xs
xsm
sm
md
lg

เตือนภัย "ลูกอมสายตี้" ระบาดนักเที่ยวกลางคืน ผสมยาเสพติดหลายชนิด ฤทธิ์แรงถึงขั้นตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สบยช.เตือน “ลูกอมสายตี้” หรือ “ลูกอมเมา” ผสมจากยาเสพติดหลายชนิด ทั้งเคตามีน ทรามาดอล ไนเมตาซีแพม ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทหลายรูปแบบ ทั้งกระตุ้นประสาท หลอนประสาท กดประสาท ห่วงระบาดวงกว้างหมู่นักท่องราตรี พบใช้ร่วมนน้ำเมา ทำหัวใจล้มเหลวถึงตาย

นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า “ลูกอมสายตี้” หรือ “ลูกอมเมา” ยาเสพติดชนิดใหม่ ที่กำลังเป็นนิยมในกลุ่มวัยรุ่นและนักท่องเที่ยวยามราตรี ซึ่งเป็นการนำยาเสพติดหลายชนิดมาผสมเข้าด้วยกัน อาทิ เคตามีน ทรามาดอล สารไนเมตาซีแพม สารฟลูไนตราซีแพม ไฮโดรคลอไรด์ หรือยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทมาผสมกัน นำมาแปรรูป และจำหน่ายในรูปแบบของลูกอมหรืออมยิ้ม โดยลักลอบจำหน่ายตามช่องทาง Social Media (โซเชียลมีเดีย) รวมไปถึงตามสถานบันเทิง เมื่อนำมารับประทาน จะออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในหลายรูปแบบ ทั้งกระตุ้นประสาท หลอนประสาท และกดประสาท แล้วแต่ว่าผู้ค้าผสมสารชนิดใดเป็นหลัก ทำให้เคลิบเคลิ้ม สนุกสนาน ตื่นตัว คึกคัก จึงทำให้กลายเป็นที่นิยมในหมู่นักเที่ยวกลางคืน หรือกลุ่มปาร์ตี้ในพื้นที่ส่วนบุคคล ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มจะแพร่ระบาดเป็นวงกว้างขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะการใช้ยาเสพติดหลายชนิดรวมกัน ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์จะเสริมฤทธิ์ อาจทำให้กดการหายใจระบบหัวใจล้มเหลวและถึงขั้นเสียชีวิตได้

นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวว่า ขอย้ำเตือนกลุ่มวัยรุ่นและนักท่องเที่ยวที่นิยมทดลองของแปลกใหม่ให้ตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตนเองให้มาก โดยไม่มีทางรู้ได้เลยว่าผู้ค้าตั้งใจผสมสารชนิดใดลงไปบ้าง และพึงระลึกไว้เสมอว่าการใช้ยาเสพติดทุกชนิดมีความอันตราย ส่งผลต่อร่างกายของผู้เสพ เป็นสาเหตุของการเกิดความรุนแรงและอาชญากรรมต่าง ๆ อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ขอฝากถึงกลุ่มผู้ปกครองในช่วงนี้ให้ระมัดระวังการเลือกซื้อขนมประเภทอมยิ้มให้บุตรหลาน ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่ไว้ใจได้ ดูส่วนผสมและแหล่งผลิตให้ชัดเจน หากไม่แน่ใจไม่ควรซื้อให้บุตรหลานบริโภคโดยเด็ดขาด การนำ “ลูกอมสายตี้” หรือ “ลูกอมเมา” ไปบริโภคโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจเกิดอันตรายต่อบุตรหลานได้

ทั้งนี้ หมั่นสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานหรือคนในครอบครัว หากพบมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การใช้เงินในการสั่งของทางออนไลน์มากผิดปกติ หรือพบสิ่งของต้องสงสัย ต้องรีบเข้าไปพูดคุย บอกกล่าวถึงผลเสียต่อสุขภาพรวมถึงอันตรายที่จะตามมา โดยสามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษาสุราและยาเสพติดได้ที่ สบยช. กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น