สสจ.เพชรบุรี เตรียมจัดเมนู "อาหารเป็นยา" ดูแลนักกีฬาแข่งอีสปอร์ต ใช้ 3 วัตถุดิบผ่าน Gastronomy จากยูเนสโก ทั้งน้ำตาลโตนด มะนาวแป้น และเกลือสมุทร ทำเครื่องดื่มสูตร "เพชรพราว" พร้อมป็อปคอร์นคาราเมลน้ำตาลโตนด และลูกชิ้นไข่ผำ เร่งวิเคราะห์แคลอรี โภชนศาสตร์ นำกลิ่น "สุขภาวัฒน์" ซิกเนเจอร์เมืองเพชร ช่วยรีแลกซ์ พร้อมทำ Pilot Study ลดความเสี่ยง
พทป.กชกร กลิ่นมาลี รองหัวหน้ากลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพชรบุรี กล่าวว่า ช่วงประมาณเดือน เม.ย. 2567 จ.เพชรบุรีเป็นเจ้าภาพในการจัดแข่งขันอีสปอร์ตในเกม ROV ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ซึ่ง สสจ.เพชรบุรีได้รับการประสานให้ร่วมจัดการดูแลการแข่งขันอีสปอร์ตพริบพรี สุขีดี อาหารเป็นยา เพื่อให้เยาวชนได้รับสิ่งที่ดีๆ ภายใต้ "Phetburi City of Gastronomy" เนื่องจากปกติที่เราเห็นเวลาการแข่งขันและห้องรับชม ของกินที่วางส่วนใหญ่จะเป็น Junk Food หรือขนมที่เด็กๆ ชอบที่เป็นโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และมีโซเดียมสูง ส่วนเครื่องดื่มเป็นน้ำที่ได้ความหวานจากน้ำตาล โดยเราจะจัดอาหารว่างหรือเบรกทั้งของคาวของหวานและเครื่องดื่มให้แก่นักกีฬาและผู้เข้าชม โดยเป็นเมนูที่ผ่านเกณฑ์ 3 ส่วน คือ Clean food good taste , เมนูชูสุขภาพ และอาหารเป็นยา เพราะฉะนั้น อาหารทั้งหมดที่เสิร์ฟจะถูกคำนวณแคลอรี โภชนาการ และสรรพคุณทางแพทย์แผนไทยมาแล้วก่อนเอาไปเสิร์ฟ
พทป.กชกรกล่าวว่า เพชรบุรีได้รับให้เป็น City of Gastronomy จากยูเนสโก วัตถุดิบอาหาร 3 อย่างประกอบด้วย น้ำตาลโตนดจาก อ.บ้านลาด , เหลือสมุทรจาก อ.บ้านแหลม และมะนาวแป้นจาก อ.ท่ายาง โดยเบื้องต้นอาหารและเครื่องดื่มที่จะเสนอในการจัดงานอีสปอร์ต คือ 1.เครื่องดื่มสูตร "เพชรพราว" ซึ่งอยู่ในตำรับ 9 สูตรที่เราวิจัยภายใต้ ม.ศิลปากร วิทยาเขตชะอำ โดยทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) 9 สูตรเรามีทั้งค็อกเทลและม็อกเทล เพื่อตอบรับผู้ประกอบการต่างๆ โดยสูตรเพชรพราวเป็นการเอาวัตถุดิบทั้ง 3 อย่างมารวมกัน เราดิมขอบแก้วด้วยเกลือ เอาน้ำตาลโตนดผสมมะนาวแป้นและโซดาวางเป็นเลเยอร์ ไม่ใช้ช้อนหรือหลอด แต่ให้ดื่มด้วยแก้ว ก็จะได้ทั้งหมด 3 รส เป็นเครื่องดื่มทางเลือกคนที่ไม่ดื่มชาและกาแฟ ส่วน "กาแฟ" เราจะสูตร "เพชรคอฟฟี" จะใช้เอสเปรสโซประมาณ 2 ช็อต ใส่น้ำตาลโตนดไซรัปบวกกับเรกูลาไซรัป มิกซ์เป็นเครื่องดื่มตัวนี้ ขณะที่ "ชา" คือสูตร "เพชรเพลิน" ใช้ชาไทยหรือชาอู่หลงที่เข้มข้นผสมลงไป
2.ของว่างเป็นป็อปคอร์นคาราเมลตาลโตนด โดยเราไปเคี่ยวซอลท์เต็ดคาราเมลตาลโตนดมาใส่แทนคาราเมลทั่วไป ซึ่งค่าดัชนีน้ำตาล (GI Sugar) จากน้ำตาลโตนดจะต่ำกว่าน้ำตาลทรายขาวและน้ำผึ้ง และกลิ่นน้ำตาลโตนดของเราจะไม่เหมือนที่อื่น ดังนั้น ที่บอกว่าเพชรบุรีกินหวาน แต่พอไปดูสถิติแล้วโรคเบาหวานเราเท่าจังหวัดอื่น ไม่ได้เป็นมากกว่า
