น่าเป็นห่วง! พบเด็กไทยเผชิญหลายปัญหา ทั้ง “บูลลี่ – สิ่งเสพติด – สุขภาพจิต” บั่นทอนสุขภาวะและคุณภาพชีวิตวัยเยาว์ มท.–สสส.–SIY จึงสานพลัง 47 อปท.ต้นแบบ จัดมหกรรม “Learn เล่น เห็น Local” ตั้งเป้าสนับสนุนพลังคนรุ่นใหม่และคนรุ่นใหญ่ ร่วมกันออกแบบสร้างความเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่น พัฒนาเด็กและเยาวชน ด้าน กมธ.พัฒนาการเมืองฯ เตรียมเสนอเปิด 3 พื้นที่ เพิ่มการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน
เพราะเด็กยุคนี้ต้องเผชิญปัญหาหลากหลายด้าน อย่างที่เห็นปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อไม่ขาดสาย ทั้งเรื่องการบูลลี่ สิ่งเสพติด รวมไปจนถึงปัญหาด้านสุขภาพจิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของเด็กและเยาวชน ยิ่งนับวัน ยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้นทุกที ขณะที่ผู้ใหญ่หลายหน่วยงานก็ไม่นิ่งนอนใจ และพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อดูแลและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไปในอนาคต
อปท. ต้นแบบ สร้างพื้นที่เรียนรู้
หนุนการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่น
ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก 1 ใน 4 ของสิทธิเด็ก คือการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้พร้อมทั้งดำเนินการผ่านกลไกการพัฒนาเด็กและเยาวชนทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดให้มี “สภาเด็กและเยาวชน” ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนใช้ในการสร้างการสื่อสารเชิงบวก แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความคิดสร้างสรรค์
ทั้งนี้ จากการเปิดเผยข้อมูลโดย นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หรือ อปท. ระบุว่า นี่คืออีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อีกทั้งสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาล มีภารกิจส่งเสริมสภาเด็กและเยาวชนให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้นอกห้องเรียน ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีส่วนร่วมเสนอแนะนโยบายร่วมกับ อปท. พัฒนาชุมชน
“เพราะเด็กถือเป็นกำลังหลักที่สำคัญต่อประเทศชาติในอนาคต ซึ่งในนามของ อปท. ผมเรียนว่า เราสนับสนุนผ่านสภาเด็กและเยาวชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ แม้งานนี้จะยังไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของเราอย่างเต็มรูปแบบ แต่เราก็จะสนับสนุนในช่องทางที่เราสามารถสนับสนุนได้อย่างเต็มที่ คือการจัดให้มีสภาเด็กและเยาวชน สนับสนุนกิจกรรมหลากหลายแนวทาง ยกตัวอย่างเช่นในกรุงเทพฯ สนับสนุนการเล่นกีฬา ส่งเสริมให้เด็กมีการออกกำลังกาย การปั่นจักรยานขาไถเด็กและเยาวชน ดีเด่นถึงขั้นได้รับรางวัลระดับโลกที่ต่างประเทศ หรือ อปท. บางแห่งมีการสนับสนุนเด็กและเยาวชนจัดตลาดนัดถนนของเด็กที่ออกมาสร้างสรรค์คุณงามความดีหรือนวัตกรรมต่าง ๆ ขณะที่ในส่วนของ อปท. ก็มีการจัดมหกรรมการจัดการศึกษาท้องถิ่น มหกรรมกีฬาท้องถิ่นและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นด้านวิชาการ”
