xs
xsm
sm
md
lg

สปสช. เผยปี 66 เด็ก กทม. รับแว่นตา 3.6 หมื่นคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สปสช. ชูผลงานบริการแว่นตาเด็ก เขต 13 กทม. ทะลุเป้า หลังจับมือ กทม. ปี 2566 รุกโครงการ “เด็ก กทม.สายตาดี” ตรวจคัดกรองสายตาเด็กนักเรียนใน รร. ทั่วกรุงเทพฯ 647 แห่ง เกือบ 4 แสนคน ดูแลเด็กนักเรียนที่มีปัญหาสายตาได้รับแว่นตาภายใต้สิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทองกว่า 3.6 หมื่นคน เพิ่มคุณภาพชีวิต แก้ไขสาตาผิดปกติให้กลับมามองเห็นชัดเจน ถอดบทเรียนความสำเร็จ ผลจากการนโยบายทีผลักดัน การผนึกความร่วมมือและแผนขับเคลื่อนที่ชัดเจน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพของเด็กไทยในทุกด้าน รวมถึงการมองเห็น ซึ่งที่ผ่านมามีเด็กไทยที่อยู่ในวัยเรียนจำนวนไม่น้อยที่มีภาวะบกพร่องในด้านสายตาและไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้น สปสช. จึงได้จัดสิทธิประโยชน์ “บริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ” ภายใต้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค พร้อมสนับสนุนให้มีการจัดบริการตรวจคัดกรองสายตาเชิงรุกให้กับเด็กที่อยู่ในวัยเรียนทั่วประเทศ ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (ป.1) และเด็กอนุบาลปีที่ 1-3 เด็กนักเรียน ป.2 - ป.6 กรณีที่ครูสงสัยว่าเด็กมีภาวะสายตาที่ผิดปกติ เพื่อรับแว่นตาในการแก้ไขปัญหาสายตาให้การมองเห็นเป็นปกติ โดยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และโรงเรียนทั่วประเทศ


ทั้งนี้ จากการดำเนินการสิทธิประโยชน์ดังกล่าวนี้ ในปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนเด็กนักเรียนทั่วประเทศได้รับแว่นตาเพื่อแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติเกินจากเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างมาก โดยมีเด็กนักเรียนได้รับแว่นตาจำนวน 46,950 คน จากเป้าหมายที่ สปสช. กำหนดไว้ที่จำนวน 10,140 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 463.02 โดยในจำนวนนี้มีเด็กที่ต้องได้รับเลนส์สายตาที่ตัดเป็นพิเศษจำนวน 2,521 คน หรือร้อยละ 5.37 คน

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี เมื่อดูข้อมูลบริการทั้ง 13 เขตพื้นที่ ในพื้นที่เขต 13 กรุงเทพมหานคร ไม่เพียงแต่เป็นพื้นที่ซึ่งมีการให้บริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติมากที่สุด แต่ยังมีผลงานที่เกินจากเป้าหมายบริการที่ตั้งไว้อย่างมาก โดยสามารถดำเนินการเชิงรุกเพื่อคัดกรองสายตาในโรงเรียนได้ถึง 647 แห่ง จำนวนนักเรียน 392,087 คน ในจำนวนนี้พบเด็กที่มีความเสี่ยงสายตาจำนวน 49,850 คน หรือร้อยละ 12.71 และในจำนวนนี้มีนักเรียนที่ได้รับแว่นตาจำนวน 36,311 คน หรือร้อยละ 72.84 ซึ่งเกินจากเป้าหมายจำนวนนักเรียนที่รับแว่นตาซึ่งกำหนดไว้ที่จำนวน 698 คน โดยใช้งบประมาณดำเนินการทั้งสิ้นจำนวน 31,756,600 บาท


“ผลการดำเนินการสิทธิประโยชน์บริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติในพื้นที่ กทม. เป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่ง นั่นหมายถึงมีเด็กๆ ได้รับการดูแลสายตาอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ซึ่งในเด็กที่มีปัญหาสายตาก็ได้รับการแก้ไขให้กลับมามองเห็นที่ดี ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเรียนและการพัฒนาในด้านอื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตามจากผลสำเร็จนี้ ได้ให้ทาง สปสช. เขต 13 กทม. ดำเนินการถอดบทเรียน เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว


ด้าน ทพญ.น้ำเพชร ตั้งยิ่งยง ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เดิมทีในปีงบประมาณ 2565 เขต 13 กทม. มีเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติได้รับบริการแว่นตาเพียงคนเดียว จากอุปสรรคทั้งการเขียนโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร หน่วยบริการไม่สนใจเข้าร่วมให้บริการเนื่องมาจากค่าตอบแทนบริการแว่นตาที่ไม่จูงใจ ทำให้มีเด็กที่ผ่านการคัดกรองสายตาและรับบริการตัดแว่นตาประมาณ 36,311 คน

ดังนั้น สปสช. จึงได้หารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร ทั้งสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และสำนักการศึกษา เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาและร่วมจัดทำโครงการ “เด็ก กทม.สายตาดี” เพื่อรุกคัดกรองสายตาให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. จำนวน 431 แห่ง นอกจากได้กำหนดให้เป็นนโยบายของ กทม. แล้ว ยังเป็นหนึ่งในข้อเสนอการขับเคลื่อน EfficienceArea Manager ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ตั้งเป้าหมายให้เด็กนักเรียนที่มีปัญหาสายตาได้รับแว่นตาครบทุกโรงเรียน


พร้อมได้วางแนวทางการขับเคลื่อนที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม อาทิ เพิ่มรายการบริการตรวจวินิจฉัยค่าสายตาเพื่อบริการแว่นตาเด็กที่สายตาผิดปกติเด็กกลุ่มเสี่ยง ในรายการบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่จ่ายผลงานตามการให้บริการ กทม. (PP FS BKK) โดยกำหนดอัตราชดเชยบริการตรวจวินิจฉัยค่าสายตา 200 บาทต่อคน, ออกแบบรูปแบบบริการแบบเชิงรุกที่โรงเรียนและจัดระบบบริการตั้งแต่ คัดกรอง ตรวจวินิจฉัย ตัดแว่น และรับส่งต่อกรณีสายตาผิดปกติที่ต้องได้รับการรักษา, ดึงหน่วยบริการภาคเอกชนที่มีศักยภาพมาร่วมจัดบริการเชิงรุก และวาระบบสนับสนุนข้อมูลเด็กนักเรียนที่มีผลคัดกรองสายตาผิดปกติให้กับหน่วยบริการแว่นตา เป็นต้น นอกจากนี้ยังหารือร่วมกับ Service Plan กระทรวงสาธารณสุข ดึงโรงพยาบาลในสังกัดร่วมให้บริการเชิงรุก

“ปัจจัยความสำเร็จเกิดจากนโยบายที่จริงจังของ กทม. และการผนึกกำลังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กทม. สำนักการศึกษา กระทรวงสาธารณสุข หน่วยบริการภาครัฐและเอกชน ทำให้บริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ ของเขต 13 กทม. ทะลุเป้าหมาย ซึ่งสิ่งที่ได้มาไม่ใช่ผลสำเร็จที่บรรลุเป้าหมาย แต่คือคุณภาพชีวิตของเด็กๆ ในพื้นที่ กทม. ที่เพิ่มขึ้น จากสายตาที่ได้รับการแก้ไขและกลับมามองเห็นได้อย่างชัดเจน” ผอ.สปสช. เขต 13 กทม. กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น