xs
xsm
sm
md
lg

กว่า 4 ชม. คนชายขอบ "สบเมย" ถึงได้รักษา วาง 3 ระบบส่งต่อ อภ.เล็งบริหารคลังยา "รพ.อำเภอ" ชวนทำโมเดลนำร่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พื้นที่ทุรกันดารห่างไกล ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญของปัญหาสาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ ที่ทำการเข้าถึงบริการสุขภาพมีความยากลำบาก โดยเฉพาะ "เมืองสามหมอก" อย่าง จ.แม่ฮ่องสอน ที่เต็มไปด้วยทิวเขา การคมนาคมไม่สะดวกสบาย ยิ่ง "อ.สบเมย" ที่อยู่ทางตอนใต้สุดของจังหวัด การเดินทางมารับบริการสาธารณสุขยิ่งมีความยาำลบาก โดยเฉพาะ "คนชายขอบ"


รพ.สบเมยมีหมอแค่ 4 คน

จากการลงพื้นที่ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่มามอบยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ ผ้าห่ม และอุปกรณ์การเรียนในพื้นที่ อ.สบเมย ช่วงวันที่ 2-3 ก.พ.ที่ผ่านมา นพ.พิทยา หล้าวงค์ ผอ.รพ.สบเมย เปิดเผยถึงปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของพื้นที่ อ.สบเมย ว่า รพ.สบเมย เป็น รพ.ชุมชนขนาด 30 เตียง ดูแลประชากรในพื้นที่ประมาณ 46,000 คน มีแพทย์เพียง 4 คน เมื่อเทียบกับ รพ.ชุมชนในจังหวัดอื่นๆ ที่มีขนาด 30 เตียงเท่ากัน แต่มีแพทย์ 10-15 คน ถือเป็นความท้าทายของ รพ.สบเมยว่าจะทำอย่างไรให้ดูแลประชากรอย่างมีคุณภาพมากที่สุด ซึ่งทุกคนจะร่วมกันตรวจ OPD ห้องฉุกเฉิน และยังต้องรับผิดชอบคลินิกต่างกันไป เช่น คนหนึ่งรับผิดชอบคลินิก NCDs อีกคนฝากครรภ์ เป็นต้น ซึ่งหากมีแพทย์มากกว่า 4 คน ก็จะขยับงานจากเชิงรับไปเชิงรุกได้มากขึ้น และไปทำงาน Primary Care ได้มากขึ้น โดยในพื้นที่เราเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพราว 70% คนต่างด้าว 20กว่า% ที่เหลือคือข้าราชการและประกันสังคม ส่วนใหญ่งบจึงได้จาก สปสช. ผู้ป่วยนอก 1 ปีรับดูแลประมาณ 5-6 หมื่นคน ผู้ป่วยใน 2 พันกว่าคนต่อปี โรคที่รักษาส่วนใหญ่จะเป็นโรคง่ายๆ เช่น ไข้หวัด NCDs การติดเชื้อทางเดินอาหารที่ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน หากซับซ้อนก็จะส่งต่อ รพ.แม่ข่าย คือ รพ.แม่สะเรียง ที่ใช้เวลาครึ่งชั่วโมง


รพ.สต. 6 แห่งกันดารห่างไกล 2 แห่งไร้ไฟฟ้า

นพ.พิทยากล่าวว่า รพ.สบเมย มี รพ.สต.ลูกข่าย 8 แห่ง โดย 2 แห่งอยู่ในเมือง อีก 6 แห่งอยู่ห่างไกลเดินทางลำบาก จำนวนนี้มี 2 แห่งที่ไม่มีไฟฟ้า จะใช้โซลาร์เซลล์ตลอดปี แต่ช่วงหน้าฝนที่ไม่มีแดดก็มักมีปัญหา ต้องใช้น้ำมันกับเครื่องปั่นไฟฟ้า ส่วนการติดต่อกับ รพ.สต.เมื่อก่อน รพ.สต.ก็ไม่ค่อยมีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ต้องขับมอเตอร์ไซค์แบกโน้ตบุ๊กไปจุดที่มีสัญญาณ ปัจจุบันพยายามเอาอินเทอร์เน็ตไปลง ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่การเดินทางไป รพ.สต.ก็ประมาณ 4 ชั่วโมงถึงขึ้นไป แม้ตอนนี้ทางลาดยางหมดก็ยังใช้เวลาประมาณ 1-1.5 ชั่วโมง