แน่นอนว่า จากตัวอย่างเหล่านี้ นายสุรพล มีความเชื่อมั่นว่า จะกลายเป็นต้นแบบให้โรงเรียนอื่น ๆ หรือ อปท. แห่งอื่น ๆ ได้เห็นและนำไปประยุกต์ใช้ ต่อยอดได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ได้ขับเคลื่อนงานด้านสภาเด็กและเยาวชน สนับสนุนการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่น รองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในปัจจุบัน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริม พัฒนา อปท. ให้มีความรู้ความเข้าใจในการส่งเสริมสภาเด็กและเยาวชน โดยร่วมขับเคลื่อนโครงการตำบลต้นแบบสร้างการเรียนรู้ ด้านการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน เกิดพื้นที่เรียนรู้ต้นแบบจำนวน 47 แห่ง ซึ่งจะเป็นตัวอย่างให้แก่ อปท. อื่น ร่วมเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยต่อไป
“ในนามของ อปท. 7,849 แห่ง เรายินดีที่จะสนับสนุนสภาเด็กและเยาวชน ซึ่งผมเชื่อว่าในปี พ.ศ.2567 และปีต่อ ๆ ไป เราจะขับเคลื่อนงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม (SIY) เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออกถึงความคิดอย่างเต็มกำลังตามความสามารถของเขา โดยให้ความสำคัญกับทุกภูมิภาค ซึ่งจะทำให้เราได้เห็นบริบทของแต่ละภาคที่แตกต่างกันไป และนำความคิดของเด็กมานำเสนออย่างสร้างสรรค์ ดังนั้น ผมเองก็ยินดีสนับสนุนเด็กและเยาวชนในนามของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอย่างเต็มที่ครับ” นายสุรพล กล่าวย้ำด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
“เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน”
หัวใจสำคัญของท้องถิ่นต้นแบบ
เป็นเด็กยุคนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย นี่คือความจริงที่ปฏิเสธได้ยาก เพราะในปัจจุบัน เด็กและเยาวชนต้องเผชิญกับเรื่องราวและปัญหาหลายด้าน ซึ่งจากรายงานสถานการณ์เด็กและเยาวชน ปี 2566 พบว่า มี 6 สถานการณ์สำคัญที่ต้องให้ความใส่ใจเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยทั้ง 6 สถานการณ์ดังกล่าว ประกอบไปด้วย
1. ผลกระทบจากโควิดยังส่งผลให้ครอบครัวเปราะบางไม่สามารถพ้นวิกฤติ เด็ก เยาวชนในครอบครัวเหล่านี้เกิดปัญหาหลายอย่างซ้อนทับกัน
2. วัยรุ่น/เยาวชน สนใจสร้างรายได้มากขึ้น เพราะแรงกดดันทางเศรษฐกิจของครัวเรือน แต่การมีงานดี รายได้ดี เป็นเรื่องยากสำหรับเยาวชนส่วนใหญ่
3. เด็ก เยาวชนในระบบการศึกษายังไม่ได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในโลกยุคใหม่
4. วัยรุ่น/เยาวชนมีภาวะเครียด ซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตายมากขึ้น แต่บริการด้านสุขภาพจิตมีจำกัด ไม่เพียงพอ
5. ความรุนแรงในเด็กและเยาวชนมีมากขึ้น รูปแบบซับซ้อนขึ้น
6. เด็กรุ่นใหม่ฝันถึงสังคมที่เอื้อให้เติบโตและพัฒนาศักยภาพอย่างก้าวกระโดด แต่ไม่มีช่องทางให้สื่อสารพูดคุยในระดับนโยบาย
นอกจากนี้ การสำรวจสถานการณ์เด็กและเยาวชนในท้องถิ่นต้นแบบ ยังทำให้ได้พบเห็นปัญหาที่ยังคงมีอยู่ไม่น้อย นั่นก็คือ ความไม่เข้าใจระหว่างวัยในครอบครัว ปัญหาการล้อเลียนหรือการบูลลี่ สิ่งเสพติดในชุมชน การติดเกมและอบายมุขต่าง ๆ รวมถึงสุขภาพกายและใจที่เกิดจากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมกับวัย
นั่นจึงนำมาซึ่งความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้ใหญ่ใจดีที่ร่วมมือกันเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการคลี่คลายปัญหาให้กับน้อง ๆ เด็กและเยาวชนได้อย่างตรงจุด ซึ่งจากการให้มูลโดย น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. มีความเห็นว่า มหกรรม “Learn เล่น เห็น Local” ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในโครงการต่อเนื่องระยะยาวที่ สสส. ได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ทำโครงการที่เน้นการพัฒนาศักยภาพของท้องถิ่นให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องของการสนับสนุนสภาเด็กและเยาวชนในระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นภาคีของทางท้องถิ่น โดยหัวใจสำคัญที่สุดก็คือ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเยาวชนเชิงบวก หมายถึงการส่งเสริม สนับสนุนวัยรุ่นในชุมชน ได้มีการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ โครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ซึ่งตรงนี้จะสามารถช่วยเสริมในเรื่องของสภาวะ Well Being หรือความเป็นอยู่ที่ดีในชุมชนได้อีกด้วย
“จากโครงการที่น้อง ๆ สภาเด็กและเยาวชนทั้ง 47 ท้องถิ่น มารวมกันในวันนี้ จะเห็นว่าน้อง ๆ เขาหยิบปัญหาหลังจากที่สำรวจในชุมชนมาแก้ไข เช่น บางทีมหยิบเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ามานำเสนอว่า ในแต่ละปีมีการเก็บสถิติว่ามีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กวัยรุ่นของชุมชน สาเหตุเพราะในกลุ่มเด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเข้าใจผิดว่าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน จึงหันไปใช้บุหรี่ไฟฟ้า แต่พอทำโครงการที่สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็สามารถลดปริมาณการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มวัยรุ่นได้มากขึ้น
“หรืออย่างเรื่องของการบูลลี่ มีการสำรวจพบว่า ในประเทศไทย การบูลลี่ในกลุ่มเด็กวัยเรียนและเยาวชนไทยติดอันดับโลก ซึ่งมีปัญหาเยอะมาก โดยกลุ่มเยาวชนที่จะโดนบูลลี่มากที่สุด เป็นกลุ่ม LGBTQ + ก็จะมีสภาเด็กและเยาวชนในบางที่ที่หยิบเรื่องนี้มาทำกิจกรรมสร้างความเข้าใจถึงความแตกต่าง การเคารพกันและผลกระกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นเมื่อเราบูลลี่คนอื่น เราก็จะมีกิจกรรมที่ทำให้เปิดโอกาสให้น้อง ๆ LGBTQ + ได้เข้ามาแสดงพลังและความสามารถ เป็นส่วนหนึ่งในโครงการที่จะทำให้ผู้ใหญ่เห็นว่าพวกเขามีความสามารถ”
น.ส.ณัฐยา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากปัญหาดังกล่าว เรื่องของสุขภาพจิตก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พบได้บ่อย ซึ่งจากการสำรวจ พบว่าชุมชนหลายครอบครัวในพื้นที่มีปัญหาและไม่เข้าใจ โดยครอบครัวที่มีปัญหาก็คือครอบครัวที่พ่อแม่ไปทำงานที่อื่น แล้วเด็ก ๆ ก็จะอยู่กับปู่ย่าตายาย พอเด็ก ๆ โตขึ้นก็เกิดความไม่เข้าใจเพราะเรื่องของช่องว่างระหว่างวัย นั่นจึงเป็นที่มาของการจัดทำโครงการที่สร้างกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ให้ผู้ใหญ่มีการแลกเปลี่ยนวิธีการจัดการอารมณ์ตัวเอง เช่น เปลี่ยนจากคำดุด่า เป็นการพูดคุยดี ๆ อย่างมีเหตุผล เด็ก ๆ ก็จะเรียนรู้วิธีการพูดคุย และระบายความเครียดของตัวเองได้อย่างสร้างสรรค์ แล้วก็เรียนรู้วิธีการสนทนากับผู้ใหญ่ในเชิงบวก
ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นน้อง ๆ เยาวชน พวกเขามองว่า “การมีส่วนร่วม” คือ ได้ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ และลงมือทำในกิจกรรมที่สนใจด้วยการเปิดโอกาส สนับสนุนและช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ที่ไว้วางใจ
