเนินการเรื่องจีโนมิกส์ของประเทศไทยนั้น หลังจากนั้น 2567 สิ้นสุดความร่วมมือ จะไปผลักดันให้รัฐบาลทำโครงการต่อไป และกระทรวงสาธารณสุขมีความตั้งใจที่จะพัฒนาการแพทย์จีโนมิกส์ให้ขยายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว เพื่อพี่น้องประชาชนรักษาโรคได้ตรงจุด และลดต้นทุนในการรักษาได้อย่างแท้จริง รวมทั้งยกระดับคุณภาพการรักษาพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขของไทย