“ชลน่าน” เผย 30 บาทรักษาทุกที่ เกือบ 1 เดือน ประชาชนพอใจ เผยเสียงสะท้อนจากชาวบ้าน - นักท่องเที่ยวต่างชาติ ไร้เสียงบ่นผู้ให้บริการ คาด 1 เดือนรุ้ผลประเมินลดเวลารอคอย จ่อประชุมขยายเฟสสอง 8 จังหวัด 2 ก.พ.นี้ ก่อนคิกออฟ มี.ค. เร่งปรับปรุงเสียเวลายืนยันตัวตนครั้งแรก ย้ำระบบปลอดภัย ก่อนคิกออฟร้อยเอ็ดถูกโจมตีไซเบอร์ แต่สกัดได้
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการติดตามผลการดำเนินการ “30 บาทรักษาทุกที่” ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ว่า จากผลดำเนินงานที่เฝ้าระวัง ทั้งผู้รับบริการ ภาคประชาชน ผู้ให้บริการ และข้อมูลเชิงระบบ ขณะนี้ยังไม่ก่อปัญหาใดๆ ความพึงพอใจประชาชน กำลังอยู่ขั้นตอนการวัดผลออกมา ซึ่งเป็นตัวสำคัญว่าประชาชนพึงพอใจมากน้อยแค่ไหน แต่เท่าที่วางแนวทาง การรับฟังเสียงสะท้อน คู่สาย 1330 ที่ สปสช. วางไว้ 4 จังหวัดนำร่อง แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี นราธิวาส ยังไม่พบปัญหา อาจติดขัดเล็กน้อยบ้าง แต่ยังไม่ได้รับผลกระทบ
“ส่วนผู้ให้บริการ ยังไม่มีเสียงเรียกร้อง เสียงบ่นจากผู้ให้บริการ จะมีช้าบ้างเรื่องขึ้นทะเบียน Provider ID ของผู้ให้บริการ ซึ่งต้องระบุตัวตนการเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข แต่ขณะนี้ก็มีการขึ้นทะเบียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกือบครบทั้งหมดแล้ว ส่วนเรื่องความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลไม่มีปัญหาเช่นกัน เนื่องจากเรามีระบบเตรียมป้องกันตลอด” นพ.ชลน่าน กล่าว
ถามกรณีวางกรอบการประเมินผลการลดเวลารอคอยของคนไข้ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การลดระยะเวลารอคอยเป็นเป้าหมายอยู่แล้ว แต่ละพื้นที่จะไปดูรายละเอียด วางแนวทางเอาไว้ว่า คนมารับบริการเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร เป็นคนในพื้นที่หรือต่างพื้นที่ ส่วนระยะเวลาที่เข้ามาใช้บริการตั้งแต่เริ่มต้นจุดสตาร์ทตรงตู้ลงทะบียนคีออส จนจบกระบวนการใช้เวลาเท่าไร รวมถึงระบบบริการอื่นๆ เช่น การส่งยาที่บ้านทั้งไปรษณีย์ อสม.ไรเดอร์ หรือรับร้านยา จะมีการประเมินผลออกมา
“ข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้นยังไม่ได้มีการรวบรวมผลการประเมิน เป็นเสียงสะท้อน อย่างรพ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ไปพบแพทย์เช้า กลับออกมา 10.30 น. ใช้บริการส่งยาถึงบ้านไม่ต้องรอ เจ้าหนาที่ส่วนกลางขอพิกัดไม่เกิน 3 วัน ปรากฎว่า ตอนเย็นวันเดียวกันส่งยาถึงบ้านแล้ว ขอชมเชยเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างดี พูดจาดี มีรอยยิ้ม นอกจากนี้ ยังมีเสียงสะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่รับบริการในรพ.จังหวัดระนอง ก็มีการขอบคุณและชื่นชมการบริการ” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ดังนั้น เราพยายามวางเครื่องมือวัด ข้อกังวลเรื่องการใช้บริการเกินจำเป็นหรือบริการข้ามเขต ที่ก่อนหน้านี้มีสมมติฐานว่า ถ้ามีโครงการบัตรประชาชนใบเดียว จะมีการแห่ไปใช้บริการรพ.ระดับสูงมากขึ้น ซึ่งเบื้องต้นเพชรบุรีเพิ่มแค่ 5% ทั้งรพ.ชะอำ และรพ.พระจอมเกล้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่เรายอมรับได้ ไม่กระทบผู้ให้บริการ อีกทั้ง ตัวเลขนี้เป็นกลุ่มผู้ใช้บริการที่ย้ายถิ่นมาทำงานในจ.เพชรบุรี กล่าวคือ ย้ายถิ่นมาทำงาน อย่าง ชะอำประชากรแฝง 3 หมื่น พอมีเรื่องนี้เอาบัตรประชาชนมายืนยันตัวตนทำ Health ID รับบริการทีนั่นเลย
เมื่อถามว่าตั้งกรอบเวลาในการประเมินผลการลดระยะเวลารอคอยของคนไข้อย่างไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า จริงๆ ประมาณ 1 เดือนน่าจะทราบผล เราพยายามให้หน่วยบริการทำเป็นโครงการนำร่องดูเรื่องนี้
ถามถึงกรณีเฟสสองที่จะเริ่มในช่วง มี.ค.นี้ มีข้อกังวลหรือต้องเตรียมระบบอะไรเป็นพิเศษ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในวันที่ 2 ก.พ.นี้ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ 8 จังหวัด ทั้งผู้บริหารผู้ปฏิบัติการเตรียมความพร้อมร่วมกัน ในการวางระบบดูแลทั้งหมดในพื้นที่ตรงนั้น เมื่อพร้อมทั้ง 8 จังหวัดจะประกาศคิกออฟรอบสอง คาดว่า มี.ค.2567 น่าจะประกาศได้
ส่วนข้อกังวลมีอะไรบ้าง ในเรื่องเชิงระบบ ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ไม่มีข้อกังวล หรือการขึ้นทะเบียนทั้งผู้มาใช้บริการหรือผู้ให้บริการก็ไม่กังวล เพราะจากประสบการณ์ 4 จังหวัด เราได้เรียนรู้เรื่องความล่าช้ากรณีดูแลผู้ป่วยรายใหม่หรือย้ายถิ่นมาทำงานในจังหวัด อย่าง ชะอำ จ.เพชรบุรี กรณีย้ายมาทำงาน พอมาบริการครั้งแรก จะต้องยืนยันตัวตนก่อน โดยต้องนำบัตรประชาชนมาใส่ข้อมูลไว้ใน “หมอพร้อม” เพื่อทำข้อมูล Health ID มีการซักประวัติ เช่น ที่อยู่ปัจจุบันที่ไหนอย่างไร ตรงนี้อาจเสียเวลาบ้างช่วงแรก แต่เมื่อเรามีข้อมูลนี้ก็นำมาปรับปรุงให้ดีขึ้นในเฟสสอง เพื่อไม่ให้เป็นภาระผู้ป่วยมาก นอกจากนี้ เราให้ความสำคัญ Cyber Security ที่ต้องเฝ้าระวังตลอด อย่าง จ.ร้อยเอ็ดวันที่จะเปิดวันที่ 7 ม.ค. เราถูกโจมตีก่อนวันเปิด แต่ด้วยระบบที่เราวางป้องกันไว้อย่างน้อย 3 ชั้น จึงทำให้ป้องกันและแก้ปัญหาได้เร็ว ทำให้สามารถเปิดโครงการได้