xs
xsm
sm
md
lg

“ศุภมาส” นำทีม อว. ผนึกความร่วมมือ กทม. จัดตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง ชูงานวิจัย นวัตกรรมแก้ไขปัญหา นำกรุงเทพฯ สู่เป้าหมาย “เมืองนวัตกรรมและน่าอยู่สำหรับทุกคน” (Innovative and Livable City for All)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศุภมาส” นำทีมคณะกระทรวงอว. ผนึกความร่วมมือ กทม. ร่วมเปิดงาน “ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง” ชูงานวิจัย นวัตกรรมแก้ไขปัญหา นำกรุงเทพฯ สู่เป้าหมาย “เมืองนวัตกรรมและน่าอยู่สำหรับทุกคน” (Innovative and Livable City for All) โดยงานนี้จัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1 – 3 ก.พ. 2567

วันนี้ (1 ก.พ.) นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยนางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. เปิดงาน “ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง” ซึ่งเป็นการทำงานระหว่างหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) รวมถึงหน่วยบริหารและจัดการทุนอื่น ๆ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมของ อว. ไปใช้ประโยชน์ และสนับสนุนการทำงานของ กทม. โดยงานนี้จัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1 – 3 กุมภาพันธ์ 2567  

นางสาวศุภมาส กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้เมืองประสบกับปัญหาในหลายด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติและมลภาวะที่ส่งผลต่อการอยู่อาศัย ภาวะความยากจน ภาวะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ภาวะความปลอดภัย ภาวะผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ภาวะความเหลื่อมล้ำด้านการบริการสาธารณสุข การป้องกันและแก้ไขปัญหาในมิติดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีงานวิจัยและนวัตกรรมเข้าไปช่วยสนับสนุน ซึ่งกระทรวง อว. มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้จำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ทราฟฟี่ฟองดูว์ แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมืองที่ประชาชนทุกคนสามารถแจ้งปัญหาที่เจอ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขให้ได้อย่างตรงจุด เช่น ปัญหาความสะอาด ไฟฟ้า ประปา ทางเท้า

ภายในงาน จัดพื้นที่แบ่งเป็น 3 โซน เพื่อสะท้อนถึงโจทย์ปัญหาสำคัญใน 3 มุมเมือง ประกอบด้วย เมืองนวัตกรรมการเรียนรู้ (Learning City) เมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (Smart and Livable City) และเมืองนวัตกรรมสำหรับทุกคน (Innovative City for All) นอกจากนี้ยังมีการเสวนาที่จัดต่อเนื่องตลอด 3 วัน ทั้งหมด 15 ช่วง โดยวิทยากร 57 ท่าน จาก 22 หน่วยงาน รวมถึงมีกิจกรรมพิเศษ Workshop จัดโดยสภาเด็กและเยาวชน ที่จะมาระดมความคิดเห็นในการออกแบบการพัฒนาเมือง และการประกาศแนวทางให้ทุนวิจัยสำหรับการพัฒนาเมืองและชุมชนด้วย

รมว.อว. ยังได้กล่าวถึงผลงานนวัตกรรมจำนวนมากที่นำมาจัดแสดงในงานครั้งนี้รวมกว่า 45 ผลงาน ใน 3 บูธ อาทิ 1. ด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ มีเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ วัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และ PM10 แบบเซ็นเซอร์ อุปกรณ์ตรวจวัดการสั่นสะเทือนโครงสร้างอาคารและระบบแจ้งเตือนภัย เพื่อทำให้ชาวกรุงเทพฯ อยู่อาศัยอย่างปลอดภัยขึ้น 2. ด้านสุขภาพ มีย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี เป็นพื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนด้านการแพทย์และมีการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาล เพื่อทำให้การดูแลและส่งต่อผู้ป่วยทำได้รวดเร็ว และสามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ได้ดีขึ้น 3. ด้านสังคม มีแอปพลิเคชันบริการรถแท็กซี่สำหรับผู้สูงอายุ มีต้นแบบเผยแพร่วัฒนธรรมไทย-จีน จากมุมมองของคน 3 ช่วงวัย เพื่อให้เมืองดูแลกลุ่มเปราะบางได้ครอบคลุม 4. ด้านเศรษฐกิจ มีแอปพลิเคชันระบบบัญชีอัจฉริยะ แพลตฟอร์มข้อมูลชี้เป้าครัวเรือนยากจน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาแบบมุ่งเป้าเบ็ดเสร็จ และ 5. ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ มีแพลตฟอร์มการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ มีแอปพลิเคชันคัดกรองเด็กที่มีความลำบากในการอ่าน เพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ รมว.อว. ได้มอบนโยบายการพัฒนาเมืองให้กับหน่วยงานในกระทรวง อว. ไว้ 4 เรื่อง เพื่อเป็นทิศทางการดำเนินงานร่วมกัน คือ 1. เร่งรัดการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปช่วยในการพัฒนาเมืองในทุกมิติ โดยให้ใช้ศักยภาพด้านการวิจัยและนวัตกรรมของ อว. สนับสนุนการทำงานของทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และชุมชน  สำหรับ กทม. ให้ทำงานร่วมกับ Bangkok City Lab และส่วนงานอื่น ๆ ในการนำโจทย์ความต้องการมา จับคู่กับผลงานวิจัยของ อว. ที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง และมุ่งพัฒนาความร่วมมือกับผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยโดยตรง 2. สนับสนุนการพัฒนาต้นแบบเมืองหรือย่าน (City Sandbox) ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรม เช่น ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี รวมถึงการสนับสนุนให้นำผลงานด้านศิลปวัฒนธรรม มาส่งเสริมให้เกิดย่านวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต ไปพร้อม ๆ กับการรักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทย 3. สนับสนุนการจัดทำข้อมูล (City Data Platform) ที่สามารถสะท้อนถึงสุขภาพเมือง ทำให้สามารถคาดการณ์อนาคต และแก้ปัญหาได้ตรงจุด เช่น ตัวชี้วัดการพัฒนาเมือง แพลตฟอร์มข้อมูลชี้เป้าครัวเรือนยากจน ฐานข้อมูลพื้นที่เสี่ยง อาคารสูง และการจัดการภัยพิบัติ และ 4. สนับสนุนการสร้างผู้นำท้องถิ่นและผู้นำเมืองยุคใหม่ เพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ผ่านหลักสูตรที่มีชุดความรู้ที่ได้จากการวิจัยและนวัตกรรม

“ดิฉันขอขอบคุณผู้จัดงานจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานร่วมจัดงานของ อว. ที่ร่วมแรงร่วมใจทำให้เกิดงานนี้ขึ้นมา ดิฉันมั่นใจว่า กระทรวง อว. มีผลงานวิจัยและนวัตกรรม มีบุคลากร มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมจะสนับสนุนการทำงานของ กทม. และทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่าง อว. และ กทม. ในระยะยาว เพื่อผลักดันให้ กทม. เป็น “เมืองนวัตกรรมและน่าอยู่สำหรับทุกคน (Innovative and Livable City for All)” รมว.อว. กล่าวทิ้งท้าย














กำลังโหลดความคิดเห็น