ผอ.รพ.สบเมย เผยมีสำรองยาต้านพิษพื้นฐาน พร้อมดูแลหากเกิดเหตุฉุกเฉิน แม้จะอยู่ห่างไกล หากจำเป็นต้อใช้ยาต้านพิษขั้นสูง มีเครือข่าย Sky Doctor ช่วยลำเลียง พร้อมประสานศูนย์พิษวิทยาทันท่วงที หลังเกิดเคสเด็ก 5 ปีได้รับไซยาไนด์
จากกรณีข่าวเด็กวัย 5 ปี ดื่มน้ำยาแช่เครื่องเงิน ได้รับ "สารพิษไซยาไนด์" ต้องส่ง รพ.ด้วยอาการไม่รู้สึกตัว ได้ความช่วยเหลือจากสหสาขาวิชาชีพทุกหน่วยงาน จนปลอดภัย ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี โพสต์ชื่นชมการทำงานของทีม รพ.ขุนยวม ที่ให้แพทยืและพยาบาลออกรถไปกับเด็ก และ รพ.ศรีสังวาลย์ จ.แม่ฮ่องสอน ออกรถนำยาต้านพิษ (Sodium Nitrite และ Sodium Thiosulfate) มาพบกันครึ่งทาง เพื่อให้ยาต้านพิษบนรถพยาบาลกลางทางแล้วรับตัวเด็กไปดูแลต่อที่ไอซียู
นพ.พิทยา หล้าวงค์ ผอ.รพ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการเตรียมพร้อมสำรองยาต้านพิษในพื้นที่ห่างไกลของ รพ.สบเมย ระหว่างหารือกับผู้บริหารองค์การเภสัชกรม (อภ.) เกี่ยวกับการจัดการยา ว่า รพ.สบเมย เป็น รพ.ชุมชนขนาดเล็ก แต่มีการสำรองยาต้านพิษพื้นฐาน ขณะเดียวกันยังทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับศูนย์พิษวิทยาฯ โดยมีเภสัชกร พยาบาลห้องฉุกเฉิน หากเจอเคสของคนไข้ที่ได้รับสารพิษ จะมีการประสานงานตลอด และหากเป็นยาต้านพิษพื้นฐานของ รพ.ที่สำรองไว้ก็จะจ่ายยาช่วยคนไข้ได้ทันที แต่หากเป็นยาขั้นสูงที่ รพ.สบเมยไม่มี จะติดต่อไปยัง รพ.แม่สะเรียง ซึ่งใช้เวลาเดินทาง 20 นาทีในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
“ข้อดีคือ ทุกวันนี้เรามีระบบ Sky Doctor หากมีเหตุจำเป็นจริงๆ ก็จะประสานขอใช้ Sky Doctor เป็นเฮลิคอปเตอร์มารับ เพื่อลำเลียงผู้ป่วยไปยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพสูงกว่า ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่าง รพ.สบเมย และ รพ.แม่ข่ายหลายที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน หากมีเหตุฉุกเฉินก็สามารถประสานขอความช่วยเหลือกันได้” ผอ.รพ.สบเมย กล่าว
นพ.พิทยา กล่าวว่า จากกรณีข่าวที่ผ่านมา รพ.สบเมย มีการพัฒนาระบบการสำรองยาต้านพิษ เพื่อพิจารณาว่า ควรมียาตัวไหนที่ต้องสำรองเพิ่มเติมหรือไม่ ทั้งนี้ ขอย้ำว่า หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินเจอผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาต้านพิษ หากเราไม่มี ก็จะมีการประสานทำงานบูรณาการกันทุกภาคส่วนเพื่อช่วยผู้ป่วยให้ได้เร็วที่สุด