แน่นอนว่า เมื่อบอกลาปลายฤดูหนาว ก้าวเท้าเข้าสู่ต้นฤดูแล้ง อีกหนึ่งปัญหาที่วนเวียนมาทุกปีเป็นเงาตามตัวคงหนีพ้นปัญหาจากมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 เรียกได้ว่า เป็นปัญหาเรื้อรัง โดยเฉพาะในภาคเหนืออย่างเชียงรายและเชียงใหม่
ตัวเลขผู้ป่วยไทยเกือบ 10 ล้านคนจากโรคมลพิษทางอากาศ สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหานี้ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้นทุกปี นอกจากเกิดจากการเผาในประเทศ อีกหนึ่งต้นตอสำคัญคือ “ปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน” จากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการเผาเพื่อการเกษตรหรือไฟป่า ซึ่งปัญหานี้ก็ยังคงหนึ่งในประเด็นที่ยังเป็นข้อถกเถียงของเหล่าอาเซียน เนื่องจากเป็นผลกระทบในวงกว้าง และระยะยาว แม้จะผ่านการหาทางออกร่วมกันตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ซึ่งนั่นก็นำมาสู่การผนึกความร่วมมือในครั้งนี้เช่นกัน โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง, กรมควบคุมมลพิษ, กรุงเทพมหานคร, ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.) และมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศไทย ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศข้ามแดนจากการเผาไหม้ระหว่างไทย – เมียนมา (The Technical Workshop and Study Visit on Transboundary Haze Pollution Management Between Thailand and Myanmar)
“โชคดีที่สถานทูตไทยประจำย่างกุ้งให้ความสำคัญ พร้อมประสานงานผู้นำชุมชนในพื้นที่ นายอำเภอส่วนของรัฐฉานในการมาร่วมพูดคุย ขณะเดียวกันกรมควบคุมมลพิษก็พยายามสื่อสารแล้วก็จัดการดูแลอบรม ผมคิดว่า นี่คือจุดเริ่มต้นที่ดีที่ได้ทำความรู้จัก เข้าใจซึ่งกันและกันก่อน แต่หลังจากนั้นเราก็คาดหวังว่า มันจะเป็นความร่วมมือในระยะยาวต่อไป”
“พื้นที่รัฐฉานถือเป็นพื้นที่ที่พบจุดความร้อน หรือ Hotspot ค่อนข้างเยอะและส่งกระทบกับประเทศไทยในวงกว้าง ซึ่งรัฐบาลเมียนมาก็มีความเข้าใจตรงกันว่า มันส่งกระทบต่อสุขภาวะจริง ทั้งงานวิจัยและข้อมูลในพื้นที่ ซึ่งผมเชื่อมั่นว่า รัฐบาลเมียนมาก็เห็นถึงความสำคัญและพยายามหาแนวทางในการดูแลสุขภาพของคนเมียนมาเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่า มันจะส่งผลกระทบบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างประเทศไทยแน่นอน นั่นก็ทำให้สุขภาพคนไทยโดยเฉพาะในเรื่อง PM2.5 ดีขึ้นด้วย”
สำหรับบทบาทการทำงานในประเด็นดังกล่าว นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวต่อถึงจุดยืนของ สสส. ไว้ว่า สสส. มุ่งเน้นการ ”สร้างนำซ่อม” ทำงานตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อลดกระบวนการเผา ลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ เพื่้อลดผลกระทบต่อสุขภาวะของประชาชนในทุกมิติ ซึ่งในครั้งนี้ สสส. มุ่งเน้นบทบาทการเชื่อมประสานระหว่างภาคประชาชน ภาควิชาการ รวมถึงการร่วมมือกับภาคราชการและภาคการเมือง เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนในลำดับต่อไป
ซึ่งการดำเนินงานปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ด้านการลดผลกระทบสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อม ถือเป็น 1 ใน 7 ทิศทางและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 10 ปี (2565-2574)
ความจริงที่น่าตกใจคือมลพิษทางอากาศส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 1.3 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นตัวเลขราว ๆ 30% ของประชากรทั่วโลก ผู้จัดการกองทุน สสส. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปี 2556 องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดอย่างเป็นทางการว่า PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง ผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพ ผลระยะสั้น เช่น ระคายเคืองตา คอ จมูก หัวใจเต้นเร็ว หรือผิดจังหวะ โรคหืด หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังกำเริบ หลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบ ผลระยะยาว เช่น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหืด ภูมิแพ้ มะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง คลอดก่อนกำหนด
แถมเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในอนาคตอีกด้วย นพ.พงศ์เทพ อธิบายเสริมว่า ปกติปอดมนุษย์จะพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 25 ปี หากมีสารพิษกระทบในช่วงเจริญเติบโตของปอด จะส่งผลเสียต่อสมรรถภาพการทำงานของปอดในระยะยาว