คนชายขอบใช้เวลากว่า 4 ชม.ถึงได้รักษา

การดูแลคนไข้ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล ย่อมมีปัญหาอุปสรรคแน่นอน โดย นพ.พิทยากล่าวว่า การเข้าถึงจะไม่เท่าเทียมกับคนไข้ในเมือง เพราะคนไข้ห่างไกลมารับบริการที่ รพ.สต. อาจไม่ได้รับบริการตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ เช่น คนไข้ต้องการเวลาในการรักษา อย่างโรคเส้นเลือดหัวใจตีบหรือหลอดเลือดสมองที่ต้องใช้เวลา คนในเมืองเพียงกด 1669 มารับที่บ้านไป รพ.ได้ยาทันที แต่คนไข้ละแวกนี้ใช้เวลาเดินทาง 1-2 ชั่วโมงในการมาถึง รพ.สต. และใช้เวลาอีก 1-2 ชั่วโมงเพื่อไป รพ.อีก ทำให้เกิดความล่ช้าในการรักษาได้ เรากำลังพยายามทำระบบให้คนไข้ รพ.สต. ในพื้นที่ห่างไกลได้รับบริการที่เท่าเทียมกับคนไข้ในเมือง จึงทำระบบการดูแลผู้ป่วยก่อนถึง รพ.หรือ Pre Hospital care ให้คนไข้ดูแลตัวเองได้ดีขึ้น รับรู้เฝ้าระวังโรคตัวเองได้มากขึ้น เข้าถึงระบบ 1669 ได้ดีขึ้น


วางระบบส่งต่อ 3 ด้าน

นพ.พิทยากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เรายังวางระบบส่งต่อทั้ง 3 ทาง คือ ทางรถ ทางเรือ และทางอากาศ ให้เข้าถึงอย่างปลอดภัยและรวดเร็วเท่าเทียมคนไข้ในเมือง อย่างทางเรือเนื่องจากติดลำน้ำสาละวิน ซึ่งช่วงหน้าฝนเดินทางไกลและลำบาก การขนส่งทางเรือก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่า โดยใช้เรือทางทหารในพื้นที่ หรือเรือชาวบ้านไปให้ลงทะเบียนกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อเคลมเบิกจ่ายค่าน้ำมันให้ชาวบ้าน ส่วนอากาศยานมีการเอาเฮลิคอปเตอร์ไปรับคนไข้ที่ที่จุดส่งต่อในหมู่บ้าน หรือส่งต่อจาก รพ.หนึ่งไปรพ.หนึ่ง โดยได้รับความร่วมมือจาก Sky Doctor ระดับเขต ซึ่งตอนนี้เราเน้น Primary Mission ในการช่วยชาวบ้านหาว่า จุดไหนที่เข้าถึงบริการลำบากจริงๆ ก็จะไปตั้งจุด ฮ.ขึ้นมา ทำระบบให้ชัดเจน เมื่อชาวบ้านมีปัญหาก็เรียก ฮ.ได้ไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันก็มีการส่งต่อทุกปี