และ 3.ลูกชิ้นไข่ผำ ซึ่งไขผำเป็นพืชเศรษฐกิจที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังพัฒนา ไข่ผำจะขึ้นได้เมื่ออยู่ในน้ำที่สะอาดจริงๆ โดยแม่น้ำเพชรบุรีมาจากเขื่อนแก่งกระจาน จึงเป็นดัชนีอีกตัวที่ตรวจว่าน้ำมีความสะอาด โดยลักษณะจะเหมือนไข่กุ้งแต่มีสีเขียว มีคุณค่าโภชนาการ เรานำมาทำเป็นลูกชิ้นและฮื่อก้วย เสียบเสิร์ฟเป็นชุดๆ ไป โดยน้ำจิ้มก็จะเบสใช้น้ำตาลโตนด พริกใช้พริกกะเหรี่ยงในพื้นที่คือ อ.หนองหญ้าปล้อง เรียกว่าจะใช้วัตถุดิบทั้งหมดในเพชรบุรี
"เมนูเหล่านี้ยังเป็นร่างก่อน ซึ่งจะต้องเสนออีก แต่ที่เราใช้น้ำตาลโตนด เพราะคำนวณแคลอรีออกมาไม่ค่อยสูง ต่อ 1 หน่วยบริโภคจะให้อยู่ในมาตรฐานที่เด็กควรจะได้รับ ผนวกกับลูกชิ้นไข่ผำใช้การนึ่งไม่ใช้การทอด ตัวปลาที่ทำลูกชิ้นจะใช้จากประมงโดยตรง ไม่ผ่านกระบวนการแช่ ก็จะมีเรื่องของ Food Safety หมดเลย ส่วนเรื่องโภชนศาสตร์กำลังส่งให้คำนวณอยู่ เพราะไข่ผำสรรพคุณมีโปรตีนค่อนข้างสูง ที่ช่วยเรื่องสุขภาพเท่าที่เห็นข้อมูล จะช่วยเรื่องอาการแพ้ เสริมภูมิคุ้มกันในกลุ่มที่ด้อยภูมิคุ้มกัน หรือร่างกายผิดปกติเกี่ยวกับทางเดินหายใจ แต่เมื่อแปรรูปเป็นอาหารสรรพคุณจะเปลี่ยนไป ส่วนอีสปอร์ตเป็นการแข่งที่เด็กนั่งอยู่กับ การใช้พลังงานอาจไม่เท่าการแข่งอื่นๆ ซึ่งการดูดซึมไข่ผำค่อนข้างเร็ว แปลงเป็นพลังงานค่อนข้างเร็ว เรากำลังรอโภชนศาสตร์คำนวณแคลอรีส่งมา ดังนั้น สูตรในการปรุงอาจต้องปรับให้เข้ากับพลังงานที่จะได้จากการนั่งแข่ง" พทป.กชกรกล่าว
พทป.กชกรกล่าวว่า ในระหว่างการแข่งขันหลายที่อาจจะใช้กลิ่นสารเคมีหรือกลิ่นสกัด แต่เราจะนำ "กลิ่นสุขภาวัฒน์" ของ รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี ซึ่งสกัดและวิเคราะห์โดยนักวิเคราะห์กลิ่นมาแล้วว่าช่วยเรื่องการรีแล็กซ์ และมีการใช้ในคนไข้เรื่องการรีแลกซ์มาแล้วด้วย มาใช้กระจายในห้องแข่งขันและห้องรับชม ดังนั้น การใช้เรื่องผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดจากการเล่นเกม ก็น่าจะสามารถช่วยเด็กได้อีกทาง อย่างไรก็ตาม ทั้งเรื่องอาหารและกลิ่นที่จะใช้ดูแลนักกีฬานั้น เราจะมีการทำ Pilot Study เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้วย เพาะอย่างกลิ่นความชอบแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน มิเช่นนั้นถึงเวลาอาจจะมีผลเรื่องการแข่งขัน และความปลอดภัย เราก็จะจัดตรงนี้ก่อนการแข่งขันจริง ซึ่งจะเป็นเจ้าหน้าที่ที่วัยใกล้เคียงกับกลุ่มวัยรุ่น เราจะทำ pilot study น่าจะช่วง ก.พ.ใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ให้ทีมวิจัยเข้ามาดูเรื่องระยะเวลาและกลุ่มตัวอย่างว่ากี่คน รวมถึงดูเรื่องการแพ้อาหารด้วย ซึ่งนักกีฬาที่ต้องดูแลมีประมษณ 40 กว่าคน