xs
xsm
sm
md
lg

ชาว ‘เกาะล้าน’ 90% ทำข้อตกลงชุมชน ขยายผล ‘ธรรมนูญสุขภาพฯ’ แก้ปัญหาขยะ-สุนัขจรจัด-NCDs-ความปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชาวชุมชนเกาะล้าน ผนึก สช. ระดมแนวทางขยายผลการขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพฯ” นำกติกา-ข้อตกลงร่วมที่ประกาศใช้ ไปสู่การปฏิบัติเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีในพื้นที่ วางประเด็นพัฒนาความปลอดภัยทางบก-ทางน้ำ จัดการสุนัขจรจัด พัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชนรุ่นใหม่ใส่ใจชุมชน-สิ่งแวดล้อม จัดการขยะในชุมชน ตลอดจนการป้องกันโรค NCDs ลดหวาน-มัน-เค็ม

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วย ชาวชุมชนเกาะล้าน ร่วมกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนการสื่อสารขยายผลการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพชุมชนเกาะล้าน โดยมีตัวแทนชุมชนเกาะล้าน ผู้ประกอบการ โรงเรียน โรงพยาบาล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เข้าร่วม ณ โรงเรียนเมืองพัทยา 10 (บ้านเกาะล้าน) อ.บางละมุง จ.ชลบุรี

สำหรับ “ธรรมนูญสุขภาพชุมชนเกาะล้าน” ได้ถูกประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2566 ภายในเวที “สมัชชาสุขภาพเกาะล้าน ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2566” โดยมีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างชาวชุมชนเกาะล้าน เมืองพัทยา สช. และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดทิศทางการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาวะและความเป็นอยู่ของชาวชุมชนคนเกาะล้าน จากผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น การละเมิดสิทธิชุมชน การใช้พื้นที่สาธารณะอย่างไม่เป็นระเบียบ การปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล ฯลฯ

ในส่วนเนื้อหาของธรรมนูญฯ ฉบับนี้ ได้มีการกำหนดข้อตกลงหรือแนวทางต่างๆ อาทิ การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การป้องกันยาเสพติด การพัฒนาบริการสาธารณสุข การสร้างเสริมสุขภาพ การส่งเสริมกลุ่มอาชีพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมศักยภาพเยาวชน การควบคุมขยะ รักษาทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการใช้น้ำ เป็นต้น


นายสรศักดิ์ ทองบงเพชร เลขานุการชุมชนเกาะล้าน เปิดเผยว่า พื้นที่เกาะล้าน จากเคยเป็นชุมชนเล็กๆ ที่ประกอบอาชีพประมงในอดีต ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและมีผู้อยู่อาศัยกว่าหลายพันหลังคาเรือน โดยเมื่อชุมชนเกิดการขยายตัวก็ได้นำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ที่ตามมามากมาย ทั้งจากบุคคลภายนอกและคนภายในชุมชน อย่างไรก็ตามพบว่าในหลายๆ ปัญหาที่เกิดขึ้น หากจะนำเอากฎหมายเข้ามาใช้โดยตรงอาจสร้างความยากลำบาก แต่หากปล่อยปละละเลยก็จะทำให้เกิดผลกระทบมากขึ้น

นายสรศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อชาวชุมชนร่วมกันมองเป้าหมายอยากให้เกาะล้านเป็นทั้งสถานที่ที่ผู้คนอยากมาท่องเที่ยว และยังอยากมาอยู่อาศัยด้วย จึงได้ร่วมกันใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะภายใต้เครื่องมือต่างๆ อย่างสมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ ฯลฯ เพื่อรวบรวมข้อมูล สถานการณ์ ประเด็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอุบัติเหตุ ทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการขยะ กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ฯลฯ ก่อนกำหนดเป็นข้อตกลงร่วมกันในการอยู่อาศัย ประกอบอาชีพ ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ

“จากการสอบถามคนในชุมชน เราพบว่ามากกว่า 90% สนับสนุนให้เกาะล้านมีธรรมนูญฯ หรือข้อตกลงชุมชนร่วมกัน จึงนำมาสู่การเดินหน้ากระบวนการจัดทำและรับฟังความคิดเห็นในหลากหลายเวที โดยมี สช. เข้ามาร่วมเป็นพี่เลี้ยง จนกระทั่งนำมาสู่การประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพชุมชนเกาะล้านร่วมกันเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2566 บนเป้าหมาย เกาะล้านน่าอยู่ น้ำทะเลใส หาดทรายขาว ปะการังสวย ชุมชนสามัคคี รักษาประเพณี ท่องเที่ยวยั่งยืน” นายสรศักดิ์ ระบุ


ขณะที่กิจกรรมหลักของเวทีการประชุมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมได้ระดมความเห็นเพื่อขยายผลการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพชุมชนเกาะล้าน ภายใต้กระบวนการเวิร์คช็อปปลุกพลังประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตา สมอง ใจ มือ และขา ซึ่งเริ่มวิเคราะห์ตั้งแต่การมองเห็น คิด รู้สึกอย่างไร จนนำไปสู่การลงมือทำและจังหวะก้าวเดินต่อไป โดยได้มีการวางประเด็นขับเคลื่อนธรรมนูญฯ ในเบื้องต้น ได้แก่ การขับเคลื่อนการรักษาความปลอดภัย (กู้ชีพ) ทางบกและทางน้ำ, การจัดการสุนัขจรจัดในชุมชน, การจัดโปรแกรมพัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชนรุ่นใหม่ ใส่ใจชุมชนและสิ่งแวดล้อม, การจัดการขยะในชุมชน ด้วยชุมชน เพื่อชุมชน, การจัดการและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ลดหวาน มัน เค็ม ในชุมชน


ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เกาะล้าน นับเป็นส่วนหนึ่งของเมืองพัทยา ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญของการท่องเที่ยวในระดับโลก อย่างไรก็ตามการเติบโตในเชิงของเศรษฐกิจ หรือการท่องเที่ยว ก็มีส่วนกระทบไปถึงมิติอื่นๆ ทั้งในเชิงสังคม สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงสุขภาพ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในวันนี้พื้นที่เกาะล้านมีจุดแข็งที่ดีจากความร่วมมือของคนในชุมชน ที่ใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะในการร่วมกันมองภาพฝัน และคิดหาแนวทางเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาที่สำคัญร่วมกัน

“ธรรมนูญสุขภาพชุมชนเกาะล้าน มีเนื้อหาที่ดีและเขียนได้ครบทั้งมิติในแง่ของสุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการพัฒนาผู้นำที่จะขึ้นมาร่วมแก้ไขปัญหา สร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งการพูดคุยในวันนี้จะเป็นการช่วยกันวางแนวทางการขับเคลื่อนสร้างสุขภาวะที่ดี ต่อจากเนื้อหาของธรรมนูญฯ ที่ได้มีการคิดร่วมกันไว้ให้เกิดความสำเร็จ ทำให้เกาะล้านเป็นที่ที่น่าอยู่ ทั้งคนที่มาอยู่อาศัยและคนที่มาท่องเที่ยว เป็นแบบอย่างที่ดีที่สามารถนำไปเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่นๆ ได้ต่อไป” นพ.สุเทพ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น