บริหารจัดการคลังยาค่อนข้างยาก

นพ.พิทยากล่าวว่า อีกปัญหาคือเรื่องการบริหารจัดการคลังยา เรามีปัญหา 2 ประเด็น คือ 1.การขนส่ง เนื่องจากมี รพ.สต.ลูกข่าย 6 แห่งที่เดินทางลำบาก ทำให้ไม่สามารถทำตามแผนที่วางไว้ได้ อย่างตอนแรกเราวางแผนการขนส่งยาระบบ "ซีโร่สต๊อก" คือ จะไม่ให้สต๊อกที่ รพ.สต. หมายถึง รพ.สต.ใช้ยาเท่าไร เราจะเติมหรือรีฟิลยาให้เท่านั้น เช่น คนไข้ 1 คนใช้ยาพารา 10 เม็ด เราจะส่งให้ไปเลย 10 เม็ดในวันที่เบิก แต่เราไม่สามารถทำได้ เพราะมีปัญหาการขนส่ง จึงต้องสต๊อกเป็นรายเดือน เช่น รพ.สต.ใช้ยาเท่าไรใน 1 เดือน เราก็จะเบิกให้ต่อ 1 เดือน และ 2.เรายังไม่มีโปรแกรมการควบคุมระบบ รพ.และ รพ.สต.ที่ยังไม่ลิงก์กัน ทำให้ไม่รู้เรียลไทม์ว่า รพ.สต.ใช้ยาไปกี่เม็ดแล้วจะให้ยากี่เม็ด ตอนนี้ใช้ระบบเบิกยา 1 เดือนไปสต๊อกที่ รพ.สต.

"ตรงนี้ย่อมมีผลต่อการดูแลคนไข้ เพราะการไปสต๊อกที่ รพ.สต. เหมือนเราคาดการณ์ไว้ว่า เดือนนี้คนไข้จะใช้ยาไปเท่าไร ก็จะคาดการณ์ไว้ และเอายาไปสำรองเท่านั้น ทำให้มีบางกรณีที่ใช้ยาเกิน อย่างช่วงโรคระบาด ทำให้ยาไม่พอ เราก็ต้องเอายาเสริมเข้าไป" นพ.พิทยากล่าว


สำหรับการบริหารจัดการยาที่ใช้ต่อปีมูลค่าไม่เยอะ ประมาณ 5-6 ล้านบาทต่อปี มีการสำรองไว้ในคลังประมาณ 5 แสนบาทต่อปี การซื้อยาและจ่ายยาสัดส่วนพอๆ กัน โดย รพ.สบเมยมีการซื้อยากของ อภ.อยู่ที่ 22% จากทั้งหมด โดยยาที่บริหารให้ รพ.สต. เบิกอยู่ที่ 30% และอยู่ที่ รพ.สบเมย 70% กระจายยา 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ป่วย 2.หน่วยงาน สธ. รพ.สต.และศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชนลูกข่าย และ 3.หน่วยงานองค์กรอื่นๆ อย่างห้องพยาบาลโรงเรียน ก็จะมีการไปสอนการใช้ยาหรือยาสามัญเบื้องต้นให้ถูกต้อง

ส่วนการรับยา จะมีการมารับยาด้วยตนเองในโรคทั่วไปเรื้อรัง หากไม่รับยาด้วยตนเอง ก็ให้ อสม.ไปส่งยาที่บ้าน เช่น ผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง จิตเวช และยังมีระบบการแพทย์ทางไกล กรณีโรคเรื้อรังอาการไม่รุนแรง โดยจะตรวจที่ รพ.สต. แล้วส่งยาให้ อย่างไรก็ตาม ยังมีความยากลำบากในหมู่บ้านห่างไกล ที่จะยังมีหย่อมบ้านอยู่อีก ซึ่งรถจะเข้าไม่ถึง ดังนั้น เมื่อมีผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เจ้าหน้าที่เมื่อเอายาจาก รพ.สต.ไปถึงหมู่บ้าน ก็จะต้องเดินทางเท้าส่งยาเข้าไปยังหย่อมบ้านอีกที