ซึ่งในช่วงหลายปีมานี้ นพ.พงศ์เทพ มองว่า การตื่นตัวของประชาชนในประเทศไทยต่อปัญหา PM2.5 ถือจุดเริ่มต้นที่ดี โดยเฉพาะในการสร้าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ซึ่งทั้งภาคประชาชนและภาครัฐบาลต่างก็ต้องร่วมมือกันในการจัดการปัญหา ซึ่งเชื่อได้ว่า จะเป็นประโยชน์ในการจัดการกับสถานการณ์ PM2.5 ได้อย่างเหมาะสม
“การรวมกลุ่มส่งเสียงสภาพปัญหา พยายามทำความเข้าใจกับร่าง พ.ร.บ อากาศสะอาด เป็นสิ่งสำคัญที่ประชาชนทุกคนควรมีส่วนร่วมอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์และความเหมาะสมกับบริบทของประชาชนคนไทย อย่างไรก็ดี พ.ร.บ อากาศสะอาด อาจเป็นแค่จุดเริ่มต้นของเครื่องมือที่เราจะใช้ช่วยจัดการปัญหานี้ เพราะเมื่อได้เครื่องมือมาแล้ว อาจจะต้องมีกฎกติกาบังคับใช้อื่น ๆ ซึ่งก็คงต้องติดตามกันต่อไปกว่าที่เราจะทำให้อากาศบริสุทธิ์กลับมาและปลอดภัยสำหรับทุกคน” นพ.พงศ์เทพ กล่าวสรุป
พร้อมทิ้งท้ายแนะนำให้ภาคประชาชน เริ่มต้นให้ความสำคัญในการลดกระบวนการเผาที่เป็นต้นตอของปัญหาของ PM2.5
นอกจากการแลกเปลี่ยนงานด้านวิชาการ ซึ่งได้จากหลากหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยหนุนเสริม สสส. พร้อมคณะทำงานยังได้ลงพื้นที่ชุมชนต้นแบบ “ชุมชนอาสาพัฒนา” เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ เพื่อร่วมชมการสาธิตนวัตกรรมเครื่องยนต์ต้นกำลังพลังชีวมวล (ฟางข้าวอัดแท่ง) พร้อมเรียนรู้กระบวนการลดการเผาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ภายใต้แนวคิดชุมชมปลอดการเผา
“อันดับแรกต้องขอขอบคุณ สสส. กรุงเทพมหานคร ชุมชนอาสาพัฒนา เขตคลองสามวา ที่เปิดโอกาสให้กรมควบคุมมลพิษและเจ้าหน้าที่จากสหภาพเมียนมาได้มาเรียนรู้ประสบการณ์จริงจากชุมชมอาสาพัฒนาในวันนี้”
นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวต่อว่า โครงการฝึกอบรมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเสริมสร้างศักยภาพให้กับเจ้าหน้าที่สหภาพเมียนมา โดยเป็นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและเชิงเทคนิค โดยมีการดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 18-27 มกราคมที่ผ่านมา
ซึ่งมีคณะทำงานที่เกี่ยวข้องทั้ง เจ้าหน้าที่ผู้แทนของสหภาพเมียนมา กรมควบคมมลพิษของเมียนมา กรมการเกษตร กรมป่าไม้ กรมอุตนิยมวิทยา กรมบริการและจัดการไฟป่า กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานจากรัฐฉาน และมหาวิทยาลัยในเมียนมาที่มาร่วมรับการอบรม
“โครงการนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดการปัญหามลพิษหมอกควันขั้นรุนแรงระหว่างประเทศ และร่วมเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรโดยไม่มีการเผา ซึ่งคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประสบการณ์ที่ชุมชนได้ถ่ายทอดจะเป็นประโยชน์ให้ทางเจ้าหน้าที่สหภาพเมียนมานำไปปรับใช้ในประเทศ เพื่อให้เกิดเป็นชุมชนปลอดการเผาเช่นเดียวกับชุมชนนี้” ผอ.กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าว
นอกจากชุมชนต้นแบบ การบริหารจัดการภาคการเกษตร (Agricultural Management) ภายในโครงการยังมีการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิชาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ทั้งการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีดาวเทียมติดตามตรวจวัดจุดความร้อน (Satellite Fire Hotspot Monitoring) และการใช้ประโยชน์ที่ดิน
ด้านนายยอดยิ่ง ศุภศรี อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัญหามลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนถือเป็นปัญหาร่วมกันของประเทศไทยและเมียนมา เนื่องจากส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งเมียนมาเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีปัญหา PM 2.5 เช่นเดียวกับประเทศไทย เกิดฝุ่นควันเต็มเมืองไม่ต่างกัน โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ซึ่งหลัก ๆ มาจากปัญหาการเผาเพื่อเตรียมการเกษตรในฤดูเพาะปลูก
ดังนั้น สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศจึงได้มีการจัดทำโครงการนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว
“ถามว่า ประชาชนชาวเมียนมามีความตื่นตัวเรื่อง PM2.5 ไหม ก็ต้องบอกว่า ประชาชนเองก็ตื่นตัวอยากให้รัฐบาลแก้ไข แต่ปัญหาสำคัญคือเมียนมาขาดเทคโนโลยี อุปกรณ์ รวมทั้งงบประมาณ ซึ่งนอกจากการฝึกอบรมในครั้งนี้ เรากำลังมองหาความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ต่อไป ซึ่งคาดว่า ต้องหารือร่วมกันในหลาย ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”
ว่าด้วยเรื่องของทิศทางต่อไป นายยอดยิ่ง ทิ้งท้ายว่า หากองค์ความรู้ด้านวิชาการจากโครงการฯ ดังกล่าวนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ไม่ว่าจะด้วยการขับเคลื่อนนโยบาย หรือกฎระเบียบ ซึ่งสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวเมียนมาได้ก็เตรียมขยายผลเฟสที่ 2 ในปีถัดไป