"บุญยืน" อัดยับ รบ.เพื่อไทยมือถือสาก ปากถือศีล อ้างห่วงสุขภาพประชาชน แต่อุ้มธุรกิจ "น้ำเมา" ชงขยายเวลาขาย ไม่สนเจ็บ ตาย พิการ ขู่ปลุกม็อบสู้ ขอกรรมการคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยึดมั่นจริยธรรม ไม่หันซ้าย-ขวาตามสั่ง ด้านเครือข่ายลดอุบัติเหตุ จี้รัฐทบทวน หวั่นเกิดเหตุอื้อ ทำสูญเสีย เด็ก เยาวชนกลายเป็นเหยื่อ
จากกรณีกระแสข่าว การประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วันที่ 15 ก.พ.นี้ มีวาระการพิจารณา เรื่องการขอขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ตั้งข้อสังเกตว่าจะมีการยกเลิกเวลาห้ามขาย เนื่องจากมีกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขอทบทวนกฎหมายที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะเรื่องเวลาจำหน่าย
เมื่อวันที่ 5 ก.พ. น.ส.บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก กล่าวว่า ตนมองว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทยเป็นไปในรูปแบบ “มือถือสาก ปากถือศีล” เพราะปากบอกว่าจะช่วยพี่น้อง ฟื้นฟูเรื่องสุขภาพ ขอให้พี่น้องสบายใจได้ แต่มือที่กำลังถือสากอยู่ก็กำลังจะอนุมัติให้มีการเพิ่มเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นำมาสู่ความเจ็บป่วย อุบัติเหตุต่างๆ สะท้อนว่า ไม่ได้มีความห่วงใยประชาชนอย่างที่พูด แต่กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลเพื่อกินบุญเก่าที่เคยทำไว้สำเร็จ คือ 30 บาท รักษาทุกโรค เพื่อคงโลโก้ที่เป็นนโยบายของเขาเอาไว้ การที่มีแนวความคิดจะให้ขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตนจึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง จะมาบอกว่า กฎหมายที่กำหนดช่วงเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นกฎหมายที่มาจากการรัฐประหารในอดีตไม่ได้ เพราะกฎหมายอะไรที่ดีอยู่แล้วก็ควรที่จะต้องพัฒนาให้ดีขึ้นไป ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ทำให้คนดื่มน้อยลง เกิดอุบัติเหตุลดลง จะแก้ให้แย่ลงไม่ได้
น.ส.บุญยืนกล่าวว่า สิ่งที่อยากจะถาม ที่กังวลมาก คือ คนที่ได้รับผลกระทบ เกิดเสียชีวิตหรือพิการ จากคนเมาแล้วขับ รัฐจะรับผิดชอบดูแลช่วยเหลืออย่างไร ไม่ใช่ว่าปล่อยให้เป็นผู้พิการแล้วให้เดือนละ 400-800 บาท เหมือนทุกวันนี้ ในเมื่อเขาไม่ได้ทำอะไรผิดเลย รัฐบาลอย่าบอกว่า เอาเงินรัฐมาชดเชยเยียวยา แล้วรัฐบาลมีปัญญาไปหาเงินมาจากไหน เพราะทุกบาททุกสตางค์ก็มาจากภาษีประชาชน อีกเรื่องที่อยากถามและเป็นกังวล คือ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีความเป็นตัวของตัวเองมากแค่ไหน รัฐบาลแทรกแซงและสั่งการได้หรือเปล่า ตกลงแล้วจะยังคงประโยชน์เพื่อสุขภาพคนไทยอยู่หรือเปล่า หรือว่าแล้วแต่ลมพัดไปพัดมา หากรัฐบาลไหนพัดไปอย่างไรก็ไปอย่างนั้น
"ขอให้กรรมการยึดมั่นในจริยธรรม หน้าที่ของตัวเองในการเป็นกรรมการ ซึ่งต่างก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่กันทั้งนั้น ถ้าฟังที่รัฐบาลบอกให้ไปซ้าย ก็ไปซ้าย ให้ไปขวาก็ไปขวา แบบนี้ให้เด็กอนุบาลมาเป็นกรรมการก็ได้ สิ่งที่เราอยากจะบอกรัฐบาลคือ หยุดทำเป็นมือถือสาก ปากถือศีลได้แล้ว เลือกเอาสักอย่าง จะถือสากหรือถือศีล อย่าหลอกลวงชาวบ้าน อย่าให้เป็นเพื่อไทยการละคร ซึ่งครั้งนี้ตนมีความรู้สึกว่านี่เป็นละครที่แสดงว่ารักชาวบ้าน แต่สุดท้ายก็เชื่อธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาทำร้ายประชาชน หมอชลน่าน เป็นหมอมาหลายปี ในดุลพินิจของหมอก็ต้องรู้ว่าคนดื่มแล้วสติสัมปชัญญะจะเป็นอย่างไร จะสร้างความเดือดร้อน สร้างความร้าวฉานในครอบครัวอย่างไร แล้วนี่ได้เริงร่าสบายอารมณ์อย่างนี้ รัฐบาลทำเพื่ออะไร เรื่องดีๆ เยอะแยะทำไมไม่ทำ” น.ส.บุญยืน กล่าว