แบกภาระค่ารักษาต่างด้าว

นพ.พิทยากล่าวว่า อีกเรื่องคือ ทางฝั่งเมียนมายังมีการยิงต่อสู้กัน เมื่อทางนั้นรักษาไม่ได้ ก็จะผ่านองค์กร NGO อย่าง ICRC มาให้ รพ.สบเมยรักษา ซึ่งก็จะส่งมาที่ รพ.สต.ก่อน แต่ถ้าฉุกเฉินจริงๆ เราก็จะต้องเอาทีม Ambulance ไปที่ รพ.สต.เพื่อดูแลเบื้องต้น หากรักษาไม่ได้ก็ส่งต่อไปเชียงใหม่หรือแม่ฮ่องสอน การดูแลคนไข้กลุ่มนี้ทำให้เราเสียอัตราการดูแลคนไข้ปกติลดน้อยลงไป เพราะต้องออกไปนอกพื้นที่ บางเคสต้องใช้บุคลากรค่อนข้างเยอะ ยิ่งต้องส่งต่อเชียงใหม่ก็ต้องใช้เวลาเดินทางนาน บางวันมีเข้ามาหลายเคส เราก็ต้องประสานทาง ICRC ว่าให้แจ้งจำนวนเข้ามาก่อนได้หรือไม่ มิเช่นนั้นเราก็ได้รับผลกระทบจากจำนวนบุคลากรที่ไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ อ.สบเมยยังมีศูนย์อพยพอีก 2 ศูนย์ เป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้ลี้ภัยสงคราม ดูแลศูนย์ละประมาณ 7-8 พันคน แต่ไม่ใช่หน้าที่หลักของเราที่ดูแล แต่จะเข้าไปช่วยบางเรื่อง เช่น รณรงค์ฉีดวัคซีน เข้าไปช่วยควบคุมโรคที่ขอความร่วมมือมา

"คนไข้ต่างด้าวที่เรารักษามี 2 กลุ่ม คือ ต่างด้าวที่มีกองทุนดูแลจากกองเศรษฐกิจสุขภาพ สธ. ส่วนที่ไม่มีบัตร ก็ต้องชำระเงินเอง ส่วนใหญ่ไม่มีจ่ายก็ติดหนี้ไป ซึ่งเงินที่ได้จาก สปสช.มาบริการคนไทย พอต้องมาดูแลต่างด้าวด้วยก็ถือว่ารายได้ลดลง บางปีตัวเลขเงินบำรุงเราก็พออยู่ได้ บางปีก็ขาดทุน" นพ.พิทยากล่าว


เสียงสะท้อนถึง สธ.ส่วนกลาง

นพ.พิทยากล่าวว่า จากการวิเคราะห์ส่วนขาดของ รพ.สบเมย คือ 1.งบประมาณในการก่อสร้าง รพ.สบเมยเราค่อนข้างเก่า สร้างมา 20-30 ปี ยังไม่มีการปรับปรุงพัฒนาอาคาร ก็พยายามเขียนและรองบลงทุนของกระทรวง ซึ่งคาดว่าน่าจะอีกนาน ก็คงต้องหางบมาทำกันเอง ซึ่งปีนี้เราสมัครเข้าร่วมคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ที่ทำโครงการรับทุนจาก สสส. ในการปรับปรุง รพ.ให้มีสุขภาวะที่ดี ก็เชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาคุย ทั้งคนไข้ ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ อสม. ว่าภาพฝันอยากเห็น รพ.สบเมยเปลี่ยนไปอย่างไร ก็จะมีทีมสถาปนิกเกษตรศาสตร์เข้ามาพูดคุย ซึ่งราวๆ 15 ก.พ.จะมาสรุปโครงการ โดยอาจจะเน้นเอาตึกเก่ามารีโนเวท ให้ใช้ง่าย สะดวก ตอบรับประชาชนและพื้นที่ที่สุด ก็จะได้แบบพิมพ์เขียวจากโครงการฟรี ถึงจะทราบว่างบประมาณปรับปรุงอาคารอยู่ที่เท่าไร จากนั้นก็จะเป็นหน้าที่เราที่จะหาเงินจากไหนมาพัฒนา ที่ไม่จัดผ้าป่าหรืองานวิ่งอย่างที่อื่น เพราะคนมีเงินในพื้นที่ก้น้อยเช่นกัน

