ไทยร่วมประชุมองค์การอนามัยโลก สมัยที่ 154 ดัน 2 ประเด็นสุขภาพ เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ - การมีส่วนร่วมของสังคม หารือร่างข้อมติชงที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก พ.ค.นี้
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้าร่วมประชุมของคณะผู้แทนไทย ในการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลก สมัยที่ 154 (154th Session of the WHO Executive Board : EB154) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-27 มกราคม 2567 ณ สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ว่า นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย นำทีมวิชาการ ประกอบด้วย ผู้แทนจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสุขภาพจิต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยได้ผลักดันประเด็นด้านสุขภาพที่สำคัญ 2 ประเด็น ได้แก่ การดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Resistance) และการมีส่วนร่วมของสังคม (Social Participation) โดยมีการหารือกับประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลก เพื่อหารือร่างข้อมติที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกในเดือนพฤษภาคมของปีนี้ต่อไป ทั้งนี้ ข้อมติในเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ จะเป็นข้อมูลสำคัญในการจัดทำร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งกำหนดจัดในเดือนกันยายน 2567 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ในการประชุมฯ ได้มีการแต่งตั้งให้ Ms. Saima Wazed เป็นผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนใหม่ ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 แทน Dr.Poonam Khetrapal Singh ที่หมดวาระลง
สำหรับการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลก ประกอบด้วยกรรมการ จำนวน 34 คน จากประเทศสมาชิกในภูมิภาคต่างๆ รวม 6 ภูมิภาค จัดการประชุมปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเดือนมกราคม และเดือนพฤษภาคม (จัดขึ้นทันทีหลังจากจบการประชุมสมัชชาอนามัยโลก) ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยการประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักในการร่วมกำหนดนโยบายต่างๆ รับรองข้อมติและข้อตัดสินใจที่จะนําเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสมัชชาอนามัยโลกในเดือนพฤษภาคม รวมทั้งรับรองรายงานที่ให้ข้อเสนอแนะและสนับสนุนต่อการดำเนินงานขององค์การอนามัยโลก ซึ่งมีความสำคัญต่อประเทศไทยในการเตรียมพร้อมเข้ารับตำแหน่งสมาชิกในคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลก ในการประชุมครั้งต่อไป สมัยที่ 155 ที่จะจัดในเดือนมิถุนายน 2567 ด้วย