น.ส.บุญยืน กล่าวว่า นับตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามา จะเห็นว่า มีการออกนโยบายต่างๆ มาเพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อเนื่อง นับตั้งแต่อนุญาตให้มีการขยายเวลาปิดสถานบันเทิงได้ถึง 04.00 น.แล้ว มีการขับรถชนคนเสียชีวิตไปเท่าไรแล้ว รัฐบาลเคยช่วยเหลืออย่างไร เคยเอาเงินส่วนตัวที่อนุมัตินโยบายเหล่านี้มาจ่ายหรือไม่ แล้วที่ผ่านมาก็ไม่เคยออกมาพูดสรุปบทเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย ซึ่งมองว่าเป็นเพราะไม่กล้าออกมาพูด เนื่องจากว่า ไม่มีข้อมูลเชิงวิชาการอะไรออกมาสนับสนุนว่า เปิดผับถึงตีสี่แล้วเศรษฐกิจดีขึ้นแค่ไหน ไม่มีอะไรสักอย่าง ทำตามความอยากอย่างเดียว และเป็นความอยากที่อยู่บนความเสียหายทางสุขภาพของประชาชน เพราะฉะนั้นตนไม่เห็นด้วยโดยเด็ดขาดที่จะขยายเวลาให้ขายได้โดยไม่มีข้อจำกัด ตนขอค้านทุกประตูเกี่ยวกับเรื่องนี้ ถ้ารัฐบาลยังจะเดินหน้า เครือข่ายรณรงค์ต้องมีการพูดคุยกันแล้ว และควรขยายแนวร่วมมาเพื่อคัดค้านด้วย ซึ่งคิดว่าม็อบจุดติดแน่นอน เพราะเราทำเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ แล้วจะเอาชีวิตส่วนใหญ่ของคนในประเทศนี้ไปแลกกับธุรกิจที่คนกินคนขายเหล้าแค่ไม่กี่คนอย่างนั้นหรือ
"อนาคตเด็กๆ จะเป็นอย่างไร ที่บอกว่ามีการควบคุมไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปใช้บริการ แต่ที่จับกันอยู่ทุกวันนี้ก็ต่ำกว่า 20 ปีทั้งนั้น เรื่องนี้ก็ต้องถามไปที่ รมว.มหาดไทย ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็น รมว.สธ.มาก่อน ตอนอยู่ สธ.ก็บอกว่า ตนดูแลสุขภาพประชาชน ทำเพื่อสุขภาพประชาชน แต่พอไปอยู่มหาดไทยแล้วทำเพื่อใคร ตรงไหนที่ทำเพื่อประชาชน เปิดผับถึงตีสี่ ประชาชนคนไหนได้ประโยชน์ นอกจากเจ้าของผับ บาร์ เจ้าของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มันควรจะต้องมีการควบคุมบ้าง ถามว่า ที่มีการควบคุมที่ผ่านๆ มามีอะไรที่เสียหาย ถึงจำเป็นต้องแก้ไขไม่ให้มีการควบคุม จริงๆ ต้องถามว่าพรรคเพื่อไทยทำเรื่องนี้เพื่อใคร ถ้าบอกว่าทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แล้วเรื่องอื่นไม่มีให้ทำแล้วหรือ แล้วเศรษฐกิจที่ว่ากระตุ้นให้ใคร ที่เสียนั้น ใครเป็นคนเสีย มันได้มันเสียคุ้มกันหรือไม่ การกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มีเรื่องอื่นให้ทำแล้วหรือ ต้องขายเหล้าอย่างเดียวเหรอ” นางสาวบุญยืน กล่าว
ด้าน นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผอ.สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า จากการที่ได้มีนโยบายให้เปิดสถานบริการที่ตั้งอยู่ในโรงแรมและสถานบริการที่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่ กทม. ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ให้เปิดได้ถึงตี 4 และให้กระทรวงมหาดไทยและ สธ. พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาความเหมาะสมและเป็นไปได้ ขยายกำหนดเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารทั่วไปให้สอดคล้องกับเวลาเปิดปิดของสถานบริการในเขตท้องที่นำร่อง ตนเองเห็นว่าผู้เกี่ยวข้องต้องทบทวนและพิจารณาอย่างรอบคอบ ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาให้มาก เพราะผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมากมาย ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว สังคม ประเทศ ทั้งทางตรงสุขภาพร่างกาย และทางอ้อมเรื่องความสูญเสียจากเศรษฐกิจและสังคม ทั่วโลกรับรู้และต่างก็มีความพยายามจะแก้ไขปัญหากันมาอย่างยาวนาน องค์การอนามัยโลก (WHO ) ถึงกับเสนอให้ทุกประเทศหาทางแก้ไขปัองกัน นักวิจัยนานาชาติก็ชี้ปัญหาการดื่มสุรากระทบรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย เด็กเยาวชนตกเป็นเหยื่อ
นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า นักวิจัยวิทยาศาสตร์สารเสพติดนานาชาติ ชี้ว่าปัญหาจากการดื่ม สร้างผลกระทบรุนแรง รัฐต้องมีส่วนร่วมวางนโยบายที่เข้มแข็ง เพราะห่วงเด็กและเยาวชนกลายเป็นเหยื่อ ปัญหารุนแรงถึงขั้นเสี่ยงฆ่าตัวตาย ซึ่งการออกกฎหมายจำกัดอายุ คุมเวลาขาย ห้ามโฆษณา ช่วยลดปัญหาลง 35% การมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากจากการดื่มไม่ว่าจะเกิดจากเหตุทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุทางถนน อาชญากรรม ทำให้กระทบการรักษาผู้ป่วยจากการเจ็บป่วยโรคอื่นๆ เตียงเต็ม โรงพยาบาลไม่พอ บุคลากรไม่พอ และยังใช้งบประมาณดูแลผู้ป่วยเหล่านี้จำนวนมาก จนส่งผลกระทบต่องบประมาณด้านสาธารณสุข กระทบครอบครัว เช่น รายได้ครอบครัว ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเครียดและผลกระทบต่อสุขภาพจิต ทำให้นอกจากการวางแผนแก้ปัญหาเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังต้องดูแลเรื่องการสร้างงาน สร้างรายได้เพื่อทำให้คนหลุดพ้นจากปัญหาความยากจนอีกด้วย
สอดคล้องกับ ดร.ชิด ซู ทินน์ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ม.มหิดล ที่ได้ศึกษาเรื่องการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเยาวชน มีผลกระทบต่อสุขภาพจิต มีการเก็บกลุ่มตัวอย่างในเยาวชนอายุ 15-23 ปี จำนวน 1,538 คน ในโรงเรียน 6 แห่ง จากทุกภาคของไทย โดยพบว่าเยาวชนไทยมีปัญหาที่เกิดจากการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากปี 2551 อยู่ที่ 14.8% เพิ่มขึ้นเป็น 22.2% ในปี 2558 พบปัญหาเกิดจากการที่เด็กไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ส่งผลให้เด็กมีโอกาสที่จะกลายเป็นนักดื่ม และมีปัญหาทางสุขภาพจิต และเชื่อมโยงกับการติดพนัน และใช้สารเสพติด
ทั้งนี้ วัยรุ่นต้องเผชิญกับปัญหาที่มาจากอารมณ์ จนกระทบไปถึงปัญหาสังคม และสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ผลการเรียนตกต่ำ ปัญหาความพยายามฆ่าตัวตาย ปัญหาทางสุขภาพอื่น ล้วนเกิดจากการที่เด็กไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ภาครัฐควรมีโปรแกรมสำหรับดูแลคนรุ่นใหม่ เยาวชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ตระหนักและรู้เท่าทันอารมณ์ตนเองมากขึ้น เพื่อให้สามารถยับยั้งชั่งใจ ควบคุมตนเองได้ จึงจำเป็นต้องสร้างหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับเยาวชนให้เท่าทันต่อผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การเจ็บป่วยทางสุขภาพจิต การพนัน และการใช้สารเสพติด
นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า จากผลกระทบดังกล่าวนี้ หากรัฐยังคงดื้อด้านคิดจะขยายเวลาขายน้ำเมาก็เท่ากับว่ามองไม่เห็นความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย มองไม่เห็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับคนไทยอย่างต่อเนื่อง มองไม่เห็นความทุกข์ทรมานของผู้ที่ได้รับผลกระทบและต้องสูญเสียคนในครอบครัว เพียงเพราะต้องการกระตุ้นส่งเสริมทางเศรษฐกิจ ทั้งๆที่ขาดโครงสร้างการบริหารจัดการรับมือกับปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันนี้เกิดความเสื่อมในสังคมไทยที่มีความสัมพันธ์กับน้ำเมา เช่น อุบัติเหตุทางถนน การเสียชีวิต บาดเจ็บ และพิการ ทำให้ครอบครัวล่มสลาย เกิดเหตุทะเลาะวิวาท ฆ่าข่มขืน คดีอาชญากรรม ศีลธรรมตกต่ำ ยาเสพติด การพนันและอีกมากมาย เราต้องช่วยกันส่งสัญญาณแรงๆ ให้กับรัฐบาล อย่าคิดเพียงหาเม็ดเงิน อย่าคิดจะแลกชีวิตคนไทยกับน้ำเมา” นายพรหมมินทร์ กล่าว