"มองว่าในพื้นที่ห่างไกล อาจจะต้องใช้งบประมาณหรือใช้บุคลากรที่แตกต่างจากในเมือง เช่น ในเมืองประชากรขนาดนี้ ใช้หมอ พยาบาลจำนวนนี้ได้ แต่ถ้าเทียบสัดส่วนพื้นที่ห่างไกลอาจใช้เท่านี้ไม่ได้ เนื่องจากภาระงานต่างกัน คือ มองว่าอาจจะต้องมองเป็นจุดๆ ไป ต้องมองในพื้นที่ห่างไกลภาระงานต่างกัน เช่น พยาบาล 1 คนที่สามารถทำได้แต่ละวัน อาจจะต้องใช้พยาบาลเยอะขึ้นมากกว่าในเมือง ทั้งจากการเดินทาง หรือความเชื่อมศาสนา วัฒนธรรมต่างๆ ที่ต่างกัน" นพ.พิทยากล่าว


อภ.อาสาบริหารสต๊อกยาแทน รพ.อำเภอ

พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ให้สัมภาษณ์ว่า การมาลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการเรียนรู้ว่า พื้นที่ทำได้ดีอยู่แล้วมีอะไร และมีปัญหาต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง ส่วนที่เกี่ยวข้องกับ อภ.หรือการบริหารจัดการยา ก็พบว่ามีปัญหาหลายอย่างในพื้นที่ห่างไกล เช่น การส่งยาให้ทันท่วงทีและเพียงพอ จึงได้ชักชวน ผอ.รพ.สบเมย และชมรม ผอ.รพ.ชุมชนแห่งประเทศไทย หากเป็นไปได้ อภ.อาจมีบทบาทช่วยบริหารจัดการคลังยาของ รพ.ชุมชน เนื่องจากการบริหารจัดการคลังยาของ รพ.ชุมชนขณะนี้ รพ.ชุมชนต้องซื้อยาเองทั้งของ อภ.และบริษัทผู้ผลิตอื่นๆ ซึ่งปริมาณยาของ รพ.ชุมชนอยู่ที่ 5-10 ล้านบาทต่อปี แต่ต้องดีลกับบริษัทยา 40-50 แห่ง หาก อภ.มาช่วยคือ จากที่ต้องซื้อจาก อภ.แล้ว 1 ที่ ก็เหลืออีก 40 บริษัท อภ.จะช่วยดีลให้และบริหารสต๊อกให้ ก็ลดภาระที่ รพ.ชุมชนจะต้องไปประสานกับหลายบริษัท อาจแค่ประสานกับ อภ.เท่านั้น รวมถึงช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัซื้อยา เพราะหากซื้อรวมกันจำนวนมา อำนาจต่อรองราคาก็จะสูงขึ้น


ใช้รูปแบบเดียวกับ รพ.ชุมพรฯ โมเดล

พญ.มิ่งขวัญกล่าวว่า การบริหารคลังยาแทน รพ.ชุมชน จะเป็นรูปแบบเดียวกันกับ รพ.ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์โมเดล แต่ "ชุมพร" เป็นรูปแบบของ รพ.จังหวัด ซึ่งเราเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ต.ค. 2566 ส่วนจะช่วยลดค่าใช้จ่ายการซื้อยามากน้อยแค่ไหน ยังต้องรอคำตอบช่วงไฟนอลอยู่ คาดว่าจะดำเนินการเต็มรูปแบบ มี.ค.นี้ และจะทราบคำตอบประมาณ ก.พ. - มี.ค.ปีหน้า