“สสส. จึงได้ร่วมกับ สถ. , SIY และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนงานหลายด้าน ทั้งพัฒนาชุดความรู้พร้อมใช้ เครื่องมือทำงานพัฒนาเยาวชน กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะและทักษะชีวิต พัฒนาศักยภาพบุคลากรท้องถิ่นให้สามารถทำงานกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ จนเกิดกระบวนการ “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” ท้องถิ่นต้นแบบที่ดำเนินงานด้านสภาเด็กและเยาวชนได้ดี เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนมีพื้นที่ส่งเสียงความต้องการและทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ที่เป็นกลไกท้องถิ่น เช่น สำรวจปัญหาและความต้องการของเด็กและเยาวชนในตำบลทุกปี เพื่อจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชน ป้องกันและแก้ปัญหาต่าง ๆ ส่งเสริมการเรียนรู้ การทำกิจกรรมสร้างสรรค์ หลายแห่งสามารถจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อเด็กและเยาวชน เป็นความยั่งยืนของการพัฒนาเด็กและเยาวชนในระดับพื้นที่” น.ส.ณัฐยา กล่าวย้ำในตอนท้าย
ผลักดันแก้กฎหมาย-กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
เปิด 3 พื้นที่ใหม่ให้เยาวชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันเยาวชนมีความตื่นตัวทางการเมืองและประเด็นสาธารณะมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าเสียงที่สะท้อนไปยังไม่ถูกรับฟังอย่างเพียงพอ ทั้งในรั้วโรงเรียนและสังคมโดยรวม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กมธ. พัฒนาการเมืองฯ มองเห็นปัญหาดังกล่าว จึงร่วมกับฝ่ายวิชาการ เช่น 101 PUB ภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิ SIY และตัวแทนสภาเด็กและเยาวชน เตรียมจัดทำข้อเสนอในการแก้กฎหมาย-กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิด “พื้นที่” ให้เยาวชนมีส่วนร่วมมากขึ้นใน 3 พื้นที่ ประกอบด้วย
1. ปลดล็อกให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมใน “พื้นที่เดียวกัน” กับผู้ใหญ่โดยตรง เช่น การปรับเกณฑ์เรื่องอายุขั้นต่ำในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น อายุขั้นต่ำในการลงสมัครรับเลือกตั้งระดับชาติ หรือท้องถิ่น ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมักมองว่าหากมีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ก็ถือว่าอายุมากพอที่จะมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเช่นกัน แต่ในไทยแม้สามารถเลือกตั้งได้ตั้งแต่อายุ 18 ปี แต่ต้องรอถึงอายุ 25 ปีจึงจะลงสมัครเป็น สส. หรือ สมาชิกสภาท้องถิ่น และอายุ 35 ปี จึงจะสมัครเป็นผู้บริหารท้องถิ่นได้
2. ออกแบบ “พื้นที่พิเศษ” สำหรับเยาวชน ให้เป็นสะพานเชื่อมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นระหว่างเยาวชนกับกลไกทางการเมือง หรือทางนโยบาย เช่น ปฏิรูปสภาเด็กและเยาวชน ให้ยึดโยงกับเยาวชนมากขึ้น รวมถึงเพิ่มอำนาจในการผลักดันนโยบายผ่านการเสนอร่างกฎหมายไปที่สภาฯ หรือผ่านการมีโควต้าตั้งกระทู้ถามและเสนอแนะรัฐมนตรีที่ต้องมาตอบในสภาเยาวชน
3. เปิด “พื้นที่สถานศึกษา” ให้นักเรียน มีส่วนร่วมออกแบบการศึกษาและกติกาในโรงเรียนมากขึ้น ผ่านการส่งเสริมประชาธิปไตยในห้องเรียน เปิดให้นักเรียนมีส่วนร่วมประเมินคุณภาพการศึกษาที่ได้รับ ทั้งประเมินครูเพื่อให้เกิดการประเมินแบบรอบทิศ รวมถึงตรวจสอบมาตรฐานบริการในโรงเรียน เช่น หนังสือเรียน คอมพิวเตอร์ ห้องน้ำ ซึ่งขณะนี้ ได้ตั้งคณะทำงานที่เป็นตัวแทนจากหลายพรรค หลายภาคส่วน เพื่อศึกษาและจัดทำข้อเสนอโดยละเอียด และผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
“โอกาสนี้จึงขอเชิญชวนเยาวชนและประชาชน ร่วมแสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ สภาผู้แทนราษฎร” นายพริษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย