xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ม.มหิดล ไขข้อสงสัย “ทำไมการตั้งเป้าหมายลดน้ำหนักช่วงปีใหม่จึงมักไม่ค่อยได้ผล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ช่วงเทศกาลปีใหม่ หลายคนอาจตั้งเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การใช้ชีวิต หรือการพัฒนาตนเองไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้นกว่าในปีที่ผ่านมา “การลดน้ำหนัก” นับเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ผู้คนจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นคนรอบตัวในชีวิตจริง หรือในโลกออนไลน์ ได้ตั้งไว้ โดยหวังที่จะเปลี่ยนแปลงของรูปร่างของตนให้เป็นที่น่าพึงพอใจยิ่งขึ้นกว่าเดิม การลดน้ำหนักเป็นหนึ่งในประเด็นเป้าหมายสำคัญที่หลายคนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้สำเร็จได้ แต่หลายครั้งพบว่าเป้าหมายนี้กลับล้มเหลวหรือเป็นไปได้อย่างยากลำบาก

อาจารย์ ดร.ฐนิต วินิจจะกูล อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะนักกำหนดอาหารวิชาชีพ ว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อน้ำหนักตัว สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงได้ เช่น อายุ เพศ กรรมพันธุ์ หรือปัจจัยพื้นฐานอื่น ๆ เฉพาะตัวบุคคล และปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ เช่น อาหารการกิน กิจกรรมทางกาย ความเครียด รวมถึงการนอนหลับ ซึ่งปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อน้ำหนักตัวและการลดน้ำหนักได้

คนส่วนใหญ่นิยมตั้งเป้าหมายลดน้ำหนักในช่วงปีใหม่เป็นประจำทุกปี ซึ่งสุดท้ายแล้วมักจะล้มเหลวมากกว่าประสบความสำเร็จ ทำให้ควรกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรากำลังตั้งเป้าหมายที่ยากที่สุดในช่วงเวลาที่ยากที่สุดของปีหรือไม่? เพราะเรากำลังจะควบคุมอาหาร ในช่วงเวลาที่มีเทศกาลสังสรรค์ งานปาร์ตี้ต่าง ๆ มากที่สุดของปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก และถึงแม้ว่าจะยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดสำหรับจำนวนของผู้ที่ตั้งเป้าหมายในการลดน้ำหนักกับผู้ที่สามารถลดน้ำหนักได้จริงตามที่ตั้งใจไว้ในช่วงปีใหม่ อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะพูดถึงตัวเลขสถิติ เราอาจต้องนิยามถึงคำว่า “ลดน้ำหนักได้จริง” ก่อนว่าคืออะไร เนื่องจากคนจำนวนมากที่ตั้งใจลดน้ำหนัก ก็มักจะสามารถลดได้ในระยะสั้น และข้อมูลจากงานวิจัยจำนวนมาก พบว่าร้อยละ 70 - 95 ของคนที่ลดน้ำหนักได้ในระยะสั้น จะเกิดภาวะโยโย่เอฟเฟกต์ (Yoyo effect) หรือภาวะน้ำหนักเด้ง ซึ่งเป็นภาวะที่น้ำหนักตัวลดลง และเด้งเพิ่มกลับมาอย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลา 6 เดือน หมายความว่าในช่วงเวลา 6 เดือนที่ลดน้ำหนัก สถิติระบุว่าร้อยละ 70 - 95 จะมีน้ำหนักเด้งกลับมาเท่าเดิมหรือมากกว่า นั่นแปลว่าจะมีเพียงราว 1-2 คน ในจำนวน 10 คน ที่สามารถคงน้ำหนักที่ลดเอาไว้ได้ ส่วนคนอื่น ๆ คือคนที่มีน้ำหนักเด้งกลับไปเหมือนเดิม

ดังนั้น สำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักอย่างยั่งยืน แนะนำให้ใช้วิธีปรับวิถีชีวิตแบบค่อยเป็นค่อยไป และทำอย่างเป็นธรรมชาติ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่ายังอยู่ในวิถีชีวิตแบบเดิมได้ ควบคู่ไปกับตั้งเป้าหมายที่มีความจำเพาะเจาะจง สามารถวัดได้ และมีกรอบเวลาที่ชัดเจน จะทำให้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทำได้ง่ายขึ้น แทนการตั้งเป้าหมายลดน้ำหนักโดยการมุ่งไปที่เรื่องน้ำหนักตัวเพียงอย่างเดียว เพื่อไม่ทำในสิ่งที่เป็นการฝืนตนเองมากเกินไป จึงควรเลือกตั้งเป้าหมายที่มีแนวโน้มว่าจะประสบความสำเร็จมากกว่า

อาจารย์ ดร.ฐนิต วินิจจะกูล ยังกล่าวต่อว่า นอกจากการตั้งเป้าหมายไปที่การค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแทนการตั้งเป้าหมายน้ำหนักตัว ในระยะยาวอาจจะมีประโยชน์กับผู้ที่อยากลดน้ำหนักมากกว่า การสร้างเงื่อนไขให้ตัวเอง ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ช่วยให้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทำได้ง่ายขึ้น เช่น หากเดิมเป็นคนชอบดื่มน้ำหวานมาก เฉลี่ยดื่มวันละแก้วหรือเทียบเท่าสัปดาห์ละ 7 วัน อาจเปลี่ยนเป็นการตั้งเป้าหมายว่าจะอนุญตาตให้ตัวเองดื่มน้ำหวานได้อาทิตย์ละ 2 แก้ว ซึ่งแปลว่าเรายังให้โอกาสตัวเองในการดื่มน้ำหวานอยู่ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือจำนวนหรือความถี่ในการดื่มที่ลดลงจากเดิม ถ้าเทียบในแง่ของแคลเลอรี่หรือพลังงานที่ควรได้รับต่อวัน จะสามารถลดได้เป็นพันกิโลแคลเลอรี่เลยทีเดียว และยิ่งหากได้รับแรงสนับสนุนจากคนรอบตัวที่เชื่อมั่นว่าเราทำได้ แนวโน้มที่จะสามารถปรับพฤติกรรมตัวเองในระยะยาวได้ก็จะมีมากขึ้นเช่นกัน

เพราะฉะนั้น การที่เราทำสิ่งเดิม ๆ แล้วไม่สำเร็จ อาจลองเปลี่ยนวิธีการหรือเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อที่อาจจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น เมื่อเราตั้งเป้าหมายทีละน้อยแล้วเราทำได้นั้น ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้ใจเราอยากทำต่อไปเรื่อย ๆ และการตั้งเป้าหมายลดน้ำหนักก็ไม่จำเป็นต้องกดดันตัวเองด้วยการเริ่มทำในช่วงเวลาที่ยากลำบากอย่างช่วงปีใหม่ หรือโอกาสสำคัญในเทศกาลใดก็ตาม เราสามารถเริ่มต้นวันไหนก็ได้ตามที่ใจเราพร้อม “เพราะทุกวันที่เริ่มทำในสิ่งที่ดีต่อตัวเองย่อมเป็นวันที่ดีเสมอ”


กำลังโหลดความคิดเห็น