บริหารคลังยา รพ.อำเภอง่ายกว่าจังหวัด

พญ.มิ่งขวัญกล่าวว่า หาก อภ.บริหารจัดการคลังยา รพ.อำเภอแทน จะมีความง่ายกว่า รพ.จังหวัด เพราะอย่าง รพ.ชุมพรฯ มีรายการยาอยู่ที่ 800-1,000 ไอเท็ม เราดีลอยู่ประมาณ 80 บริษัท ถ้ามาทำ รพ.อำเภอก็จะง่ายกว่า เพราะอย่าง รพ.สบเมย 30 เตียง ยาอยู่ที่ประมาณ 300 กว่าไอเท็ม ซึ่งอาจจะอยู่ในจำนวน 1,000 ไอเท็มทั้งหมดก็ได้ รวมถึง 300 กว่าไอเท็มก็เป็นของ อภ. 80-100 ไอเท็ม ที่เหลือก็จะช่วยดูแลบริหารจัดการในการดีลบริษัทจำหน่าย เมื่อไรที่มีการซื้อขนาดใหญ่ราคาก็จะลดลง เพราะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น จะได้ไม่ต้องไปประมูลหรือจัดซื้อจัดจ้างหลายครั้ง อีกทั้งยาที่ รพ.ชุมชนใช้ก็ไม่ได้เป็นบริษัทยาที่ยูนิค เป็นยาชื่อสามัญส่วนใหญ่ หากเทียบกับ รพ.จังหวัดหรือ รพ.มหาลัยก็จะเป็นยาออริจินัลทำให้มีความยากกว่า

"ถ้ามาดีลกับเรา อภ.จะช่วยบริหารและพัฒนาระบบโดยดูว่า รพ.จะใช้ยาแค่พันนึง ก็ไม่ต้องซื้อพันห้าเผื่อไว้ ก็ให้แจ้งมาก่อนว่าซื้อพันนึง พอลดไป 200 ก็แจ้งว่าช่วยมาเติมอีก 200 โดยไม่ต้องจัดซื้อจัดจ้างใหม่ก็จะเติมไปเรื่อยๆ ทำให้การบริหารจัดการห้องยา อาจจะง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และมีประสิทธิภาพตามมา และค่าใช้จ่ายก็จะลดลง แต่เพียงอาจจะยากตรงการขนส่ง เพราะอย่างจะมาถึง รพ.สบเมย ก็ใช้เวลา 4 ชั่วโมงจากเชียงใหม่" พญ.มิ่งขวัญกล่าว


ทำ Action Research พบบางบริษัทไม่ขายยาให้

พญ.มิ่งขวัญกล่าวว่า ส่วนจะทำในส่วนของ รพ.ชุมชน โดยให้ รพ.สบเมยเป็น "สบเมยโมเดล" หรือไม่นั้น ตอนนี้อยู่ในระยะของการชักชวน ถ้าสบเมยตกลงกันได้ก็จะเป็นสบเมยโมเดล ในระดับ รพ.อำเภอ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น รพ.ชุมพรฯ หรือหากทำระดับ รพ.ชุมชน ก็จะยังเป็น Action Research ที่ลองทำจริงเลยว่าเป็นอย่างไร ถือเป็นแนวคิดใหม่ ซึ่งจากการทดลองเราก็เจอสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะมีปัญหาเยอะมาก เช่น ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง จะทำสัญญาอย่างไร ระเบียบอะไรที่เป็นอุปสรรค ก็มาช่วยกันแก้ไขตรงระเบียบภาครัฐ หรือเจอสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าบริษัทยาบางบริษัทไม่ยอมขายยาให้ เพราะเขาผูกขาดยาตัวนี้ เขาไม่ขอเข้าร่วม จะขอจำหน่ายเอง ไม่ดึงเข้ามาในโครงการเพื่อให้ลดราคายาลงมา ซึ่งถ้าเราไม่ทำ Action Research ก็จะไม่รู้ว่ามีปัญหาพวกนี้ ต้องลงมือทำจริงๆ ถึงจะทราบ เพราะจริงๆ ตลาดยามีการต่อสู้กันค่อนข้างสูง

"อย่าง อภ.เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจริงๆ แล้วตลาดยาเมืองไทย 100% เป็นฟรีมาร์เก็ตหมดเลย อภ.มีบทบาทแค่ 7% ในส่วนของมูลค่าของยาที่จำหน่ายในไทย แต่ถ้าคิดเป็นขนาดยาหรือปริมาณยา อภ.เราดูแล 20-30%" พญ.มิ่งขวัญกล่าว


ให้เครดิตเทอมยาวหากไม่มีเงินจ่ายค่ายา

ถามว่าที่ผ่านมา รพ.หลายแห่งมีการค้างค่ายา ถ้า อภ.มาช่วยบริหารจะเป็นความเสี่ยงเรื่องต้นทุนของ อภ.ด้วยหรือไม่ พญ.มิ่งขวัญกล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมชาติ แม้เราจะไม่ได้ทำ Action Research ก็จะมีการให้เครดิตเทอมอยู่แล้ว แต่ถ้ายังมีความจำเป็นเราก็ให้เครดิตเทอมยาว ซึ่งเรามีระบบในการบริหารจัดการให้รู้ว่า รพ.ไหนที่ยังไม่สามารถจ่ายค่ายาได้ ตั้งแต่ปีไหน และด้วยสาเหตุอะไร เมื่อคุยเข้าใจปัญหาก็ตัดปิดเคส ซึ่งการที่เรามาช่วยบริหารคลังก็เหมือนช่วยให้ รพ.หนึ่งไม่ต้องบริหารจัดการเยอะ และลดเรื่องการเซฟสต๊อก การลดเงินที่ไปลงทุน (Invest) ตรงนั้นค่อนข้างเยอะ อีกอันคือก็ให้เครดิตเทอมยาว ซึ่งก็พูดคุยกันได้


ใช้ระเบียบ "จะซื้อจะขาย" ช่วยปลดล็อก

ถามถึงการใช้ระเบียบที่ช่วยให้ อภ.จัดซื้อและบริหารคลังยาแทน รพ.ได้ พญ.มิ่งขวัญกล่าวว่า ตอนแรกก็ดูระเบียบว่าจะซื้อจะจ้างกันอย่าง เขาก็ช่วยกันทุกอย่างว่า ระเบียบไม่ได้ห้ามก็ทำได้ ระเบียบตรงนี้ใช้วิธีนี้ทำได้ ตอนนี้สรุปแล้วว่าจะใช้วิธีนี้รูปแบบนี้ คือ รูปแบบของสัญญาว่าจะซื้อจะขาย ทำให้เราดำเนินการได้ เพราะเราเขียนไว้ในภารกิจของ อภ.ตาม พ.ร.บ.ว่า เรามีหน้าที่ผลิตจัดซื้อจัดหา อย่างเมื่อก่อนนี้บังคับ รพ.รัฐต้องซื้อยาที่ อภ.ผลิตและยาที่เรามีจำหน่าย แต่หลังจากปี 60-62 เราไม่บังคับยาที่มีจำหน่าย อย่างสมมต อภ.ผลิตยาพารา และซื้อยาไขมันมา สมัยก่อนบังคับต้องซื้อจาก อภ.ก่อน แต่มีคำถามจากบริษัทยาว่า อภ.ได้สัดส่วนมากเกินไป เมื่อเราตัดคำว่าจำหน่ายออกไป ต่อให้ อภ.มีจำหน่ายก็ไม่บังคับว่าต้องซื้อ ตอนนี้เรามียาที่ผลิตและบังคับซื้อราว 100 ไอเท็ม มียาสต๊อกประมาณ 800 กว่าไอเท็มที่เราไม่ผลิต และไม่สามารถบังคับให้ใครซื้อได้


จากนี้คงต้องมาลุ้นว่า จะเกิด "สบเมยโมเดล" เป็น รพ.อำเภอแห่งแรกที่ให้ อภ.เข้ามาช่วยดีลยาและบริหารจัดการคลังยาแทนหรือไม่




กำลังโหลดความคิดเห็น